อาชญากรรมและการลงทัณฑ์คนไร้บ้าน (2)

ผู้เขียน: บุณิกา จูนจันทร์

ในบทความชิ้นที่แล้ว เราได้พูดถึงกระบวนการปฏิบัติกับความยากจนและภาวะไร้บ้านดุจอาชญากรรมชนิดหนึ่ง (criminalization of poverty and homelessness) โดยแตะการบังคับใช้กฎหมายและระบบยุติธรรมอาญาที่ทำให้เกิดปัญหานี้ อย่างไรก็ตาม คำว่า “อาชญากรรม” ไม่ได้เป็นเพียงคำศัพท์ที่มีความหมายตามกฎหมายเพียงอย่างเดียว และไม่ได้มีแต่เจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการทำให้ความยากจนผิดกฎหมาย 

สิ่งต่าง ๆ ที่เรามองว่าเป็นสัญลักษณ์ของอาชญากรรม/อาชญากร เป็นภาพแทนของภัยสังคม หรือทำให้เรารู้สึกไม่ปลอดภัย อยากเบือนหน้าหนี ล้วนผูกโยงกับอคติทางสังคม

หากอคติทางชาติพันธุ์และอคติทางชนชั้นทำให้ “ความเป็นต่างด้าว” และภาพของการเป็นแรงงานนอกระบบปรากฏอยู่ในพาดหัวข่าวอาชญากรรม (อาทิ “ต่างด้าวฆ่าชิงทรัพย์นายจ้าง” “ต่างด้าวขโมยเงิน”) และสัญชาติของประชาชนจากประเทศเพื่อนบ้านกลายมาเป็นเครื่องมือในการปลุกปั่นความหวาดกลัวว่าเรากำลังเผชิญกับ “สิ่งแปลกปลอมที่กำลังบุกรุกพรมแดน เจาะอำนาจอธิปไตยไทย บั่นทอนความมั่นคงแห่งชาติ” (อาทิ “เตรียมรักษา 42 ต่างด้าว ป่วยโควิดในศูนย์ตม.สะเดา ทำยอดติดเชื้อไทยพุ่ง”) การเป็นคนไร้บ้านเองก็มีที่ทางอยู่ในภาษาในชีวิตประจำวันและภาษาข่าว – ในฐานะสัญลักษณ์ของ “อันตราย” “อาชญากรรม” “ความสกปรก” “ภาชนะรองรับความเห็นใจ เมตตา เอื้ออาทร” “เดนมนุษย์” “ความล้มเหลว” และ “ส่วนเกินของสังคมที่ต้องกำจัดให้ได้” 

และด้วยมายาคติเหล่านี้เอง คนทั่ว ๆ ไปจึงตัดสินใจปฏิบัติกับคนไร้บ้านดุจเป็นอาชญากร

ปฏิบัติการสอดส่องอาชญากรรมในระดับชุมชน หรือแค่การสอดแนมคนไร้บ้าน?

ในปี ค.ศ. 2019 Rick Paulas รายงานว่า กระแสต่อต้านคนไร้บ้านในสหรัฐอเมริกากำลังรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ในพื้นที่ออนไลน์แห่งหนึ่ง ซึ่งมีชื่อเรียกว่า “Nextdoor”  

“Nextdoor” ทำหน้าที่เป็นเหมือนโซเชียลมีเดียที่ช่วยเชื่อมต่อคนในละแวกเดียวกันให้รู้จักกัน ผู้ใช้งานเว็บไซต์นี้จะต้องกรอกที่อยู่ของตัวเองเพื่อยืนยันตัวตน หลังจากนั้นคน ๆ นั้นถึงจะได้รับอนุญาตให้เข้าถึงห้องสนทนาหรือแหล่งรวมพลคนบ้านใกล้เรือนเคียง ภายในห้องสนทนานั้น

ผู้ใช้งาน Nextdoor สามารถแลกเปลี่ยนกันว่าชีวิตในชุมชนของตนเป็นอย่างไรบ้าง Nextdoor กลายเป็นพื้นที่ฟูมฟักความเป็นชุมชน  นำไปสู่การสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการบำบัดทุกข์บำรุงสุขในสังคม เช่น ตำรวจ หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน หรือหน่วยดับเพลิง

สิ่งหนึ่งที่เป็นหัวข้อใน Nextdoor คืออาชญากรรมที่เกิดขึ้นในชุมชน การเฝ้าระวังในชุมชนเพื่อระวังหลังของกันและกันเช่นนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่จะทำอย่างไร หากแนวทางการเฝ้าระวังไม่ต่างอะไรจากการเลือกปฏิบัติและการผลิตซ้ำอคติที่มีให้กับคนชายขอบ? 

ในสายตาของผู้ใช้ Nextdoor บุคคลที่มีแนวโน้มเป็นอาชญากรหรือคนนอกที่บุกรุกชุมชนอันสงบสุขคือคนไร้บ้าน มีรายงานว่า พิกัดของคนไร้บ้านถูกเผยแพร่ใน Nextdoor เพื่อให้คนหลีกหนี หรือเพื่อชี้เป้า hotspot ของอาชญากรรมและบ่อเกิดของความไม่สะอาดในละแวกชุมชน ท่ามกลางบทสนทนาต่าง ๆ ปรากฏว่ามีการสร้างภาพคนไร้บ้านบางคนให้เป็น “พวกขี้ยา” “หัวขโมย” และ “อาชญากร” โดยไม่มีมูลเหตุ ทั้งยังมีกระแสเรียกร้องให้ตำรวจเข้ามาจับกุมคนไร้บ้านในละแวกชุมชนของตน 

เนื่องจากว่า Nextdoor ไม่ใช่แพลตฟอร์มที่เปิดกว้างเท่าไหร่นัก มีเพียงผู้ใช้งานที่ลงทะเบียนพร้อมกับที่อยู่เท่านั้นที่จะใช้ได้ และผู้ที่มีแอคเคาท์ของ Nextdoor จะถูกตีกรอบให้คุยกับคนที่มีที่อยู่ใกล้เคียงกับตน ความเป็นไปได้ในการเข้าไปแก้ไขข้อมูลข่าวสารที่ปนเปื้อนอคติจึงมีอยู่จำกัด ด้วยเหตุนี้เอง Nextdoor ได้กลายเป็นชุมชนจินตกรรมของคนที่รับบทเป็นศาลเตี้ยและตำรวจจำแลง คอยสอดแนมหามนุษย์ที่ดูไม่เข้าพวก โหงวเฮ้งเหมือนโจร ปราศจากการไตร่ตรองว่าความเป็นอาชญากรในสายตาของผู้ใช้ Nextdoor ตั้งอยู่บนพื้นฐานแนวคิดเช่นไร ไม่มีระบบที่สามารถการันตีได้ว่าผู้ใช้ Nextdoor จะสามารถแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำ หากสร้างความเสียหายให้กับผู้อื่น (ซึ่งมักเกิดขึ้นไปแล้ว จากการป้อนข่าวเกี่ยวกับคนไร้บ้านให้ผู้ใช้แพลตฟอร์มคนอื่น โดยไม่ได้กลั่นกรอง)

เพื่อรักษายูโทเปียของชุมชนสุขสันต์ ดูเหมือนว่าเทคโนโลยีถูกหยิบยืมมาเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนโลกให้กลายเป็นดิสโทเปียสำหรับคนจนเสียได้ ในบทความ “The fallacy behind private surveillance cameras in San Francisco” การแพร่หลายของเทคโนโลยีสอดแนม (surveillance technology) ทำให้ชนชั้นกลางขึ้นไปสามารถ “เล่นบทบาทของ  ‘Little Brothers’ เคียงข้าง ‘Big Brother’ หรือผู้บังคับใช้กฎหมาย” ได้สะดวกมากขึ้น 

ณ ซานฟรานซิสโก นาย Chris Larsen ผู้บริหารบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีได้ลงทุนติดตั้งกล้องวงจรปิดจำนวนกว่า 1,000 พันตัวใน 135 จุดทั่วเมือง โดยมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับเมือง และลดอาชญากรรมประทุษร้ายต่อทรัพย์สิน (property crime) โดยเฉพาะการบุกรุกโจรกรรม นี่เป็นความร่วมมือระหว่างบริษัทเอกชนกับกลุ่มผู้ประกอบการท้องถิ่นที่รวมตัวกันพัฒนาเมืองในนาม “Community Benefits Districts” 

อย่างไรก็ตาม ชุมชนคนจนที่ได้รับผลกระทบจากการสอดแนม รวมไปถึงนักวิชาการและนักกิจกรรมที่รณรงค์เรื่องความเป็นธรรมทางเทคโนโลยีต่างชี้ให้เห็นว่า มาตรการสอดส่องเพื่อกำกับอาชญากรรมนั้นมีปัญหาในหลายมิติ ไม่เพียงแต่การติดกล้องวงจรปิดจะถูกนำไปใช้เพื่อกวดขันการใช้ชีวิตในพื้นที่กลางแจ้งของคนจนอย่างไม่เป็นธรรม  ข้อมูลที่ถูกกล้องจับเอาไว้ยังถูกใช้เพื่อจับกุมคนจนมากเป็นพิเศษ ในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งทางเชื้อชาติ-ชาติพันธุ์ สถานการณ์เช่นนี้แปลว่ากลุ่มคนจนที่เผชิญการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ-ชาติพันธุ์ยิ่งถูกเพ่งเล็งว่าเป็นอาชญากรมากเป็นพิเศษ และในพื้นที่ที่มีคนไร้บ้านปักหลักอยู่ นี่แปลว่าการสอดส่องและการใช้กระบวนการยุติธรรมลงโทษคนไร้บ้านยิ่งมีแนวโน้มสูงมากขึ้น 

ในหนังสือ “Punishing the Poor: The Neoliberal Government of Social Insecurity” ซึ่งเขียนโดย Loïc Wacquant หนึ่งในกระบวนการจัดการคนไร้บ้านคือการบีบบังคับให้คนไร้บ้านสูญหายไป (invisibilization of homelessness) สิ่งนี้เริ่มจากการเชื่อมโยงภาวะไร้บ้านกับความเป็นอาชญากร เพื่อที่คนไร้บ้านจะได้ถูกถอดความเป็นมนุษย์ หลังจากที่คนไร้บ้านโดนลดทอนให้เหลือเพียงสิ่งมีชีวิตหนึ่งที่ไม่มีศักดิ์ศรีเทียบเท่าพลเมือง ๆ คนอื่น ‘สิ่งมีชีวิตที่ไร้บ้าน’ จะถูกต้อนเข้าสู่กระบวนการลงทัณฑ์ทางกฎหมาย และถูกลำเลียงเข้าสู่เรือนจำที่ปิดตาย หายไปจากสังคมในที่สุด 

ด้วยการเข้ามาของเทคโนโลยีสอดแนมที่ใครก็ครอบครองได้ ดูเหมือนว่าการทำให้คนไร้บ้านหายตัวไปจะเริ่มต้นจากสิ่งที่ตรงกันข้ามกับการล่องหน กระบวนการจับจ้องสอดส่องเกิดขึ้นได้ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ในเงามืดที่แสงสังเคราะห์ล่วงไปไม่ถึง ตามเสาไฟฟ้า ตามสวนสาธารณะ ตามย่านคนจน ตามย่านของคนที่สถานะทางเศรษฐกิจ-สังคมสูงกว่าคนอื่น

ไม่ว่าคนไร้บ้านอยู่ที่ไหน ตัวตนของพวกเขาจะถูกมองเห็น ถูกบันทึก และถ่ายโอนเข้าสู่ฐานข้อมูลซึ่งคนไร้บ้านไม่สามารถเข้าถึง และไม่รู้ว่าจะถูกนำไปใช้อย่างไร อาจกล่าวได้ว่า ก่อนที่คนไร้บ้านจะ “หายตัวไป” พวกเขาต้องเผชิญกับการตกเป็นเป้าสายตาเป็นพิเศษ (hypervisibility) และภายใต้สายตาที่ล่วงล้ำสอดส่องนี้เองที่คนไร้บ้านโดนตีตราว่าเป็นอาชญากรอยู่ร่ำไป

หากต้องการอ่านประเด็นเรื่องกระบวนการสร้างความเป็นอาชญากรและการสอดแนมความยากจนเพิ่มเติม สามารถกดเข้าไปดูได้ใน:

  1. “The Social Construction of Crime”, Bradley Wright, 2007
  2. “แอบมองสื่อ: รายงานการศึกษาการนำเสนอภาพแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคลในสื่อมวลชนไทย 2553”, มูลนิธิไร้พรมแดน 
  3. “High-tech homelessness”, Virginia Eubanks, 2018 
  4. “The fallacy behind private surveillance cameras in San Francisco”, Jennifer King and Jael Makagon, 2020
  5. “The Rise of ‘Digital Poorhouses’”, Tanvi Misra, 2018
  6. “On Nextdoor, the Homeless Are the Enemy”, Rick Paulas, 2019
  7. “The Geography of Survival and the Right to the City: Speculations on Surveillance, Legal Innovation, and the Criminalization of Intervention”, Don Mitchell and Nik Heynen, 2009 
  8. “Punishing the Poor: The Neoliberal Government of Social Insecurity”, Loïc Wacquant, 2009.