ปัญหาที่อยู่อาศัย: ต้นตอสู่วิกฤติเศรษฐกิจ-สังคม ที่แม้แต่ประเทศร่ำรวยยังต้องเผชิญ

ปัญหาที่อยู่อาศัย: ต้นตอสู่วิกฤติเศรษฐกิจ-สังคม ที่แม้แต่ประเทศร่ำรวยยังต้องเผชิญ

วิกฤติเศรษฐกิจช่วงปี ค.ศ. 2008-2010 แสดงให้เห็นอย่างแจ่มชัดถึงอันตรายของตลาดที่อยู่อาศัย (Housing Market) ที่ได้รับการบริหารจัดการแบบผิดๆ ในช่วงปี 2000-2005 ในอเมริกา การปล่อยจำนองอย่างไร้ความรับผิดชอบและบางครั้งก็ผิดกฎหมาย ส่งผลให้แต่ละครัวเรือนมีหนี้สะสมมากเกินกว่าที่จะจ่ายคืนได้ ระหว่างปี 2000 ถึงปี 2007 หนี้ครัวเรือนในอเมริกาพุ่งจากร้อยละ 104 ไปเป็นร้อยละ 144 ซึ่งนำไปสู่สภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกและแทบจะทำลายระบบการเงินทั้งระบบ

กระนั้นก็ดี ความเสียหายที่เกิดจากตลาดที่อยู่อาศัยที่ถูกบริหารจัดการอย่างผิดๆก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมายนอกเหนือจากสภาวะถดถอยและวิกฤติเศรษฐกิจ ราคาที่อยู่อาศัยในประเทศร่ำรวยนั้นแพงเกินไป (โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ) แม้แต่ช่วงหลังของวิกฤติเศรษฐกิจที่กล่าวมาข้างต้น ราคาบ้านก็ยังคงพุ่งสูงขึ้นกว่าร้อยละ 15  

โดยมากเรามักคิดว่าราคาบ้านที่สูงขึ้นหมายถึงผู้คนร่ำรวยขึ้น ดังนั้นจึงมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายเงินมากขึ้นและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่แท้จริงแล้วราคาที่อยู่อาศัยที่แพงทำให้ผู้อยู่อาศัยต้องลดค่าใช้จ่ายส่วนอื่น และนโยบายเศรษฐกิจที่พึ่งพาคนซื้อบ้านก็เป็นนโยบายที่ไม่ยั่งยืน ในระยะสั้นหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจได้ แต่ในเมื่อผ่านไปราว 3-5 ปี ผลที่เกิดขึ้นกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม กลับกลายเป็นว่าครัวเรือนต้องจำกัดค่าใช้จ่ายส่วนอื่นเพื่อมาผ่อนชำระหนี้บ้านแทน การเติบโตของเศรษฐกิจจึงชะลอลง และความเป็นไปได้ของการเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจก็จะเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ เมืองที่ก่อให้เกิดผลิตผลสูงในประเทศที่ร่ำรวยหลายเมืองก็ไม่ได้มีการสร้างที่อยู่อาศัยให้เพียงพอ ส่งผลให้ราคาที่อยู่อาศัยสูงกว่าที่ควรจะเป็น ราคาที่อยู่อาศัยแพงทำให้ผู้คนซึ่งอยากย้ายมาหางานทำในเมืองใหญ่ที่ผลิตผลและค่าจ้างสูงอย่างลอนดอน ซานฟรานซิสโก หรือซิดนีย์ ไม่สามารถย้ายไปได้ และปัจจัยนี้ก็ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ลดลงด้วย

ประเทศร่ำรวยจำเป็นต้องเรียนรู้จากตลาดที่อยู่อาศัยในประเทศอื่นๆที่ประสบความสำเร็จ มีกรณีตัวอย่างให้เห็นว่าการวางแผนที่ดีและยืดหยุ่น การจัดเก็บภาษีที่เหมาะสมและการควบคุมทางการเงินสามารถเปลี่ยนที่อยู่อาศัยให้เป็นความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างเช่นระบบที่อยู่อาศัยของรัฐของสิงคโปร์ซึ่งช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ของคนในสังคม หรือระบบการจำนองในเยอรมันที่ช่วยให้ประเทศหลบหลีกวิกฤติเศรษฐกิจช่วง 2008 – 2010 มาได้ 

ปัญหาที่อยู่อาศัยเป็นปัญหาของประชากรทุกคน และเราต้องไม่ลืมคำนึงถึงประชากรกลุ่มเปราะบางอย่างคนจนเมืองหรือคนหาเช้ากินค่ำ ผู้ซึ่งได้รับผลกระทบจากการที่ราคาที่อยู่อาศัยมีอัตราสูงด้วยเช่นกัน นี่เป็นปัญหาใหญ่ต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาอย่างมาก คนรายได้น้อยอาจไม่มีโอกาสแม้แต่จะมีบ้านเป็นของตัวเอง ทำได้เพียงแค่จ่ายค่าเช่าไปวันต่อวัน คนไร้บ้านอาจไม่มีแม้แต่โอกาสจะออกจากสภาวะไร้บ้านและมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งได้เลยหากที่อยู่อาศัยมีราคาสูง ยิ่งไปกว่านั้น รายได้ขั้นต่ำที่ได้รับก็ไม่เพียงพอแม้แต่จะเช่าที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพเสียด้วยซ้ำ

ปัญหานี้ ไม่เพียงแต่รัฐบาลของประเทศร่ำร่วยเท่านั้นที่จะต้องแก้ไขและจัดการอย่างเร่งด่วน แต่นี่คือหน้าที่ของทุกรัฐบาลทั่วโลกด้วยเช่นกัน

ที่มา: https://www.economist.com/special-report/2020/01/16/housing-is-at-the-root-of-many-of-the-rich-worlds-problems