โดย ว่าน ฉันทวิลาสวงศ์
.
.
.
หากคุณลองหลับตาแล้วคิดถึงคนไร้บ้าน ภาพในหัวของคุณเห็นคนเหล่านั้นใช้ชีวิตอยู่ในบริบทใดบ้าง?
หลายคนอาจจะคิดถึงคนที่ซุกตัวนอนอยู่บนทางเท้าบ้าง หลบมุมข้างตึกบ้าง บนเก้าอี้ยาวสาธารณะ หรือในสวนสาธารณะ บ้างอาจจะคิดถึงคนที่นั่งขอทาน หรือคนที่ใส่เสื้อผ้าโทรมๆ แลดูไม่ได้อาบน้ำมานานหลายวัน คนที่ดูหิวอิดโรย หรืออาจจะคิดถึงคนที่สติสัมปชัญญะไม่ค่อยสมบูรณ์ดีนัก ในภาพจำของพวกเราทั้งหมดคงจะมีส่วนที่จริงและไม่จริงบ้างผสมปนเปกัน เพราะชีวิตของคนไร้บ้านแท้จริงแล้วซับซ้อนกว่าที่เราจินตนาการไว้ ถึงกระนั้นก็ตาม ในทุกๆ ภาพที่จำที่เรานึกถึง ความเป็นคนไร้บ้านมักจะมาคู่กับบริบทเมืองและแหล่งเศรษฐกิจที่ตรงกันข้ามกับวิถีชีวิตคนเหล่านั้นเสมอ
เมื่อได้โจทย์ให้วิเคราะห์ข้อมูลการแจงนับคนไร้บ้าน One Night Count ณ วันที่ 23 พฤษภาคม 2566 จากความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย มูลนิธิอิสรชน มูลนิธิกระจกเงา และกรุงเทพมหานคร (กทม.) การสำรวจแจงนับพบคนไร้บ้านทั้งหมด 2,499 คนทั่วประเทศ โดยจังหวัดที่มีคนไร้บ้านมากที่สุด 3 จังหวัดได้แก่ กรุงเทพมหานคร 1,271 คน ชลบุรี 126 คน และเชียงใหม่ 118 คน ตามลำดับ และมี 2 จังหวัดที่ไม่พบคนไร้บ้าน คือ มุกดาหารและกระบี่ ทั้งนี้ ข้อมูลนี้อาจเก็บได้ไม่ครบหมดทุกพื้นที่และทุกเวลา เป็นการแจงนับภายใน 1 คืน ซึ่งอาจมีคนไร้บ้านที่ตกหล่นไปบ้างตามข้อจำกัดของการทำงานแต่ละพื้นที่
ภาพรวมของข้อมูลดังกล่าว ก่อให้เกิดความสงสัยว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัดและจำนวนคนไร้บ้านมีความสัมพันธ์กันอย่างไรบ้าง จึงนำเอาข้อมูลผลิตภัณฑ์จังหวัด (Gross Provincial Product; GPP) ที่อัพเดตที่สุดคือ พ.ศ. 2565 มาเปรียบเทียบกันกับจำนวนคนไร้บ้านในแต่ละจังหวัด พบว่าความสัมพันธ์ของตัวแปรทั้งสองแปรตามกันดังที่ตั้งสมมติฐานไว้ คือ ยิ่งจังหวัดใดมีรายได้จังหวัดมาก ยิ่งจะมีคนไร้บ้านมากขึ้นด้วย
ความสัมพันธ์นี้ น่าสนใจเพราะหลายคนอาจมองว่าความมั่งคั่งในภาพรวมจะทำให้ความยากจนและความไร้บ้านน้อยลง แต่ข้อมูลชวนให้คิดกลับกันว่า ความมั่งคั่งในภาพรวมที่ไม่ได้มาพร้อมกับสวัสดิการที่เหมาะสมและเพียงพอ อาจเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักให้คนพ่ายแพ้จากการแข่งขันทางเศรษฐกิจได้ง่ายขึ้น ทั้งยังอาจเพิ่มความเปราะบางทางสังคมให้สูงขึ้นด้วยเช่นกัน ด้วยความสัมพันธ์เชิงสถิติ Y = 0.0002x – 14.774 มีค่า R² = 0.9395 สามารถนำมาคาดการณ์โดยคร่าวได้ว่า ในทุกผลิตภัณฑ์จังหวัดที่เพิ่มขึ้น 200 ล้านบาท มีความเป็นไปได้ที่คนไร้บ้านจะเพิ่มขึ้น 1 คนในจังหวัดนั้นๆ
เมื่อเราเข้าใจถึงความสัมพันธ์ดังกล่าว จึงจำเป็นที่จะต้องคอยคำนึงไว้เสมอว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจมีผลพลอยได้เชิงลบ (negative by product) คู่กันกับผลทางบวกอยู่เสมอ การผลักดันการเติบโตจึงควรมาพร้อมกับแนวทางในการจัดสรรงบประมาณเพื่อดูแลประชาชน พัฒนาสวัสดิการให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น พร้อมรองรับกลุ่มเปราะบางทางเศรษฐกิจและสังคม ให้เขาสามารถแข่งขันและใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพคู่จังหวัดที่เติบโตได้
ทั้งนี้ การวิเคราะห์เชิงสถิตินี้เป็นเพียงการชี้ประเด็นโดยคร่าว ยังมีรายละเอียดที่ควรทำความเข้าใจสถานการณ์และคาดการณ์คนไร้บ้านเพิ่มเติม จากผลการวิเคราะห์ข้างต้น ชวนให้คิดต่อว่า หากเราวิเคราะห์แยกแต่ละกลุ่มจังหวัดที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจแตกต่างกัน ระหว่างในพื้นที่จังหวัดที่เติบโตด้วยอุตสาหกรรมสูง เช่น ชลบุรี ระยอง สมุทรปราการ แยกจากพื้นที่จังหวัดที่เติบโตด้วยการท่องเที่ยวและค้าขาย เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น อาจมีโมเดลที่แตกต่างกันและมีปัจจัยรายละเอียดย่อยที่ส่งเสริมให้เกิดคนไร้บ้านมากขึ้นหรือน้อยลงได้ มากไปกว่านี้ จำนวนคนไร้บ้านไม่ได้แปรตามผลิตภัณฑ์จังหวัดเพียงอย่างเดียว แต่ยังแปรตามจำนวนประชากรแต่ละจังหวัดด้วย ก่อให้เกิดสมมติฐานเพิ่มเติมว่า ยิ่งเศรษฐกิจเติบโต จำนวนคนที่หลั่งไหลเข้าจังหวัดจะยิ่งเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะเพิ่มโอกาสการเป็นคนไร้บ้านให้มีมากขึ้นด้วยเช่นกัน รายละเอียดของความสัมพันธ์ดังกล่าวจำเป็นจะต้องได้รับการศึกษาวิจัยเชิงลึกต่อไป