ผู้เขียน: บุณิกา จูนจันทร์
ในบทความชิ้นที่แล้ว เราได้พูดถึงกระบวนการปฏิบัติกับความยากจนและภาวะไร้บ้านดุจอาชญากรรมชนิดหนึ่ง (criminalization of poverty and homelessness) โดยแตะการบังคับใช้กฎหมายและระบบยุติธรรมอาญาที่ทำให้เกิดปัญหานี้ อย่างไรก็ตาม คำว่า “อาชญากรรม” ไม่ได้เป็นเพียงคำศัพท์ที่มีความหมายตามกฎหมายเพียงอย่างเดียว และไม่ได้มีแต่เจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการทำให้ความยากจนผิดกฎหมาย
สิ่งต่าง ๆ ที่เรามองว่าเป็นสัญลักษณ์ของอาชญากรรม/อาชญากร เป็นภาพแทนของภัยสังคม หรือทำให้เรารู้สึกไม่ปลอดภัย อยากเบือนหน้าหนี ล้วนผูกโยงกับอคติทางสังคม
หากอคติทางชาติพันธุ์และอคติทางชนชั้นทำให้ “ความเป็นต่างด้าว” และภาพของการเป็นแรงงานนอกระบบปรากฏอยู่ในพาดหัวข่าวอาชญากรรม (อาทิ “ต่างด้าวฆ่าชิงทรัพย์นายจ้าง” “ต่างด้าวขโมยเงิน”) และสัญชาติของประชาชนจากประเทศเพื่อนบ้านกลายมาเป็นเครื่องมือในการปลุกปั่นความหวาดกลัวว่าเรากำลังเผชิญกับ “สิ่งแปลกปลอมที่กำลังบุกรุกพรมแดน เจาะอำนาจอธิปไตยไทย บั่นทอนความมั่นคงแห่งชาติ” (อาทิ “เตรียมรักษา 42 ต่างด้าว ป่วยโควิดในศูนย์ตม.สะเดา ทำยอดติดเชื้อไทยพุ่ง”) การเป็นคนไร้บ้านเองก็มีที่ทางอยู่ในภาษาในชีวิตประจำวันและภาษาข่าว – ในฐานะสัญลักษณ์ของ “อันตราย” “อาชญากรรม” “ความสกปรก” “ภาชนะรองรับความเห็นใจ เมตตา เอื้ออาทร” “เดนมนุษย์” “ความล้มเหลว” และ “ส่วนเกินของสังคมที่ต้องกำจัดให้ได้”
และด้วยมายาคติเหล่านี้เอง คนทั่ว ๆ ไปจึงตัดสินใจปฏิบัติกับคนไร้บ้านดุจเป็นอาชญากร
ปฏิบัติการสอดส่องอาชญากรรมในระดับชุมชน หรือแค่การสอดแนมคนไร้บ้าน?
ในปี ค.ศ. 2019 Rick Paulas รายงานว่า กระแสต่อต้านคนไร้บ้านในสหรัฐอเมริกากำลังรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ในพื้นที่ออนไลน์แห่งหนึ่ง ซึ่งมีชื่อเรียกว่า “Nextdoor”
“Nextdoor” ทำหน้าที่เป็นเหมือนโซเชียลมีเดียที่ช่วยเชื่อมต่อคนในละแวกเดียวกันให้รู้จักกัน ผู้ใช้งานเว็บไซต์นี้จะต้องกรอกที่อยู่ของตัวเองเพื่อยืนยันตัวตน หลังจากนั้นคน ๆ นั้นถึงจะได้รับอนุญาตให้เข้าถึงห้องสนทนาหรือแหล่งรวมพลคนบ้านใกล้เรือนเคียง ภายในห้องสนทนานั้น
ผู้ใช้งาน Nextdoor สามารถแลกเปลี่ยนกันว่าชีวิตในชุมชนของตนเป็นอย่างไรบ้าง Nextdoor กลายเป็นพื้นที่ฟูมฟักความเป็นชุมชน นำไปสู่การสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการบำบัดทุกข์บำรุงสุขในสังคม เช่น ตำรวจ หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน หรือหน่วยดับเพลิง
สิ่งหนึ่งที่เป็นหัวข้อใน Nextdoor คืออาชญากรรมที่เกิดขึ้นในชุมชน การเฝ้าระวังในชุมชนเพื่อระวังหลังของกันและกันเช่นนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่จะทำอย่างไร หากแนวทางการเฝ้าระวังไม่ต่างอะไรจากการเลือกปฏิบัติและการผลิตซ้ำอคติที่มีให้กับคนชายขอบ?
ในสายตาของผู้ใช้ Nextdoor บุคคลที่มีแนวโน้มเป็นอาชญากรหรือคนนอกที่บุกรุกชุมชนอันสงบสุขคือคนไร้บ้าน มีรายงานว่า พิกัดของคนไร้บ้านถูกเผยแพร่ใน Nextdoor เพื่อให้คนหลีกหนี หรือเพื่อชี้เป้า hotspot ของอาชญากรรมและบ่อเกิดของความไม่สะอาดในละแวกชุมชน ท่ามกลางบทสนทนาต่าง ๆ ปรากฏว่ามีการสร้างภาพคนไร้บ้านบางคนให้เป็น “พวกขี้ยา” “หัวขโมย” และ “อาชญากร” โดยไม่มีมูลเหตุ ทั้งยังมีกระแสเรียกร้องให้ตำรวจเข้ามาจับกุมคนไร้บ้านในละแวกชุมชนของตน
เนื่องจากว่า Nextdoor ไม่ใช่แพลตฟอร์มที่เปิดกว้างเท่าไหร่นัก มีเพียงผู้ใช้งานที่ลงทะเบียนพร้อมกับที่อยู่เท่านั้นที่จะใช้ได้ และผู้ที่มีแอคเคาท์ของ Nextdoor จะถูกตีกรอบให้คุยกับคนที่มีที่อยู่ใกล้เคียงกับตน ความเป็นไปได้ในการเข้าไปแก้ไขข้อมูลข่าวสารที่ปนเปื้อนอคติจึงมีอยู่จำกัด ด้วยเหตุนี้เอง Nextdoor ได้กลายเป็นชุมชนจินตกรรมของคนที่รับบทเป็นศาลเตี้ยและตำรวจจำแลง คอยสอดแนมหามนุษย์ที่ดูไม่เข้าพวก โหงวเฮ้งเหมือนโจร ปราศจากการไตร่ตรองว่าความเป็นอาชญากรในสายตาของผู้ใช้ Nextdoor ตั้งอยู่บนพื้นฐานแนวคิดเช่นไร ไม่มีระบบที่สามารถการันตีได้ว่าผู้ใช้ Nextdoor จะสามารถแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำ หากสร้างความเสียหายให้กับผู้อื่น (ซึ่งมักเกิดขึ้นไปแล้ว จากการป้อนข่าวเกี่ยวกับคนไร้บ้านให้ผู้ใช้แพลตฟอร์มคนอื่น โดยไม่ได้กลั่นกรอง)
เพื่อรักษายูโทเปียของชุมชนสุขสันต์ ดูเหมือนว่าเทคโนโลยีถูกหยิบยืมมาเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนโลกให้กลายเป็นดิสโทเปียสำหรับคนจนเสียได้ ในบทความ “The fallacy behind private surveillance cameras in San Francisco” การแพร่หลายของเทคโนโลยีสอดแนม (surveillance technology) ทำให้ชนชั้นกลางขึ้นไปสามารถ “เล่นบทบาทของ ‘Little Brothers’ เคียงข้าง ‘Big Brother’ หรือผู้บังคับใช้กฎหมาย” ได้สะดวกมากขึ้น
ณ ซานฟรานซิสโก นาย Chris Larsen ผู้บริหารบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีได้ลงทุนติดตั้งกล้องวงจรปิดจำนวนกว่า 1,000 พันตัวใน 135 จุดทั่วเมือง โดยมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับเมือง และลดอาชญากรรมประทุษร้ายต่อทรัพย์สิน (property crime) โดยเฉพาะการบุกรุกโจรกรรม นี่เป็นความร่วมมือระหว่างบริษัทเอกชนกับกลุ่มผู้ประกอบการท้องถิ่นที่รวมตัวกันพัฒนาเมืองในนาม “Community Benefits Districts”
อย่างไรก็ตาม ชุมชนคนจนที่ได้รับผลกระทบจากการสอดแนม รวมไปถึงนักวิชาการและนักกิจกรรมที่รณรงค์เรื่องความเป็นธรรมทางเทคโนโลยีต่างชี้ให้เห็นว่า มาตรการสอดส่องเพื่อกำกับอาชญากรรมนั้นมีปัญหาในหลายมิติ ไม่เพียงแต่การติดกล้องวงจรปิดจะถูกนำไปใช้เพื่อกวดขันการใช้ชีวิตในพื้นที่กลางแจ้งของคนจนอย่างไม่เป็นธรรม ข้อมูลที่ถูกกล้องจับเอาไว้ยังถูกใช้เพื่อจับกุมคนจนมากเป็นพิเศษ ในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งทางเชื้อชาติ-ชาติพันธุ์ สถานการณ์เช่นนี้แปลว่ากลุ่มคนจนที่เผชิญการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ-ชาติพันธุ์ยิ่งถูกเพ่งเล็งว่าเป็นอาชญากรมากเป็นพิเศษ และในพื้นที่ที่มีคนไร้บ้านปักหลักอยู่ นี่แปลว่าการสอดส่องและการใช้กระบวนการยุติธรรมลงโทษคนไร้บ้านยิ่งมีแนวโน้มสูงมากขึ้น
ในหนังสือ “Punishing the Poor: The Neoliberal Government of Social Insecurity” ซึ่งเขียนโดย Loïc Wacquant หนึ่งในกระบวนการจัดการคนไร้บ้านคือการบีบบังคับให้คนไร้บ้านสูญหายไป (invisibilization of homelessness) สิ่งนี้เริ่มจากการเชื่อมโยงภาวะไร้บ้านกับความเป็นอาชญากร เพื่อที่คนไร้บ้านจะได้ถูกถอดความเป็นมนุษย์ หลังจากที่คนไร้บ้านโดนลดทอนให้เหลือเพียงสิ่งมีชีวิตหนึ่งที่ไม่มีศักดิ์ศรีเทียบเท่าพลเมือง ๆ คนอื่น ‘สิ่งมีชีวิตที่ไร้บ้าน’ จะถูกต้อนเข้าสู่กระบวนการลงทัณฑ์ทางกฎหมาย และถูกลำเลียงเข้าสู่เรือนจำที่ปิดตาย หายไปจากสังคมในที่สุด
ด้วยการเข้ามาของเทคโนโลยีสอดแนมที่ใครก็ครอบครองได้ ดูเหมือนว่าการทำให้คนไร้บ้านหายตัวไปจะเริ่มต้นจากสิ่งที่ตรงกันข้ามกับการล่องหน กระบวนการจับจ้องสอดส่องเกิดขึ้นได้ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ในเงามืดที่แสงสังเคราะห์ล่วงไปไม่ถึง ตามเสาไฟฟ้า ตามสวนสาธารณะ ตามย่านคนจน ตามย่านของคนที่สถานะทางเศรษฐกิจ-สังคมสูงกว่าคนอื่น
ไม่ว่าคนไร้บ้านอยู่ที่ไหน ตัวตนของพวกเขาจะถูกมองเห็น ถูกบันทึก และถ่ายโอนเข้าสู่ฐานข้อมูลซึ่งคนไร้บ้านไม่สามารถเข้าถึง และไม่รู้ว่าจะถูกนำไปใช้อย่างไร อาจกล่าวได้ว่า ก่อนที่คนไร้บ้านจะ “หายตัวไป” พวกเขาต้องเผชิญกับการตกเป็นเป้าสายตาเป็นพิเศษ (hypervisibility) และภายใต้สายตาที่ล่วงล้ำสอดส่องนี้เองที่คนไร้บ้านโดนตีตราว่าเป็นอาชญากรอยู่ร่ำไป
หากต้องการอ่านประเด็นเรื่องกระบวนการสร้างความเป็นอาชญากรและการสอดแนมความยากจนเพิ่มเติม สามารถกดเข้าไปดูได้ใน:
- “The Social Construction of Crime”, Bradley Wright, 2007
- “แอบมองสื่อ: รายงานการศึกษาการนำเสนอภาพแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคลในสื่อมวลชนไทย 2553”, มูลนิธิไร้พรมแดน
- “High-tech homelessness”, Virginia Eubanks, 2018
- “The fallacy behind private surveillance cameras in San Francisco”, Jennifer King and Jael Makagon, 2020
- “The Rise of ‘Digital Poorhouses’”, Tanvi Misra, 2018
- “On Nextdoor, the Homeless Are the Enemy”, Rick Paulas, 2019
- “The Geography of Survival and the Right to the City: Speculations on Surveillance, Legal Innovation, and the Criminalization of Intervention”, Don Mitchell and Nik Heynen, 2009
- “Punishing the Poor: The Neoliberal Government of Social Insecurity”, Loïc Wacquant, 2009.