เมื่อพูดถึง “คนไร้บ้าน” (homeless) ความหมายนั้นก็ตรงตัว คนไร้บ้านนั้น “ไร้บ้าน” ไม่มีบ้าน ไม่มีที่อยู่เป็นหลักเป็นแหล่ง บ้างก็อาศัยพื้นที่สาธารณะเป็นสถานที่พักพิง บ้างก็มีบ้านเป็นสถานที่ทางกายภาพที่ตนจากมา แต่สถานที่นั้นอาจเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ความทรงจำขุ่นมัวและเจ็บปวดรวดร้าว จนคนไร้บ้านอดรนทนอยู่ไม่ไหว
ความหมายของการเป็นคนไร้บ้านจึงตรงตัว ไร้บ้าน แต่บ้านในที่นี้ก็อาจไม่ใช่เพียงบ้านในฐานะสถานที่ทางกายภาพ แต่ยังหมายถึงบ้านที่เป็นที่พักพิงทางใจ
ถ้าพูดถึงความหมายของ “คนไร้บ้าน” ความหมายอย่างกว้างครอบคลุมทั้งผู้คนที่อาศัยพื้นที่สาธารณะเป็นบ้าน และผู้คนที่ไม่มีที่อยู่เป็นหลักเป็นแหล่ง (ซึ่งอาจไม่ได้อยู่ในที่สาธารณะก็ได้) สำหรับคนไร้บ้านในที่สาธารณะ ในประเทศไทยถ้าในสมัยก่อนเราก็อาจนึกถึงภาพคนไร้บ้านแถวสนามหลวง ถ้าเป็นตอนนี้เราอาจนึกถึงภาพคนไร้บ้านที่ใช้ชีวิตอยู่แถวหัวลำโพง ซึ่งเป็นสถานที่หนึ่งในกรุงเทพฯ ที่มีคนไร้บ้านกระจุกตัวอยู่มาก
แต่คนไร้บ้านไม่ได้อยู่แค่ในพื้นที่สาธารณะ ยังมีคนไร้บ้านที่อยู่ตามศูนย์พักพิงต่างๆ เช่น ศูนย์พักพิงที่บริหารจัดการโดยเครือข่ายคนไร้บ้านและภาคประชาสังคม อย่างศูนย์คนไร้บ้านสุวิทย์ วัดหนู ในกรุงเทพฯ ศูนย์คนไร้บ้านรังสิต จังหวัดปทุมธานี ศูนย์คนไร้บ้าน ‘บ้านเตื่อมฝัน’ ที่จังหวัดเชียงใหม่ และ ‘บ้านโฮมแสนสุข’ ศูนย์คนไร้บ้านจังหวัดขอนแก่น หากเป็นศูนย์คนไร้บ้านของรัฐ ก็มีศูนย์คนไร้บ้านในกทม. และสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งของกระทรวงพัฒนาสังคม ซึ่งกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ และทำหน้าที่รองรับดูแลผู้คนมากมายที่ไม่มีบ้านให้กลับไปอยู่
แต่คนไร้บ้านเป็นใคร และมีหน้าตาแบบไหนกัน?
ในปี พ.ศ. 2562 มีการสำรวจแจงนับภาพรวมประชากรคนไร้บ้านทั้งประเทศไทย การสำรวจนี้แจงนับคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะและในศูนย์พักคนไร้บ้านต่างๆ ใช้เครื่องมือการแจงนับที่พัฒนาขึ้นโดย สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่ายทางวิชาการ โดยการสำรวจแจงนับนั้นมีชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า One Night Count หรือ Point in Time เป็นการส่งทีมไปสำรวจคนไร้บ้านในคืนเดียวกันหรือระยะเวลาที่ใกล้เคียงกัน เพื่อป้องกันการนับซ้ำ การสำรวจในครั้งนี้มีข้อค้นพบเกี่ยวกับคนไร้บ้านมากมาย
การสำรวจพบว่ามีคนไร้บ้านในประเทศไทยอยู่ราว 2,719 คน โดยกรุงเทพมหานครเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนคนไร้บ้านมากที่สุด รองลงมาคือจังหวัดนครราชสีมา เชียงใหม่ สงขลา ชลบุรี และขอนแก่น ตามลำดับ และยังค้นพบข้อมูลประชากรพื้นฐานของคนไร้บ้าน เช่น
คนไร้บ้านเป็นเพศชายร้อยละ 86 เป็นเพศหญิงร้อยละ 14
คนไร้บ้านร้อยละ 52 อยู่ตัวคนเดียว ยิ่งเป็นคนไร้บ้านสูงอายุ ยิ่งมีอัตราในการอยู่ตัวคนเดียวสูง
คนไร้บ้านร้อยละ 4 มีความพิการ (อย่างเห็นได้ชัด)
คนไร้บ้านร้อยละ 57 เป็นวัยแรงงานตอนปลาย (อายุราว 40-59 ปี)
นอกจากนี้ หากเราย้อนกลับไปดูรายงานวิจัย “การสำรวจข้อมูลประชากรเชิงลึกของคนไร้บ้านในเขตกรุงเทพมหานครและพื้นที่เกี่ยวเนื่อง” ของสสส. ที่จัดทำขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2559 ก็จะพบว่า
คนไร้บ้านในเขตกรุงเทพถึงร้อยละ 22 มีอายุเกิน 60 ปี
คนไร้บ้านประมาณ 3 ใน 4 รายงานว่า ก่อนมาเป็นคนไร้บ้านเคยประกอบอาชีพเป็นแรงงานนอกระบบ และรายได้ไม่แน่นอน เช่น เกษตร/ประมง รับจ้างทั่วไป เก็บของเก่าขาย ขับรถ/ส่งของ งานกรรมกร/ช่างก่อสร้าง และค้าขาย เป็นต้น และมีเพียงประมาณร้อยละ 16 ที่ทำงานในระบบ เช่น พนักงานทำความสะอาด/รปภ. ลูกจ้าง/พนักงานโรงงาน ซึ่งก็สังเกตได้ว่างานเหล่านี้เป็นงานรายได้น้อยและไม่มีความมั่นคงนัก สอดคล้องกับที่ร้อยละ 26 ของคนไร้บ้านรายงานว่า การไม่มีงานทำ/ตกงาน/ถูกไล่ออกจากงานเป็นจุดเปลี่ยนทำให้ออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน
คนไร้บ้านนั้นทำงานหนัก โดยภาพรวมแล้วคนไร้บ้านในเขตกรุงเทพมหานครและพื้นที่ใกล้เคียง มีแหล่งรายได้มากกว่า 1 แหล่ง คนไร้บ้านประมาณร้อยละ 40 รายงานว่า มีรายได้จากการทำงานรับจ้างทั่วไป รองลงมา คือ หาของเก่าขาย และค้าขาย และแม้จะทำงานรับจ้างหลายอย่างไปพร้อมๆ กัน คนไร้บ้านเกินครึ่งก็ยังรายงานว่า ไม่มีรายได้เพียงพอใช้จ่ายในแต่ละวัน ซึ่งก็ชวนให้ตั้งคำถามต่อว่า เหตุใดรายได้ขั้นต่ำจึงไม่เพียงพอให้ผู้คนดำรงชีพได้อย่างมีคุณภาพ
การสำรวจคนไร้บ้านทั่วประเทศและการสำรวจเชิงลึกในเขตกรุงเทพฯ ช่วยให้เห็นภาพของคนไร้บ้านชัดเจนขึ้น ว่าพวกเขาเป็นใคร อยู่ที่ไหน ทำอาชีพอะไร แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องไม่ลืมก็คือ จำนวนคนไร้บ้านทั่วประเทศมักมีมากกว่าจำนวนที่สำรวจได้ เพราะคนไร้บ้านเป็นกลุ่มคนที่ทั้งเข้าถึงได้ยาก และมีอัตราการเสียชีวิตในแต่ละปีสูง
คนไร้บ้านมักเป็นกลุ่มคนเปราะบาง และประเด็นคนไร้บ้านก็สะท้อนให้เห็นว่า ที่คือผลจากความเหลื่อมล้ำทางสังคม ปัญหาความยากจน ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และการที่ไม่มีหลักประกันหรือสวัสดิการใดๆ มารองรับผู้คนที่สังคมไม่โอบอุ้มพวกเขา