เปิดรายงานเสนอยูเอ็น “การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ล้นเกินทั่วโลก บ้านถูกทิ้งร้าง และคนไร้บ้าน”

เอ็นจีโอแคนาดาเสนอรายงานด้านที่อยู่อาศัยต่อองค์การสหประชาชาติประเด็นการลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลกในลักษณะสินค้าเก็งกำไรในตลาดหุ้นก่อให้ผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนต่อสังคม โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีสภาวการณ์ขาดแคลนที่อยู่อาศัย

บ้านจำนวน 82,000 ยูนิต ที่ถูกครอบครองโดยนักลงทุนล้วนแล้วแต่ปราศจากผู้อยู่อาศัยจริงๆ

Leilani Farha ผู้ตรวจการพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านการเคหะและสิทธิมนุษยชน ชาวแคนนาดา นำเสนอรายงาน “การมีที่อยู่อาศัยอย่างเพียงพอเป็นส่วนหนึ่งการมีสิทธิฯ”  ซึ่งเธอได้นำเสนอต่อยูเอ็นเมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา โดยประเด็นสำคัญของรายงานชิ้นนี้แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงด้านการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ของทุนทั่วโลกในลักษณะสินค้าเก็งกำไร โดยเฉพาะการนำเข้าไปซื้อขายในตลาดหุ้น( ตราสารหุ้น ตลาดอนุพันธ์ ฯลฯ)เพื่อเพิ่มมูลค่าการลงทุน ก่อให้เกิดบ้านว่าง(เหลือขาย) ในพื้นที่ขาดแคลนที่อยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก

“ร้านค้า และร้านอาหารกำลังจะปิดตัวลง ความมีชีวิตชีวาหายไปทันที”เธอให้สัมภาษณ์

เธอเสนอให้รัฐบาลทั่วโลกจัดความสัมพันธ์ระหว่างนักลงทุนเอกชนกับสถานบันการเงินระหว่างประเทศใหม่ รวมถึงปฏิรูประเบียบตลาดการเงินให้สามารถเรียกคืนบ้านว่างแก่สังคมได้

รายงานขนาด 22 หน้าเสนออีกว่า การเติบโตของ “บ้านที่ไม่คำนึงถึงความเป็นมนุษย์”(“dehumanised housing”) ถูกทิ้งร้างว่างเปล่าเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะบ้านสร้างเพื่อขายในราคาสูงมากกว่าการใช้ประโยชน์ทางสังคม ตัวอย่างเช่นในเมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย บ้านจำนวน 82,000 ยูนิต ที่ถูกครอบครองโดยนักลงทุนล้วนแล้วแต่ปราศจากผู้อยู่อาศัยจริงๆ  หรือสถานที่ที่ดีที่สุดอย่างเมืองเชลซีและเคนซิงตันของลอนดอนซึ่งเป็นสถานที่อยู่อาศัยของคนร่ำรวย ในปี 2013 และ 2014 จำนวนของอสังหาริมทรัพย์ว่างเพิ่มขึ้นร้อยละ 40

มูลค่าบ้านในบางตลาดไม่ได้วางอยู่บนพื้นฐานการใช้งานของสังคม คุณสมบัติของบ้านถูกตีมูลค่าอย่างเท่าเทียมไม่ว่าบ้านนั้นจะถูกครอบครองหรือว่าว่างอยู่ ดังนั้นจึงไม่มีแรงกดดันว่าบ้านนั้นจะต้องมีคนอยู่ พวกเขาจึงสามารถสร้างบ้านว่างและคอยเก็บเกี่ยวมูลค่า ในขณะเดียวกันปัญหาคนไร้บ้านยังคงอยู่

นักลงทุนคำนึงถึงค่าเฉลี่ยรายได้ของคนท้องถิ่นและลักษณะบ้านที่พวกเขาต้องการเข้าไปอยู่อาศัยน้อยมาก พวกเขาดูแค่การตอบสนองการเก็งกำไรของตลาด มันจึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงราคาที่อยู่อาศัยจากบ้านที่สามารถเข้าถึงได้กลายเป็นบ้านหรูหราอันว่างเปล่า เพราะเป็นวิธีที่ดีสุดในการทำกำไรอย่างรวดเร็ว

ตัวอย่างเช่น เมืองเคนซิงตันและเชลซี ซึ่งเป็นทำเลของการสร้างบ้านหรู แต่ยังคงมีจำนวนตัวเลขคนอาศัยที่พักชั่วคราว(เช่น เช่าบ้าน หอพัก -ผู้แปล) สูงเป็นอันดับสี่ของสหราชอาณาจักร รวมถึงอัตราการย้ายออกสูงด้วย(หมายความว่าเมื่อคนกลายเป็นคนไร้บ้านก็ย้ายออกจากเขตนี้ไป)

ในรายงานของฟาร์ฮายังระบุอีกว่า ราคาบ้านที่เพิ่มสูงขึ้นกลายเป็นปัจจัยสำคัญของความเหลื่อมล้ำ คนที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ดินในพื้นที่ที่ดีที่สุดของเมืองเป็นคนร่ำรวย ในขณะที่ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยกลายเป็นคนจน จากการสำรวจบุคคลที่มีรายได้สูงพบว่า เกินร้อยละ 50 ลงทุนด้านที่อยู่อาศัยเพิ่มเติม โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า ซื้อเพื่อขายต่อ,เป็นการลงทุนไม่เสี่ยงมาก และเพื่อทำให้ร่ำรวยขึ้น ฉะนั้นการอธิบายเศรษฐศาสตร์ความไม่เท่าเทียมอาจอธิบายได้อีกว่าเกิดจากการลงทุนด้านที่อยู่อาศัย

ฟาร์ฮายังชี้ให้เห็นอีกว่า ผลกระทบจากการลงทุนภาคเอกชนยังก่อให้เกิดการแบ่งแยกพื้นที่และเกิดความไม่เท่าเทียมในเมือง กรณีแอฟริกาใต้ การลงทุนภาคเอกชนในเมืองทำให้เกิดพื้นที่แบ่งแยกสีผิวไปโดยปริยาย คนผิวขาวส่วนใหญ่จะครอบครองพื้นที่ใกล้ศูนย์กลางของเมือง และคนยากจนซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนผิวดำอาศัยอยู่บริเวณชานเมือง นี่คือ พื้นที่ที่ไม่ “ลงตัว” อย่างมาก เพราะเบียดขับกลุ่มคนจนผิวดำไปในพื้นที่ที่มีการจ้างงานน้อย ทำให้เกิดวัฏจักรยากจนอยู่อย่างนั้น และแช่แข็งความไม่เท่าเทียม

เราจะพบรูปแบบการแบ่งแยกและเบียดขับกลุ่มคนผิวสีออกจากพื้นที่ศูนย์กลางของเมืองได้ทั่วไป โดยเฉพาะเมืองใหญ่ๆ ในอเมริกา

และการแบ่งแยกพื้นที่ดังกล่าวยังก่อให้เกิดการแบ่งแยกทางเพศอีกด้วย เช่น ในออสเตรเลีย ผลการวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่า ค่าเฉลี่ยรายได้ของแรงงานหญิงโสดสามารถอาศัยอยู่แค่ชานเมืองเมลเบิร์นเท่านั้น ไม่สามารถอาศัยอยู่ในซิดนีย์ได้เลย

รายงานของฟาร์ฮายังเรียกร้องให้รัฐบาลแต่ละประเทศจัดสรรที่อยู่อาศัยแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและการถูกเลิกจ้าง แต่หลายประเทศยังคงตัดงบประมาณ รัดเข็มขัดเพื่อรักษาความสมดุลทางนโยบายการเงินตามคำแนะนำของสถานบันการเงินผู้จัดอันดับความน่าเชื่อ  ผลสรุปคือ พวกเขาเห็นชอบที่จะตัดงบประมาณสนับสนุนด้านการเคหะ แล้วแปรรูปบ้านพักของสังคมให้เอกชนดูแล และขายอสังหาริมทรัพย์ให้กับกองทุนหุ้นเอกชน

ในรายงานยังตั้งคำถามอีกว่า รัฐบาลหลายประเทศอะลุ่มอล่วยกับตลาดมากเกินไป ไม่เข้ามาควบคุม ทำให้ล้มเหลวต่อการปกป้องสิทธิการมีที่อยู่อาศัยอย่างเหมาะสม เงินภาษีอุดหนุน*สำหรับการมีบ้านเป็นของตนเอง การงดเว้นภาษีแก่นักลงทุน และการอุ้มอุดหนุนสถาบันทางการเงิน กระตุ้นให้เกิดภาวการณ์เก็งกำไรที่อยู่อาศัย(Financialisation of housing)**

ฟาร์ฮาสรุปว่า กฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับการจดจำนอง หนี้สิน และที่อยู่อาศัยควรถูกตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่าสิทธิการมีที่อยู่อาศัยอย่างเหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงมีพันธกิจในการปกป้องการขับไล่คนไร้บ้าน

 

 

*ภาษีอุดหนุน เป็นเงินอุดหนุนที่จ่ายผ่านระบบภาษีให้แก่อุตสาหกรรมบางประเภทในรูปของการให้สิทธิพิเศษทางภาษี เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้แก่กิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากรัฐ…..

** Financialisation คือ ภาวะเศรษฐกิจที่ภาคการเงินภาคเก็งกำไรเติบโตเป็นสัดส่วนที่มากขึ้นเรื่อยๆเมื่อเทียบกับเรียลเซคเตอร์ กล่าวคือ คือเงินไปอยู่ในเซคเตอร์ของการเก็งกำไร เล่นแร่แปรธาตุทางการเงินมากกว่าที่จะไปอยู่ในภาคการผลิตจริง

 


เขียนโดย  Dawn Foster

ที่มา : The guardian