มายาคติและความจริงเกี่ยวกับคนไร้บ้าน

ผู้เขียน: ภัทรินทร์ ธรรมาภรณ์

“คนไร้บ้านขี้เกียจ งอมืองอเท้ารอให้เขามาแจกอาหาร”

สังคมไทยยังคงไม่เข้าใจภาวะไร้บ้านสักเท่าไรนัก มายาคติอย่างประโยคข้างต้นสะท้อนภาพจำที่บิดเบี้ยวของสังคมต่อคนไร้บ้าน และส่งผลต่อคนไร้บ้านในทุกระดับ ตั้งแต่ปฎิกิริยาของคนต่อคนไร้บ้าน จนกระทั่งการกำหนดนโยบายเชิงสังคม

มายาคติทางสังคมควรถูกทลายเพื่อให้คนไทยเข้าใจและเห็นใจคนไร้บ้านมากขึ้น ซึ่งต่อไปนี้จะพูดถึงมายาคติที่เราอาจจะเคยได้ยินเกี่ยวกับคนไร้บ้าน และข้อเท็จจริงที่เราควรทำความเข้าใจ

  • คนไร้บ้านขี้เกียจ

จากมุมมองของคนนอก เราอาจจะมองว่าคนไร้บ้านนอนเอื่อยเฉื่อยในที่สาธารณะและรอการช่วยเหลือจากมูลนิธิและผู้ใจบุญต่าง ๆ แต่จากการสำรวจพบว่าคนไร้บ้านจำนวนมากทำงานเพื่อยังชีพ เช่น การรับจ้างทั่วไป การเก็บของเก่าขาย และการค้าขายเล็กน้อย ๆ แต่รายได้จากอาชีพเหล่านี้ไม่เพียงพอที่จะใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าบ้าน หรือค่าอาหาร

  • คนไร้บ้านเป็นคนที่ไม่มีศักยภาพในการทำงาน

คนไร้บ้านจำนวนมากเคยได้รับการศึกษาและมีทักษะอาชีพ แต่มักจะเป็นอาชีพที่ใช้แรงกายและขาดสวัสดิการและความมั่นคง เช่น ลูกจ้างรายวัน แม่บ้าน คนขับรถ เมื่อเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ คนเหล่านี้มักจะเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่ตกงานและไม่มีตาข่ายสวัสดิการรองรับ ในทางเดียวกัน ข้อมูลจากอเมริกาเผยให้เห็นว่าคนไร้บ้านมาจากหลากหลายสายอาชีพ สิ่งที่คนไร้บ้านไม่มีไม่ใช่ศักยภาพในการงานแต่ขาดโอกาสการเข้าถึงงานที่มั่นคง

  • คนไร้บ้านไม่ยอมทำงาน

ในหมู่คนไร้บ้านที่พยายามหางานทำ มีอุปสรรคมากมายที่ทำงานให้การหางานของพวกเขายากลำบากกว่าคนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง รูปลักษณ์ภายนอก หรือมายาคติด้านลบต่อคนไร้บ้าน ซึ่งทำให้คนไร้บ้านหางานได้ยากขึ้น นอกจากนี้ งานที่คนไร้บ้านสามารถทำได้มักจะเป็นงานนอกระบบที่ไม่มีความมั่นคงทั้งการจ้างงานและรายได้ ทำให้มีโอกาสสูงที่จะตกงาน และไม่สามารถออกจากภาวะไร้บ้านได้สำเร็จ

  • ภาวะไร้บ้านเกิดจากปัจจัยทางเศรษฐกิจเท่านั้น

แม้ว่าคนไร้บ้านจำนวนมากตกอยู่ในสภาวะไร้บ้านเพราะปัญหาทางเศรษฐกิจ เช่น การตกงาน ภาระหนี้สิน แต่ก็มีคนไร้บ้านอีกจำนวนหนึ่งที่ต้องออกจากบ้านเพราะปัญหาด้านครอบครัว เช่น ความรุนแรงในครอบครัว หรือการไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ ปัญหาอย่างหลังพบได้มากในต่างประเทศ เมื่อเยาวชนเปิดเผยกับครอบครัวเกี่ยวกับสภาวะ LGBTQ+ แล้วครอบครัวไม่ยอมรับและตัดขาดความสัมพันธ์

  • คนไร้บ้านเป็นคนที่ไม่มีบ้าน ไม่มีครอบครัว

ต่อเนื่องจากมายาคติข้อที่แล้ว ปัญหาด้านครอบครัวเป็นสาเหตุหนึ่งที่ผลักให้คนออกมาอยู่ในสภาวะไร้บ้าน การสำรวจพบว่าคนไร้บ้านประมาณร้อยละ 70 มีบ้านหรือครอบครัว แต่พวกเขาไม่อยากหรือไม่สามารถกลับบ้านได้ บางคนกลับบ้านไปแล้วแต่ความขัดแย้งเดิม ๆ ก็ทำให้กลับมาอยู่ตามท้องถนนอีกครั้ง บางคนก็หลงลืมว่าบ้านของตนอยู่ที่ใดซึ่งในสถานการณ์ที่ไม่มีบัตรประจำตัวใด ๆ ทำให้การช่วยเหลือยิ่งเป็นไปได้อย่างยากลำบาก

  • คนไร้บ้านคือคนป่วยทั้งด้านร่างกายและจิตใจ

แม้ว่าคนไร้บ้านบางส่วนจะกลายเป็นคนไร้บ้านเพราะปัญหาสุขภาพจิตหรือความพิการ แต่คนไร้บ้านกว่าร้อยละ 90 ไม่มีความพิการและไม่มีโรคประจำตัว อย่างไรก็ตาม ภาวะไร้บ้านเป็นภาวะที่เปราะบางและเพิ่มความเสี่ยงด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น การอยู่ร่วมกันอย่างใกล้ชิด อุปสรรคต่อเข้าถึงระบบสาธารณสุข และการกินอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ

  • คนไร้บ้านไม่ใช่คนไทย

คนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะกว่าร้อยละ 96.5 เป็นคนไทย ดังนั้นมายาคติที่เชื่อว่าคนไร้บ้านเป็นคนต่างชาติจึงไม่ใช่ความจริง มายาคตินี้อาจจะเกิดจากปัญหาทางทะเบียนราษฎร นั่นคือการไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน พวกเขาจึงหลุดออกจากระบบสวัสดิการสังคมเกือบทุกอย่างประหนึ่งเป็นคนต่างด้าว

  • คนไร้บ้านเป็นคนอันตราย พร้อมทำผิดกฎหมาย

มายาคติที่มองว่าคนไร้บ้านบ้านเป็นอันตรายต่อชุมชนนั่นไม่จริง คนไร้บ้านที่นอนอยู่ตามพื้นที่สาธารณะไม่ได้ทำร้ายใคร ในทางกลับกัน พวกเขาเสี่ยงต่อการถูกทำร้ายจากอันธพาลและวัยรุ่นที่คึกคะนอง คนเหล่านี้มองว่าตนสามารถทำร้ายคนไร้บ้านได้โดยไม่มีใครตามมาเอาผิด คนไร้บ้านประมาณหนึ่งในสามเคยเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดและความรุนแรง งานวิจัยจากอเมริกาสรุปว่าคนไร้บ้านก่อความรุนแรงน้อยกว่าคนกลุ่มอื่น ๆ และยังมีโอกาสที่จะเป็นเหยื่อความรุนแรงมากกว่าผู้กระทำ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงไร้บ้านที่เสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศ