คนไร้บ้านและการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19

ผู้เขียน: เนรัญธิญา สรรพประเสริฐ

ขณะนี้เป็นเวลาปีกว่าแล้วที่โลกของเราเผชิญวิกฤตโควิด-19 โรคระบาดที่ใหญ่ที่สุดในศตวรรษ บางประเทศกำลังอยู่ในสถานการณ์วิกฤต บางประเทศสามารถจัดการและรับมือกับไวรัสตัวนี้และสามารถเริ่มใช้ชีวิตได้ตามปกติ สะท้อนให้เห็นว่าโดยรวมแล้วสถานการณ์ต่าง ๆ กำลังดีขึ้น เนื่องจากโลกสามารถผลิตวัคซีนได้ รัฐบาลแทบทุกประเทศจึงได้เร่งจัดหาและวัคซีนฉีดให้ประชาชนทั่วไปเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไวรัส รวมทั้งลดอาการรุนแรงที่จะเกิดขึ้นหลังจากติดเชื้อ

เราได้ขยับจากการป้องกันโรคโดยการสวมแมสก์ มาสู่การฉีดวัคซีนที่จำเป็นต้องได้รับบริการโดยรัฐเพื่อรับประกันความปลอดภัยให้ประชาชน 

อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าตั้งคำถามว่า “แล้วประชาชนที่ได้รับวัคซีนเหล่านั้น นับรวมกลุ่มคนไร้บ้านเข้าไปด้วยหรือไม่..?”

สถานการณ์คนไร้บ้านและวัคซีนโควิด-19 

มองย้อนกลับไปเมื่อครั้งยังไม่มีโรคระบาดโควิด-19 คนไร้บ้านในกรุงเทพมหานคร รวมถึงเขตเมืองตามต่างจังหวัดยังมีอัตราการเข้าถึงระบบบริการทางสาธารณสุขน้อยมาก อาจจะเนื่องมาด้วยปัญหาของการไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อยืนยันตัวตนในการเข้ารับการรักษา หรือการเคลื่อนย้ายถิ่นไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่สิทธิ์การรักษาของตนอยู่ รวมถึงการมีทัศนคติในทางระบบกับระบบการรักษา

หรือแม้แต่เมื่อครั้งที่โควิด-19 ระบาดระลอกแรก คนทุกคนถูกบังคับไปโดยปริยายจากความร้ายแรงของสถานการณ์และกฎหมายว่า ‘ต้องสวมหน้ากากอนามัย’ เพื่อป้องกันตนเองจากการติดเชื้อ แต่คนไร้บ้านจะเข้าถึงหน้ากากอนามัยได้อย่างไร ในเมื่อคนไร้บ้านบางส่วนไม่มีรายได้รวมถึงหน้ากากอนามัยยังเป็นสินค้าที่ต้องใช้แล้วทิ้ง และต้องใช้เงินเพื่อซื้อมันในทุก ๆ วัน

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าแม้แต่หน้ากากอนามัย หรือเจลแอลกอฮอล์ คนไร้บ้านก็ยังเข้าถึงได้ยากยิ่ง และแม้คนไร้บ้านจะได้รับการช่วยเหลือและสงเคราะห์โดยภาคประชาสังคมและภาครัฐ แต่คนไร้บ้านยังกลุ่มคนที่ถูกละเลยทางสวัสดิการ (อย่างจริงจัง) เสมอมาในสายตาของรัฐอีกด้วย

กระนั้นแล้ว เมื่อถึงคราวของการฉีดวัคซีน คนไร้บ้านจึงไม่อาจถูกละเลยต่อไปได้อีก

คำถามต่อมาคือ แล้วคนไร้บ้านสำคัญอย่างไรในสถานการณ์เหล่านี้ จำเป็นมากน้อยแค่ไหนที่ต้องเร่งฉีดวัคซีนให้แก่คนไร้บ้าน? 

ประการแรก เราอาจตอบได้บนพื้นฐานของมนุษยธรรมอย่างง่ายว่า เพราะคนไร้บ้านก็คือ ‘คน’ และคนไร้บ้านก็ยังเป็น ‘ประชาชน’ ดังนั้นคนไร้บ้านจึงเป็นกลุ่มคนที่มีความสำคัญไม่แพ้กับคนอื่น ๆ ในสังคม อันจำเป็นต้องได้รับการเข้าถึงบริการเพื่อป้องกันโรคอย่างเร่งด่วนเช่นเดียวกัน

ประการถัดมา กลุ่มคนไร้บ้าน เป็นผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการของรัฐแม้แต่ในสถานการณ์ปกติ อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ทำให้พวกเขากลายเป็นกลุ่มคนที่อาจตกหล่นไปจากการรับรู้ของสังคมถึงความเป็นอยู่และการใช้ชีวิต รวมถึงความรู้ความเข้าใจต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 ผลที่เกิดขึ้นคือ คนไร้บ้านจะมีลักษณะเป็นกลุ่มเปราะบาง ไม่มีทรัพยากรมากพอที่จะเข้าถึงและได้รับความเป็นอยู่ที่ดีในระดับพื้นฐานแบบปัจจัยสี่ — อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยและยารักษาโรค — เสียด้วยซ้ำ บางคนมีโรคประจำตัวอยู่แล้วที่ไม่ได้รับการรักษา ทั้งยังถูกกดทับจากสังคมในระดับที่มากกว่าปกติ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทั้งร่างกายและจิตใจในฐานะมนุษย์ปุถุชน

ประการที่สาม การใช้ชีวิตของคนไร้บ้านไม่เอื้อให้พวกเขาสามารถทำหลักการป้องกันการติดต่อโรคได้ กล่าวคือ การติดเว้นระยะห่างทางสังคมยังเป็นไปได้ยาก เนื่องจากความเป็นอยู่ เพราะหากไม่อาศัยอยู่ตามถนน หรือพื้นที่สาธารณะ ก็จำเป็นต้องอยู่ในสถานพักพิง ซึ่งอาจแออัด รวมถึงการเข้าถึงสุขอนามัยที่ดี เช่น น้ำสะอาดเพื่อการล้างมือ เป็นต้น

บทความ Bringing covid-19 vaccines to high risk populations—like those who are homeless—requires a tailored approach[1] กล่าวว่า  ‘การไร้บ้าน’ ของคนไร้บ้านนั้น เพิ่มความเสี่ยงการติดต่อและการป่วยเป็นโควิด-19 ผู้คนที่มีเงื่อนไขการใช้ชีวิตในสถานที่พักพิง หรือการจัดตั้งที่พักชั่วคราว ทำให้การเว้นระยะห่างทางสังคม และการเข้าถึงสุขอนามัยเกิดขึ้นได้ยากยิ่ง นอกจากนั้นแล้ว คนไร้บ้านบางกลุ่มยังมีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น มะเร็ง โรคตับ หรือเบาหวาน ที่ไม่ได้รับการรักษาหรือเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขจากรัฐได้น้อย ยิ่งส่งผลให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น งานวิจัยยังเปิดเผยอีกว่าตัวเลขผู้ป่วยในสถานพักพิงสะท้อนให้เห็นการระบาดขนาดใหญ่[2] พร้อม ๆ กับที่เคสผู้เสียชีวิต[3] ที่มีจำนวนแปรผันตามกันไปด้วย

การเร่งฉีดวัคซีน หรือจัดให้กลุ่มคนไร้บ้านอยู่ในกลุ่มที่ควรได้รับการฉีดวัคซีน จึงเป็นเรื่องที่ควรทำและให้ความสำคัญด้วย

อย่างไรก็ดี ประเทศอื่น ๆ ได้ดำเนินการฉีดวัคซีนสำหรับประชาชนในประเทศของตนเองตั้งแต่ปลายปี 2020 รวมถึงคนไร้บ้านแล้ว

เริ่มที่ประเทศเยอรมนี[4] ประชาชนได้ทยอยรับวัคซีนเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2020 โดยจัดลำดับความสำคัญให้กลุ่มคนไร้บ้านที่อยู่ในที่พักพิง เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญลำดับสูง (Higher Priority) ซึ่งจะได้ฉีดวัคซีนรองจากกลุ่มสำคัญที่สุด (Highest Priority) ที่เป็น กลุ่มผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไปและบุคลากรทางการแพทย์ที่ใกล้ชิดผู้ป่วยโควิด-19 โดยกลุ่มที่มีความสำคัญระดับสูงนี้ คนไร้บ้านถูกรวมอยู่เป็นกลุ่มดียวกันกับกลุ่มเปราะบางอื่น ๆ เช่นกลุ่มผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม ผู้ป่วยดาวน์ซินโดรม และบุคลากรทางการแพทย์อีกด้วย

สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกา สำนักข่าว AP[5] เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศสหรัฐอเมริกาได้เร่งดำเนินการฉีดวัคซีนแก่คนไร้บ้านแล้ว บนพื้นฐานของหลักการของการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าว และยังใช้วัคซีนคุณภาพสำหรับคนไร้บ้าน อีกด้วย โดยเฉพาะเมืองซีแอทเทิล ซึ่งเป็นเมืองที่มีกลุ่มคนไร้บ้านมากที่สุดเป็นอันดับสามของสหรัฐอเมริกา ได้ตรวจพบว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งสิ้น 1,400 คน เสียชีวิต 22 คน เกิดการระบาดในสถานพักพิงกว่า 100 แห่งในเมือง

นอกจากนั้น บ๊อบบี้ วัตตส์ CEO ของ National Health Care for the Homeless Council กล่าวเสริมว่า คนไร้บ้านมีความเสี่ยงของการติดเชื้อที่สูงกว่า รวมถึงมีความเสี่ยงของการติดเชื้อที่รุนแรงและเสียชีวิตมากกว่าคนโดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนไร้บ้านเรื้อรัง (chronic homelessness)

ขณะที่ประเทศอังกฤษ รัฐบาลของเวลส์[6]ได้เปิดเผยยุทธศาสตร์ระดับชาติเมื่อเดือนมกราคม 2021 ที่ผ่านมาว่า จะเร่งการฉีดวัคซีนโดยเร็วและปลอดภัยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยมีการจัดลำดับความสำคัญตามข้อมูลของปัจเจกบุคคลที่รัฐมี เพื่อป้องกันการอัตราการเข้าโรงพยาบาลและอัตราการตาย ดังนั้นในกลุ่มคนไร้บ้านซึ่งได้รับโอกาสทางสังคมน้อย ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อร่างกายและจิตใจที่มากขึ้นอย่างสวนทางกัน สะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงด้านสุขภาพของคนไร้บ้านที่รัฐบาลเวลซ์ไม่อาจนิ่งนอนใจ จึงจัดให้กลุ่มคนไร้บ้านอยู่ใน ‘Priority group 4 or 6’ ที่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป กลุ่มคนเปราะบางอื่น ๆ และกลุ่มที่มีการป่วย[7]

ทั้งนี้ รัฐบาลเวลส์ ยังมีรู้สึกกังวลอย่างมีนัยยะสำคัญต่อกลุ่มคนไร้บ้าน เรื่องการตกหล่นจากระบบสวัสดิการสุขภาพขั้นพื้นฐาน และการความรู้ความเข้าใจต่อโรคและวัคซีน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ใช้ชีวิตอยู่บนท้องถนนและพื้นที่สาธารณะ รัฐบาลจึงยิ่งต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นต่อกลุ่มดังกล่าวต่อไปอีกด้วย

‘ทั่วถึง’ คำสำคัญที่ไม่อาจละเลย

โควิด-19 ไม่ได้เป็นเพียงสถานการณ์วิกฤตที่ต้องแก้ไข แต่อย่าลืมว่าไวรัสตัวนี้ยังเป็นสาเหตุของผลกระทบเศรษฐกิจที่อาจทำให้มีคนตกงานหรือถูกเลิกจ้างเพิ่มขึ้น และท้ายที่สุดคนเหล่านี้บางส่วนอาจกลายเป็นกลุ่มคนไร้บ้านที่ต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างเร่งด่วน

อย่างไรก็ดี เราไม่ได้กล่าวว่า คนไร้บ้านจะเป็นกลุ่มที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้แต่อย่างใด หากแต่พวกเขาคือกลุ่มคนที่ได้รับโอกาสจากสังคมน้อยที่สุด อันแปรผกผันกับการถูกกดทับจากสังคมทั้งร่างกายและจิตใจ ทั้งยังไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการได้อย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งปัจจุบัน ภาครัฐยังคงเน้นไปที่การช่วยเหลือหรือให้การสงเคราะห์เสียมากกว่า

การแก้ปัญหาด้วยการแจกอาหาร แจกหน้ากากอนามัย หรือเจลล้างมือ อาจเป็นการแก้ปัญหาได้ในระยะสั้น ๆ เท่านั้น สิ่งที่รัฐต้องเร่งทำต่อ ปรับมุมมองให้คนไร้บ้านต้องรับสวัสดิการเหมือนกลุ่มคนอื่น ๆ คือการจัดให้คนไร้บ้านได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึงและจัดลำดับให้เป็นความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากลุ่มใด อันจะเป็นการป้องกันและแก้ปัญหาได้ในระยะยาวสำหรับประเทศในสถานการณ์โรคระบาดนี้ ไม่เพียงแต่เพื่อกลุ่มคนไร้บ้านเอง แต่ยังเพื่อคนอื่น ๆ ในสังคมอีกด้วย

การฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง จะเป็นพิสูจน์ให้เห็นว่า ‘รัฐ’ ได้ทำใครตกหล่น หรือทิ้งใครไว้ข้างหลังหรือไม่


ที่มา:

  1. Bringing covid-19 vaccines to high risk populations—like those who are homeless—requires a tailored approach – The BMJ Opinion
  2. Assessment of SARS-CoV-2 Infection Prevalence in Homeless Shelters — Four U.S. Cities, March 27–April 15, 2020 – Center for Disease Control and Prevention (USA Government)
  3. Elevated mortality among people experiencing homelessness with COVID-19
  4. EXPLAINED: How Germany will roll out Covid-19 vaccinations after Christmas – The Local (Germany)
  5. Homeless Americans finally getting a chance at COVID-19 shot – AP
  6. COVID-19 vaccinations for people who are homeless – The Wales Government
  7. COVID-19 vaccination first phase priority groups – The UK Government