เราทุกคนล้วนเปราะบาง: เข้าใจความเปราะบาง (ใหม่) ในเมืองใหญ่ยุคโรคระบาด

เขียน: ภาณุพันธ์ วีรวภูษิต ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC)

คนเปราะบางในเมืองใหญ่อาจเป็นเรื่องที่ใครหลายคนมองข้ามหรือคิดว่าไม่มีอยู่ และเป็นเรื่องไกลตัว เพราะชีวิตมนุษย์ออฟฟิศที่มีรายได้แน่นอน มีบ้านให้กลับไปพักผ่อนสบายใจ และสนุกไปกับสีสันของกรุงเทพฯ (พลางก่นด่าทางเท้าและรถติดบ้างเป็นรายวัน) ทำให้เราหลงลืมไปว่าในมหานครที่เราอาศัยอยู่ ยังมีกลุ่มคนเปราะบางจำนวนไม่น้อยที่ต้องอยู่อย่างไร้บ้าน หรือคิดไม่ออกว่าจะใช้ชีวิตให้ผ่านพ้นแต่ละวันไปได้อย่างไร

คนไร้บ้านที่นอนพักอยู่บริเวณสถานีรถไฟฟ้า MRT หัวลำโพง กรุงเทพมหานคร
(ที่มา: บ้านเมือง)

นิยามทั่วไประบุว่ากลุ่มประชากรเปราะบางคือกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ ผู้มีปัญหาด้านสิทธิสถานะ ผู้ไม่มีหลักประกันสุขภาพ เด็กในครัวเรือนยากจน ผู้สูงอายุ คนพิการ คนไร้ที่พึ่ง รวมไปถึงกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งตัวเลขประชากรเปราะบางในประเทศไทยมีมากถึง 14 ล้านคน (หรือเทียบอัตราส่วนว่าในประชากรทุกๆ 5 คน จะพบประชากรเปราะบาง 1 คน) ที่ล้วนรอการเยียวยาจากรัฐบาลในรูปแบบต่างๆ บวกกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ ก็ยิ่งฉายภาพความเปราะบางในเมืองใหญ่ให้ชัดเจนขึ้นไปอีก หนำซ้ำยังพลิกนิยามของกลุ่มประชากรเปราะบางให้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

วงสนทนาผ่าน Clubhouse ในหัวข้อ “The Fragile City EP.01: ใครบ้างคือคนเปราะบางในเมืองใหญ่” ที่แผนงานพัฒนาองค์ความรู้และประสานเครือข่ายเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะคนไร้บ้าน สสส. มาชวนศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) และภาคีเครือข่าย ร่วมแลกเปลี่ยนมิติใหม่ๆ จึงเกิดขึ้นเพื่อขยายมุมมองเรื่องคนเปราะบางในเมืองใหญ่ว่ามีประเด็นน่าสนใจมากมายที่ทุกคนควรรู้ และใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด

เพราะแท้จริงแล้ว เราทุกคนอาจกำลังเปราะบางโดยไม่รู้ตัว

“The Fragile City Clubhouse EP.01: ใครบ้างคือคนเปราะบางในเมืองใหญ่” คืองานเสวนากึ่งทางการโดยได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายที่ทำงานร่วมกับคนเปราะบางในเมือง (จัดขึ้นวันที่ 10 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา)

คนที่เมืองไม่เห็น

อนรรฆ พิทักษ์ธานิน ผู้จัดการแผนงานพัฒนาองค์ความรู้และประสานเครือข่ายฯคนไร้บ้าน สสส.เริ่มโยนคำถามแรกว่าใครบ้างที่เป็นคนเปราะบางในเมืองใหญ่? เพราะนอกจากกลุ่มคนที่เราคุ้นเคยกันอย่างคนไร้บ้านหรือคนยากไร้ เป็นไปได้ไหมว่าภายใต้กายภาพเมืองที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว มันก็กำลังหลบซ่อนคนเหล่านี้ไว้ในเงามืดเช่นกัน

อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ รองผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ยกตัวอย่างงานวิจัยเรื่อง Inclusive Cities โดยสำรวจพื้นที่สยามสแควร์ เขตปทุมวัน ย่านศูนย์การค้าใจกลางกรุงเทพฯ ที่ภายใต้ภาพความหรูหราทันสมัยในช่วงเวลากลางวันและหลังเลิกงาน ยังมีแรงงานภาคบริการอย่างแม่บ้าน พนักงานร้านอาหาร ที่เป็นพลวัตช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเมืองไปข้างหน้าใช้ชีวิตอยู่ด้วย แต่กายภาพเมืองและโครงสร้างสังคมที่เชิดชูแต่วัตถุและภาพลักษณ์สวยงาม กำลังผลักให้พวกเขากลายเป็นคนที่เมืองมองไม่เห็นด้วยหรือเปล่า 

ฉะนั้น ความเปราะบางจึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่รายได้หรือความไม่สมบูรณ์ของร่างกาย แต่ยังรวมถึงทุนทางสังคม การเมือง ไปจนถึงกระบวนการกลายเป็นเมือง (Urbanization) ที่กำลังยังยัดเยียดความเปราะบางให้คนกลุ่มหนึ่งโดยไม่รู้ตัว เช่น ชาวบ้านในชุมชนที่โดนรุกไล่ที่อยู่อาศัย หรือแม้แต่คนพิการ ผู้สุงอายุ ที่กายภาพเมืองไม่ได้ออกแบบมาให้พวกเขาใช้ชีวิตได้สะดวกสบาย คนเหล่านี้ล้วนเป็นกลุ่มที่เรามองข้ามไปไม่ได้หากจะวาดภาพเมืองที่ทุกคนเท่าเทียมกันและไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

วิกฤติใหม่ไม่เหมือนเดิม

หนึ่งในชุมชนแออัดที่เป็นภาพจำของคนเปราะบางในกรุงเทพฯ คงหนีไม่พ้นชุมชนคลองเตยที่มีคนอยู่อาศัยไม่ต่ำกว่าหนึ่งแสนคน

ศิริพร พรมวงศ์ จากกลุ่มคลองเตยดีจัง โครงการสร้างสรรค์เพื่อเด็กๆ ในชุมชน ผู้คลุกคลีกับพื้นที่คลองเตยมากว่า 9 ปี ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ของชุมชนในช่วงโควิด-19 ว่าได้เปลี่ยนนิยามของคนเปราะบางไปอย่างสิ้นเชิง เพราะไม่ใช่เด็ก ผู้สูงอายุ หรือคนยากไร้เท่านั้นที่ต้องการความช่วยเหลือ แต่กลายเป็นแรงงานภาคบริการ ลูกจ้างรายวัน คนวัยทำงานซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการแบกรับค่าใช้จ่ายให้ครอบครัวต่างหากที่กลายมาเป็นคนเปราะบางกลุ่มใหม่โดยไม่ทันตั้งตัวและไม่ตั้งใจ

อนรรฆเองที่ทำงานเรื่องคนไร้บ้านมาต่อเนื่องให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ช่วงโควิด-19 ทำให้แรงงานภาคบริการหลายคนต้องมาใช้ชีวิตเป็นคนไร้บ้านเช่นกัน โดยมีถึงร้อยละ 20-30 ที่เพิ่งเป็นคนไร้บ้านหน้าใหม่เพราะสูญเสียงาน สูญเสียรายได้ จนไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้านได้ในช่วงโควิด-19 พวกเขาเหล่านี้ไม่มีทุนในการใช้ชีวิตสำหรับความอัตคัดขัดสนในระยะยาว และไร้ประสบการณ์ในการเอาตัวรอดจากภาวะวิกฤต จึงกลายเป็นกลุ่มคนเปราะบางทั้งทางสุขภาพกาย สุขภาพใจ ที่ต้องการการสนับสนุนฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน

เมื่อทุกวันนี้ความเปราะบางเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ และประชากรเปราะบางไม่ได้มีแค่กลุ่มเดิมอีกต่อไป ถึงเวลาแล้วรึยังที่เราทุกคนควรตระหนักว่าเราอาจกลายเป็นคนเปราะบางเมื่อไหร่ก็ได้ และปัญหานี้ควรได้รับความสนใจจากรัฐบาลมากกว่านี้

เสียงที่เท่าเทียมกัน

นอกจากเมืองจะมองไม่เห็นกลุ่มคนเปราะบางบางกลุ่มแล้ว เมืองยังปิดปากพวกเขาไม่ให้พูดในสิ่งที่ต้องการเช่นกัน

เชียงใหม่ เมืองท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของไทยก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 หนักไม่น้อย เพราะแรงงานภาคบริการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างพนักงานโรงแรม พนักงานร้านอาหาร ไกด์ทัวร์ต่างก็สูญเสียรายได้ อีกทั้งองค์ความรู้เดิมที่มีก็ไม่สามารถใช้ได้ในปัจจุบัน โรคระบาดทำให้เสียงที่ไม่เคยถูกรัฐบาลได้ยินค่อยๆ ดังออกมา

ธีรมล บัวงาม จากสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ThaiPBS ผู้ทำงานด้านสื่อและใกล้ชิดกับเครือข่ายคนไร้บ้านเชียงใหม่ พยายามขับเคลื่อนเรื่องการส่งเสียงของคนเปราะบางรวมไปถึงประชากรแฝงในเชียงใหม่อย่างต่อเนื่อง เขาย้ำความสำคัญของการกระจายอำนาจที่ควรแยกขาดกันระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น เพราะโครงสร้างการทำงานที่ซ้อนทับกันคืออุปสรรคที่กันไม่ให้เสียงของคนเปราะบางตัวเล็กๆ ส่งไปถึงรัฐหรือผู้มีอำนาจว่าพวกเขาต้องการการเปลี่ยนแปลงอย่างไร

สิ่งที่ธีรมลกำลังทำให้เกิดขึ้นให้ได้ในเชียงใหม่คือการสร้างพื้นที่ทางสังคมที่เปิดให้ทุกคนมามีส่วนร่วมและเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อให้เสียงของทุกคน ไม่ใช่แค่ประชากรเปราะบาง มีความหมายส่งไปถึงภาครัฐอย่างเท่าเทียมกันมากพอ เขาเสนอว่าควรสร้างเมืองที่เต็มไปด้วยการสื่อสาร (Communicative City) เพื่อสะท้อนความต้องการของคนหลายกลุ่มที่มีความแตกต่าง ที่สำคัญคือคนเปราะบางต่างกลุ่มต่างพื้นที่ก็ต้องการความช่วยเหลือไม่เหมือนกัน ไม่ใช่แค่นโยบายแจกเงินที่มองพวกเขาอย่างเหมารวม

ความไม่แน่นอนคือความท้าทายใหม่

เมื่อเมืองในปัจจุบันและอนาคตจะเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและไม่มั่นคงเป็นองค์ประกอบหลัก การออกแบบเมืองและวางนโยบายเพื่อรับมือกับความเปราะบางใหม่ๆ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย

เด็กๆ ที่เคว้งคว้างกับระบบการศึกษาไทย บัณฑิตจบใหม่ที่มองไม่เห็นอนาคตการทำงาน แรงงานในและนอกระบบ คนต่างจังหวัดที่กลับบ้านไปและพบว่าพวกเขาไม่มีรากยึดโยงกับบ้านเกิดอีกแล้ว พวกเขาเหล่านี้ล้วนกำลังเผชิญหน้ากับความเปราะบางในความเข้มข้นที่แตกต่างกัน เป็นเรื่องเศร้าแต่จริงที่หลายคนอาจยังไม่ตระหนักว่าพวกเขาเข้าใกล้ความเปราะบางอยู่ในทุกวัน

ความหวังที่จะช่วยประสานให้รอยร้าวนี้แข็งแรงขึ้นอยู่ที่การร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และเครือข่ายประชาสังคมที่มีพลังในการรวมชุมชนให้เป็นกลุ่มก้อนและส่งเสียงออกมาได้ดังยิ่งขึ้น การกระจายอำนาจให้ภาคส่วนต่างๆ มีอำนาจในการบริหารจัดการและดูแลท้องถิ่นได้อย่างแท้จริงโดยไม่ต้องรอการอนุมัติจากคนที่สั่งนโยบายบนหอคอยงาช้างอีกต่อไป

เพราะพวกเขายังไม่รู้สึกถึงความเปราะบางของสังคมไทยแม้แต่น้อยเลย