คนไร้บ้านเชียงใหม่ เดอะซีรีส์ (5) คุยกับ ‘เอ็น’ ถึงประสบการณ์ และความท้าท้ายในการทำงานกับคนไร้บ้าน

ในวันที่คนไร้บ้านเชียงใหม่รวมกลุ่มกันมาได้เกือบ 10 ปี ความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมสำหรับการขับเคลื่อนของพวกเขา คือ การเกิดขึ้นศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้านจังหวัดเชียงใหม่ ในระยะเวลากว่าหนึ่งทศวรรษ ประสบการณ์ของเอ็นก็ยิ่งควรค่าแก่การกล่าวถึง

นันทชาติ หนูศรีแก้ว หรือ “เอ็น” อาจจะไม่ใช่บุคคลที่เป็นรู้จักของสังคมโดยทั่วไป แต่ในหมู่คนไร้บ้าน และแวดวงนักเคลื่อนไหว เขาเป็นที่รู้จักอย่างดี โดยเฉพาะกลุ่มคนไร้บ้านเชียงใหม่ เพราะเขาเป็นคนทำงานขับเคลื่อนประเด็นคนไร้บ้านมาโดยตลอด เป็นพี่เลี้ยง สนับสนุน ให้กำลังใจกลุ่มคนไร้บ้านเชียงใหม่เสมอมา

ประสบการณ์การทำงานกับคนไร้บ้านของเขานับได้ว่าผ่านมาอย่างโชกโชน เจอคนไร้บ้านมาหลากหลายรูปแบบ หากประสบการณ์ของนักวิชาการในการลงไปคลุกคลีกับคนไร้บ้านสร้างคุณูปการมากเพียงใด ประสบการณ์การลงพื้นที่ทำงานกับคนไร้บ้านของเอ็นก็มีค่าความสำคัญมากฉันนั้น แม้ว่าปลายทางของการลงไปสัมผัสกับคนไร้บ้านจะต่างกันก็ตาม

ในวันที่คนไร้บ้านเชียงใหม่รวมกลุ่มกันมาได้เกือบ 10 ปี ความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมสำหรับการขับเคลื่อนของพวกเขา คือ การเกิดขึ้นศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้านจังหวัดเชียงใหม่ ในระยะเวลากว่าหนึ่งทศวรรษ ประสบการณ์ของเอ็นก็ยิ่งควรค่าแก่การกล่าวถึง
และนี่คือบทสนทนาระหว่าง “เรา” กับ “เขา”……

นันทชาติ หนูศรีแก้ว หรือ “เอ็น”

หลังจากทำงานกับคนไร้บ้านมานาน จนวันนี้ได้ที่ดินและศูนย์พักพิงคนไร้บ้านมา รู้สึกอย่างไรบ้าง เรามาไกลแค่ไหน

เชียงใหม่เราเริ่มรวมกลุ่มกันปี 51 ตอนนี้ก็ 9 ปีแล้ว เข้าสู่ปีที่ 10 ช่วงแรกเราก็หวังว่าที่อยู่อาศัยจะเป็นที่ตั้งหลัก พอได้ศูนย์ฯมา ส่วนตัวก็ดีใจมาก เพราะที่ลงแรงไป ถือว่าออกดอกออกผลแล้ว เมื่อเช้าก็คิดถึงพี่น้องที่ร่วมต่อสู้กันมา แต่เสียชีวิตไปก่อน
ตอนแรกที่เรารวมตัวกัน เพราะหวังว่าภาครัฐจะเข้ามาแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย ทำให้เขาสามารถตั้งหลัก เพื่อจะได้มีชีวิตที่ดีขึ้น ทำงานกันมาอย่างนาน เหนื่อย และผ่านอะไรมาเยอะ ในระหว่างนั้นหลายคนก็เสียชีวิต ผมคิดถึงคนกลุ่มนั้นแหละ คนที่ร่วมเคลื่อนไหวกันมา เสียดายที่เขาไม่มีโอกาสได้เห็นวันนี้ คือตอนนั้นมันเป็นแค่ภาพฝัน หลายคนไม่เชื่อ หลายคนไม่คิดว่าจะมีจริง แต่ตอนนี้มันเป็นจริงแล้ว แม้ยังไม่สมบูรณ์แบบ แต่ว่ามาไกลแล้ว เรามีที่ดิน มีที่อยู่อาศัย

ในอนาคตก็มีอะไรที่ต้องทำอีกเยอะ เพราะเราเพิ่งเข้าถึงด้านที่อยู่อาศัย แต่ยังมีสิทธิอีกมากที่คนไร้บ้านยังเข้าไม่ถึง โดยเฉพาะสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรจะได้จากภาครัฐ เช่น การเข้าถึงการรักษาพยาบาล เบี้ยผู้สูงอายุ คนพิการ ซึ่งเราต้องทำงานอีกเยอะ
เรื่องสำคัญที่สุดหลังได้ที่อยู่อาศัยแล้ว คือ ทำอย่างไรให้พี่น้องคนไร้บ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้ที่มั่นคง เป็นงานที่ไม่ง่าย เหนื่อยอยู่

หลายคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ รวมถึงพม.เองชมถึงการรวมกลุ่มของคนไร้บ้านเชียงใหม่ เพราะไม่ใช่ว่าจะทำได้ง่ายๆ การทำให้เขารู้สึกเหมือนเป็นเจ้าของ มาร่วมทำกิจกรรม อยากให้ช่วยเล่าให้ฟังว่า เราเข้าไปทำงานร่วมกับพวกเขาอย่างไร
อันที่จริงก็ไม่ได้ยาก เวลาคิดอาจจะดูเหมือนยาก เราอาจจะรู้สึกว่าคนกลุ่มนี้ดูจะห่างไกลจากพวกเรามาก เพียงแค่เราเริ่มจากการเปลี่ยนมุมมองว่า เขาก็แค่คนธรรมดาคนหนึ่ง เราก็เหมือนกับทำงานกับคนธรรมดาทั่วไป แต่อาจจะดอกจันไว้หน่อยว่า เขาอาจจะเป็นที่ประสบปัญหาเยอะกว่าคนทั่วไป อาจจะต้องใช้เวลา ใช้ความใจเย็น ให้เวลา ให้โอกาสมากกว่าคนทั่วไป สำหรับพี่กระบวนการทำงานก็ปกติ

 

เริ่มจากการเปลี่ยนมุมมอง แค่นั้น?

ใช่ อันนี้พี่ว่าสำคัญ ส่วนใหญ่เวลาเรามองคนไร้บ้าน เราจะมองว่าเขาห่างจากเรา โดยเฉพาะคนในสังคมทั่วไป คนในสลัมก็จะมองเขาใกล้เข้ามาอีกนิด แต่ก็ยังห่างอยู่หน่อย ถ้าเรามองเขาเป็นคนเหมือนเรา เราจะเริ่มทำงานกับเขาได้ง่าย

 

อะไรคือความยาก

เขาคือคนที่เผชิญปัญหา ทุกปัญหาจะมารวมอยู่ที่เขา ความคุ้นชินของพี่น้องไร้บ้านจะไม่เหมือนคนอื่น กว่าเขาจะมาใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่สาธารณะ เขาผ่านอะไรมาเยอะมาก เขาถือว่าเป็นคนจนที่สุดในเมือง ไม่มีคนกลุ่มไหนที่จะประสบปัญหาเท่ากับคนกลุ่มนี้แล้ว ฉะนั้น คนที่สามารถนอนในที่สาธารณะได้ กินอย่างไรก็ได้ อดมื้อกินมื้อ บางวันไม่มีกิน หลายคนอยู่ในสภาพนี้มานานนับ 10-20 ปี ความหวังที่เรานำไปพูดคุย มันก่อให้เกิดคำถามแก่เขาว่า “มันจะมีจริงเหรอ” คือ ความหวังมันถูกปิดตายไปหมด “อันนี้ไม่มีหรอก” “อันนั้นไม่มีหรอก” บางคนครึ่งชีวิตเขาไม่เคยเห็นสิ่งเหล่านี้ ไม่เคยเห็นว่ามีหน่วยงานช่วยเหลือ ไม่เคยเห็นว่ามีคนทั่วไปเข้ามาช่วยเหลือ สิ่งที่เขาเจอคือ ได้รับการสงเคราะห์จากผู้ใจบุญเป็นครั้งคราว บางคนเจอหนักกว่านั้น โดนกระทำจากภาครัฐ และสังคมทั่วไปที่ยังไม่เข้าใจ ทั้งดูถูก เหยียดหยาม ดูแคลน

คนเรามาถึงจุดต่ำสุดของชีวิต อันนี้คือ ความยาก คนที่อยู่สภาพนี้มาเป็นสิบปี หรือที่เราเรียกว่า “คนไร้บ้านถาวร” จากชีวิตปกติธรรมดาไปสู่สภาวะง่ายๆ อะไรก็ได้ นอนตรงไหนก็ได้ กินอย่างไรก็ได้ ถ้าเราจะชวนเขามาพัฒนา มันยากมาก ไม่นับรวมคนที่ต้องเจอปัญหาจนกลายเป็นโรคติดสุราเรื้อรัง มีโรคประจำตัว โรคร้ายแรง คนเราพอไม่มีความหวัง จะไปกระตุ้นให้เขาพัฒนาตัวเอง มันยากมาก แต่ถ้าคนมีความหวัง ผมเชื่อว่าเราสามารถพัฒนาตัวเองได้ ทุกคนจะอยากมีโอกาส มีชีวิตที่ดีขึ้น ณ วันนี้ ต้องอยู่ที่ตัวพี่น้องคนไร้บ้านว่าจะใช้โอกาสนี้ ขยับและพัฒนาคุณภาพชีวิตตัวเองอย่างไร

 

เมื่อมันมีความยากอย่างที่ว่ามา อะไรที่คิดว่าล้มเหลว หรือยังไปไม่ถึงบ้าง

กลับไปอย่างที่ว่ามา พี่น้องคนไร้บ้านที่อยู่ในที่สาธารณะมานาน เขาไม่มีความหวัง ชีวิตหมดความเชื่อว่า สิ่งนี้จะมีจริง สิ่งนั้นจะมีจริง พอมันเป็นความยากของงานเรา คือ การไปทำให้เขามีความหวัง ความเชื่อ อย่างเช่นงานวันนี้(งานยกเสาเอกศูนย์พัฒนาและฟื้นฟูคนไร้บ้านเชียงใหม่) คนไร้บ้านบางส่วนไม่กล้ามา พอเห็นหน่วยงานรัฐเยอะๆ ก็กลัวไม่มา บางส่วนก็ไม่เชื่อ ไม่สนใจ ในขณะที่บางคนดีใจว่าเราจะมีที่อยู่อาศัยก็จะตื่นเต้น เช่น พี่น้องคนไร้บ้านที่ขับเคลื่อนกับเรามาอย่างยาวนานก็จะตื่นเต้นดีใจ ว่าจะมีที่มีบ้านเป็นของตัวเอง พวกเขาสามารถบริหารจัดการดูแลกันเอง
เราต้องไปทำให้เขามีความหวัง ความเชื่อมั่นในตัวเอง และเขาจะลุกขึ้นมาพัฒนาตนเอง

 

การมีศูนย์ฯคนไร้บ้านจะช่วยให้เราทำงานกับคนไร้บ้านได้ดีขึ้นอย่างไรบ้าง ตอบโจทย์ความยากตรงนี้ไหมครับ
การมีศูนย์ฯเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น เพื่อให้เขาฟื้นความเชื่อมั่นในตนเอง ฟื้นความหวัง เพราะจากชีวิตคนไร้บ้านจะกลับมาสู่การมีบ้านมีหลายองค์ประกอบ ทั้งเรื่องอาชีพ การเข้าถึงสิทธิ การมีศูนย์เป็นเหมือนหลังพิง อย่างน้อยๆ เขามั่นใจได้ว่าเขามีที่อยู่ เขาก็จะขยับไปสู่เรื่องอื่นได้

 

แล้ววางแผนจะซื้อใจ หรือสร้างความหวัง ความเชื่อใจอย่างไรครับ
เราจะใช้เงื่อนไขของศูนย์ฯแห่งใหม่ คือศูนย์อันเก่าองค์ประกอบเยอะ เพราะเราเช่าที่ดิน เช่าตึก เช่าอาคาร ที่ดินเราไม่มั่นคง พอเช่าได้สองสามปีก็ถูกย้ายอีก ไม่มั่นคง ที่ก็แคบ ทำอะไรได้ไม่มากนัก พอได้ที่ดินแปลงนี้มา(ขนาด 330 ตร.ว.)ก็จะเป็นบทพิสูจน์การทำงานได้ เพราะถ้าองค์ประกอบทุกอย่างเอื้อพี่น้องคนไร้บ้าน โอกาสมาแล้ว เราก็จะเห็นได้ชัดเจนว่า พวกเขาสามารถขยับไปได้ไกลแค่ไหน

 

จากนี้วางแผนทำอะไรต่อไปในอนาคตครับ
สิ่งที่เราจะทำ คือ ทำอย่างไรให้พี่น้องเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน มีระบบสวัสดิการ แล้วมีรายได้ที่มั่นคง ถ้าทำสิ่งนี้ได้ ก็จะถึงสิ่งที่เราหวังเอาไว้ ในช่วงชีวิตหนึ่งของคนถ้าเข้าถึงองค์ประกอบเหล่านี้ก็ถือว่าตั้งหลักได้ ความหวังที่มากกว่านั้น คือ พี่น้องกลุ่มแรกที่ร่วมขับเคลื่อนมาด้วยกันจะเป็นกลไกขับเคลื่อน ขยายไปสู่พี่น้องกลุ่มอื่นๆ ช่วยเหลือคนไร้บ้านอื่นๆ ในอนาคต

 

 


อ่านคนไร้บ้านเชียงใหม่ เดอะซีรีส์

คนไร้บ้านเชียงใหม่ เดอะซีรีส์ (4) เสียงอวยพรจากมิตร กับย่างก้าวสำคัญของกลุ่มคนไร้บ้านเชียงใหม่

คนไร้บ้านเชียงใหม่ เดอะซีรีส์ (3) ความรู้สึกของป้าอ้วน หลังมี “บ้าน” แห่งใหม่

คนไร้บ้านเชียงใหม่ เดอะซีรีส์ (2) “ โต้ง จากคนไร้บ้านสู่คนทำงานพัฒนา”

คนไร้บ้านเชียงใหม่ เดอะซีรีส์: เปิดตัวน้ำยาอีเอ็ม -ผักอินทรีย์ ฝีมือคนไร้บ้านเชียงใหม่