ส่องมาตรการป้องกันภาวะไร้บ้านและที่อยู่อาศัยไม่มั่นคงท่ามกลางวิกฤติโควิด (1)

ผู้เขียน: บุณิกา จูจันทร์

เป็นเวลา 1 ปีแล้วหลังจากเชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดในประเทศไทย สิ่งที่ตามมาคือ ปรากฏการณ์ “คนไร้บ้านหน้าใหม่” ที่ขยายตัวมากขึ้น นักวิชาการคาดการณ์ว่าอัตราคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ จะสูงขึ้นอีกร้อยละ 30 เนื่องจากภาวะขาดแคลนงาน นั่นหมายความว่าในเมือง ๆ เดียว มีคนที่กำลังเผชิญกับความไม่มั่นคงด้านที่อยู่อาศัยอย่างน้อย 1,600 – 1,700 คน (อ่านประกอบ: รายงานการประมาณการประชากรคนไร้บ้าน ภายใต้สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)) 

เช่นเดียวกันกับโรคระบาด ภาวะเศรษฐกิจถดถอยคือปัญหาระดับชาติ ไม่ว่าเราจะอ่านข่าวจากที่ไหน ได้ยินบทสนทนาจากใคร หรืออยู่บนโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มไหนก็ตาม เรื่องราวของผู้คนที่โดนเลิกจ้างและโดนจำกัดการเคลื่อนไหวต่างเผยตัว และมีที่มาจากพื้นที่ต่างทั่วประเทศ เมื่อเราพิจารณาถึงสัญญาณต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาคนว่างงาน การลดขนาดหรือทยอยปิดตัวของสถานประกอบการอุตสาหกรรมและธุรกิจต่าง  ทุกอย่างบ่งชี้ว่าภาวะไร้บ้านระลอกใหม่อาจเกิดขึ้นได้ทุกหนทุกแห่ง นี่คือวิกฤตระดับประเทศที่ควรได้รับความสนใจเช่นกัน (อ่านประกอบ: โลกของคนไร้บ้าน จ.ขอนแก่น ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19)

นับตั้งแต่ปีที่แล้ว ประเทศไทยได้ลิ้มรสนโยบายที่นับว่าเป็น ‘ยาแรง’ หลายขนาน ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดการเดินทางเข้า-ออกระหว่างพื้นที่ การประกาศใช้เคอร์ฟิว หรือการสั่งปิดตลาดและสถานประกอบการต่าง ผลกระทบที่ตามมาคือกลุ่มมวลชนที่ตกงานและตกค้างตามพื้นที่ที่ถูกปิดตาย การควบคุมโรคทำให้คนจำนวนมากถูกตัดขาดจากสิ่งจำเป็นของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายสังคม แหล่งงาน และโอกาสในการเข้าถึงที่อยู่อาศัย เมื่อไม่มีงาน ก็ไม่มีเงิน ไม่มีอะไรจ่ายค่าเช่าบ้านพัก/ห้องพัก เมื่อถูกสั่งห้ามเดินทาง ก็ไม่สามารถกลับไปหาคนที่หยิบยื่นที่พักชั่วคราวให้ได้  

ที่ผ่านมา รัฐบาลเคยออกมาตรการให้ความช่วยเหลือทางสังคมมาก่อน เช่น โครงการไม่ทิ้งกันและเงินเยียวยาเกษตร แต่มาตรการดังกล่าวเป็นเพียงเงินสนับสนุนชั่วคราว และไม่ใช่สิ่งที่เข้าถึงทุกคนเลยทันที ผู้ลงทะเบียนจำนวนมากรายงานว่าข้อมูลที่ปรากฏในระบบไม่ถูกต้อง และถูกปฏิเสธสิทธิในการรับความช่วยเหลือในที่สุด (อ่านประกอบ: ลงทะเบียนเยียวยา : วิเคราะห์สารพันปัญหาเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19)  ที่สำคัญ มาตรการดังกล่าวคือการให้เงินก้อน ๆ หนึ่ง ไม่ใช่มาตรการรับมือกับภาวะเสี่ยงไม่มีที่อยู่อาศัย จริงอยู่ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมเเละความมั่นคงของมนุษย์ได้สร้างศูนย์พักพิงคนไร้บ้าน แต่ใช่ว่าคนไร้บ้านทุกคนยินดียอมรับข้อเสนอจากกระทรวงการพัฒนาสังคม ฯ (อ่านประกอบ: ผลักดันคนไร้บ้าน เข้าศูนย์พักพิง เสริมทักษะสร้างรายได้ ไม่เป็นพาหะแพร่โควิด-19, เมื่อ “ที่พัก” ไม่ใช่ “บ้าน”

ในรายงานพิเศษของสหประชาชาติ เรื่อง สถานการณ์ความยากจนด้านที่อยู่อาศัยในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด Rajagopal Balakrishnan ระบุว่า ปัจจัยหลัก ๆ ที่ทำให้คนไม่มีที่อยู่อาศัยได้แก่ การขับไล่คนออกจากที่อยู่อาศัย (forced eviction) และความเหลื่อมล้ำในมิติต่าง ๆ ที่ผลักคนไปอยู่ชายขอบของสังคม อาทิ ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น ความไม่เท่าเทียมทางเพศ การกดขี่ทางชาติพันธุ์/เชื้อชาติ (ethicity/race)  เพื่อรับมือกับปัญหาได้ทันท่วงที  Balakrishnan ได้ยกตัวอย่างมาตรการระยะสั้นที่ควรลงมือทำโดยเร็ว ดังนี้ :

  1. เก็บข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิที่อยู่อาศัยและผู้ได้รับผลกระทบด้านที่อยู่อาศัย ประกอบด้วย ข้อมูลประชากร (อาทิ ข้อมูลด้านชาติพันธุ์-เชื้อชาติ ด้านเพศสภาพ/เพศวิถี ด้านศาสนา ด้านความพิการ และด้านสถานะความเป็นพลเมือง เช่น เป็นผู้อพยพเข้ามา หรือเป็นผู้ลี้ภัย) สถานการณ์การเช่าที่พักอาศัย จำนวนครั้งที่การไล่คนออกจากที่อยู่อาศัยเกิดขึ้น และจำนวนคนที่ได้รับกระทบ โดยนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์ควบคู่ไปกับความแออัดของบ้าน ภาวะไร้บ้าน คุณภาพของที่พัก ราคาของที่พัก และจำนวนที่พักอาศัยที่ยังว่างในตลาด ข้อมูลนี้จะช่วยให้เห็นว่าใครบ้างคือคนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะที่อยู่อาศัยไม่มั่นคง และอะไรคือสาเหตุที่ทำให้คนกลุ่มนั้น ๆ ไม่สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้ นำไปสู่การสร้างนโยบายที่ตอบสนองต่อประชากรแต่ละกลุ่มได้
  2. ประกาศห้ามไม่ให้ไล่คนออกจากที่อยู่อาศัยหรือบังคับจำนอง หากผู้เช่าไม่สามารถชำระค่าเช่าได้ โดยไม่แบ่งแยกสถานะพลเมือง รวมไปถึงการห้ามไม่ให้บุกทำลายแคมป์ของคนไร้บ้านในที่สาธารณะ (การบังคับจำนองคือการให้ชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินที่เอาไปจำนอง)
  3. เปลี่ยนที่พักแรมเช่น โรงแรม หอพัก ให้เป็นที่พักเฉพาะกิจของคนไร้บ้าน และพัฒนาแผนที่อยู่อาศัยถาวร เตรียมซื้อหรือเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่ว่างเพื่อเปลี่ยนให้เป็นที่อยู่อาศัยสำหรับคนไร้บ้าน
  4. พัฒนามาตรการเยียวยาทางสังคม ประกอบด้วย การให้ความช่วยเหลือด้านการเงินและการจ้างงานกับผู้มีรายได้น้อย การช่วยให้คนที่ไม่มีที่อยู่อาศัยแน่นอนเข้าถึงน้ำสะอาดและบริการสุขภาพ
  5. ลดการจำคุกและดำเนินคดีกับประชาชน โดยเฉพาะคนไร้บ้านและคนที่ไม่ได้กระทำอาชญากรรมรุนแรง เนื่องจากเรือนจำเป็นพื้นที่แออัด ในประเทศไทย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยเป็นผลักดันประเด็นนี้กับกระทรวงยุติธรรม (อ่านประกอบ: รายงานสถานการณ์และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับ COVID-19 ในเรือนจำ)

เพื่อป้องกันไม่ให้ใครโดนขับไล่ออกจากที่พักอาศัย นโยบายห้ามฟ้องร้องไล่ที่คนออกต้องทำควบคู่ไปกับนโยบายอื่น ๆ เช่น 

  • การต่อสัญญาเช่าอัติโนมัติ ในกรณีที่สัญญาของผู้เช่าใกล้สิ้นสุด
  • การแบ่งเบาภาระใช้จ่ายผู้เช่า เช่น 
    • มาตรการห้ามขึ้นราคาค่าเช่า (rent freeze) การลดราคาค่าเช่า เงินอุดหนุนเพื่อชำระค่าเช่า 
    • การพักชำระหนี้ 
    • การประกาศพักชำระหรือลดค่าน้ำค่าไฟ 

มาตรการรับมือกับภาวะไร้บ้านในช่วงการแพร่ระบาดกลั่นกรองจาก :

  1. Rajagopal Balakrishnan, 2020, Report: COVID-19 and the right to housing: impacts and way forward
  2. Organisation for Economic Co-operation and Development, 2020, Cities Policy Responses
  3. Organisation for Economic Co-operation and Development, 2020, Housing amid Covid-19: Policy responses and challenges
  4. Organisation for Economic Co-operation and Development, 2020, The territorial impact of COVID-19: Managing the crisis across levels of government