คนไร้บ้านไม่ใช่ไร้แค่บ้าน แต่ไร้บัตรประชาชน เมื่อไม่มีตัวตนจึงเข้าไม่ถึงสิทธิและสวัสดิการ

.

“คนไทยไร้สิทธิเหมือนสายลม รู้สึกว่ามี แต่เราไม่เห็น ไม่รู้ว่าเป็นใคร ถ้าไม่เจ็บป่วย ไม่จำเป็นเขาจะไม่แสดงตัว อยู่เงียบ ๆ จะปลอดภัย เรารู้สึกว่าสถานการณ์เหมือนบังคับให้เขาไม่ใช่คน”

สถานะของคนไทยไร้สิทธิตามทัศนะของ ‘หน่อย-วรรณา แก้วชาติ’ เจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) ที่ได้เธอได้กล่าวไว้ภายในงาน “การดำเนินงานพัฒนาการเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพของคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน” วันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 

‘คนไทยไร้สิทธิ’ หมายถึง เป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย แต่ยังไม่ได้รับการกำหนดสถานะบุคคลที่ถูกต้องทำให้ไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานและสิทธิพลเมือง เนื่องจากไม่มีชื่อในระบบทะเบียนราษฎรที่ถูกต้อง หรือได้รับการจัดทำทะเบียนราษฎรแล้วไม่ถูกต้อง หรือเป็นคนไทยที่อยู่ระหว่างการเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎร

คนไร้บ้าน คือ อีกหนึ่งในกลุ่มเปราะบางที่ยากจะเอื้อมถึงสวัสดิการของสังคม พวกเขาใช้ชีวิตท่ามกลางความเหลื่อมล้ำโดยที่ไม่มีใครมองเห็น ยิ่งถ้าเป็นคนไร้บ้านที่เป็นคนไร้สิทธิด้วย นั่นหมายความว่าพวกเขาแทบจะไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการ และไม่มีตัวตนในสังคมได้เลย 

.

.

ทั้งภาวะไร้บ้านและภาวะไร้สิทธิ เป็นสองเหตุการณ์ที่ฉุดรั้งไม่ให้คนๆ หนึ่งไม่สามารถเข้าถึงโอกาสได้ เพราะถ้าหากไร้บ้านก็เสี่ยงที่จะไร้สิทธิในอนาคต เนื่องจากไม่มีที่อยู่อาศัยในการประกอบข้อมูลการทำบัตร หรือถ้าหากเป็นคนไร้สิทธิก็เสี่ยงที่จะไร้บ้านได้ เพราะไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการจนถูกละเลย

ข้อมูลจากการสำรวจเชิงลึกคนไร้บ้าน พ.ศ.2566 โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, สถาบันเอเชียศึกษา, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรุงเทพมหานคร, มูลนิธิกระจกเงา, สำนักงานหลักประกันและสุขภาพ, มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และมูลนิธิอิสรชน เปิดเผยว่า 31% ของคนไร้บ้านทั่วประเทศไทยเป็นคนไทยไร้สิทธิ เป็นคนไทยที่ตกหล่นจากสิทธิสถานะจากการสูญหายของบัตรประชาชนและเอกสารรับรองการเป็นคนไทย

สาเหตุที่บุคคลเหล่านี้เป็นคนไร้สิทธิได้ มีหลายประการ เช่น ไม่เคยแจ้งเกิด เคยมีบัตรประชนแต่สูญหายหรือหมดอายุ และไม่ได้รับการต่ออายุจากฝ่ายทะเบียนราษฎร รวมไปถึงเป็นบุคคลที่ไม่มีญาติ ไม่มีผู้ปกครองมายืนยันประวัติ

การเป็นคนไทยไร้สิทธิทำให้พวกเขาแทบจะไม่สามารถได้รับสิทธิ สวัสดิการ หรือโอกาสจากสังคมได้เลย ไม่ว่าจะเป็น สวัสดิการสังคม เช่น สวัสดิการผู้สูงอายุ สวัสดิการคนพิการ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 

ถ้าหากเจ็บป่วยขึ้นมา แน่นอนว่าพวกเขาจะตกในสถานการณ์ที่ยากลำบากกว่าคนอื่นๆ เนื่องจากจะไม่สามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง) ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลเอง ซึ่งคนไร้บ้านส่วนใหญ่ ไม่มีเงินมากพอที่จะไปรักษาตามโรงพยาบาลได้ หลายคนเลยจำยอมที่จะต้องอยู่กับความเจ็บของร่างกายต่อไป

แล้วถ้าเด็กที่เติบโตมาอย่างไม่มีบัตรประชาชนจะเข้าถึงการศึกษาได้ไหม? คงตอบว่า ได้ แต่พวกอาจไม่ได้มีเส้นทางการเรียนที่ราบรื่นเหมือนคนอื่นๆ เนื่องจากพวกเขาจะสามารถเรียนได้แค่การศึกษาภาคบังคับเท่านั้น นั่นก็คือ ประถมศึกษาปีที่ 1 จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 นอกเหนือจากนั้นจะไม่สามารถทำได้ หรือในบางกรณีเด็กบางคนที่มีโอกาสได้รับทุนการศึกษา แต่ก็ไม่ได้รับเพราะตัวเองไม่มีบัตรประชาชน

การเป็นคนไร้บ้านที่ต้องประกอบก็อาชีพก็ว่ายากแล้ว แต่ถ้าหากเป็นคนไร้บ้านทับซ้อนกับคนไร้สิทธิจะทำให้การมีงานทำยากกว่าเดิม เนื่องจากนายจ้างและบริษัทในระบบส่วนใหญ่มักใช้บัตรประชาชนเพื่อรับพนักงาน สิ่งนี้ปิดโอกาสให้พวกเขามีอนาคตที่มั่นคง

ท้ายที่สุดการมีตัวตนของพวกเขาจะค่อยๆ จางหายไปเหมือนสายตามที่หน่อยบอกไว้ เพราะไม่มีบัตรประชาชนก็แทบจะไม่มีโอกาสได้ทำ ได้พูด หรือได้ส่งเสียงอะไรเลย