เปิด “หัวใจ” คนไร้บ้าน
มองเรื่อง “คนไร้บ้าน” ผ่านแว่นจิตวิทยา กับดร. เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช อาจารย์ประจำคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เรื่อง: ธารริน อดุลยานนท์
“คนไร้บ้าน” คือประเด็นที่เราเรียนรู้และทำความเข้าใจได้จากหลายมุมมอง หนึ่งในนั้นคือมุมมองจากด้านจิตวิทยาซึ่งเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับจิตใจคน เพราะเมื่อพูดถึงเรื่องนี้ คำสำคัญคำหนึ่งที่เชื่อมโยงอยู่ด้วยกันคือ “หัวใจ” หนึ่งแง่มุมสำคัญที่น่าสนใจคือ เมื่อลืมตาตื่นแล้วพบว่าตัวเองกลายเป็นคนไร้บ้าน นอกจากร่างกายที่ต้องเผชิญความยากลำบาก หัวใจของเราก็เช่นกัน
วันนี้เราจึงชวนดร.เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช หรืออาจารย์เจนนิเฟอร์จากคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในทีมงานของแผนงานพัฒนาองค์ความรู้ฯ คนไร้บ้าน สสส. มานั่งพูดคุยเรื่อง “คนไร้บ้าน” ในมุมมองจิตวิทยา เมื่อลองสวมแว่นนี้มอง “คนไร้บ้าน” รับรองว่าคุณจะเข้าใจพวกเขามากขึ้นกว่าเดิม
พวกเขาที่มีหัวใจไม่ต่างจากเรา
#PenguinHomeless #คนไร้บ้าน #Homeless #HumanofStreet
ในมุมมองเชิงจิตวิทยา “บ้าน” หมายถึงอะไรและสำคัญกับคนยังไง?
“ความหมายของบ้านในภาษาไทยเราอาจไม่ชัดเจนเหมือนภาษาอังกฤษ ของอังกฤษจะมีทั้งคำว่า House และ Home คำว่า House นั้นอธิบายถึงบ้านที่เป็นสิ่งจับต้องได้ แต่คำว่า Home ในมุมของนักจิตวิทยาคือพื้นที่ที่เรารู้สึกปลอดภัย เป็นตัวเองได้เต็มที่ ซึ่งสิ่งที่อยากเพิ่มเติมโดยส่วนตัวคือ บางทีเราพูดถึงบ้านที่อบอุ่น ก็จะนึกถึงภาพพ่อแม่ลูก แต่ที่จริงแล้ว เราคิดว่าบ้านไม่จำเป็นต้องประกอบด้วยพ่อแม่ลูกเท่านั้น แต่เป็นพื้นที่ที่เรารู้สึกปลอดภัย เป็นในสิ่งที่เป็นได้ บ้านอาจหมายถึงเรากับคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวหรือคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวก็ได้”
“สำหรับความสำคัญของบ้าน ในทางทฤษฎี ความต้องการพื้นฐานของชีวิตเราขั้นแรกคือสิ่งที่ตอบโจทย์ทางชีวภาพของชีวิตได้อย่าง ยา อาหาร และการนอนหลับ แต่สิ่งที่เหนือขึ้นมาเป็นความต้องการขั้นที่ 2 คือ ความมั่นคงและความปลอดภัย เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่าบ้านสำคัญไหม มันเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ และเราเองก็มองว่าบางทีเวลาไปทำกิจกรรมต่างๆ นอกบ้าน เราไม่สามารถเป็นตัวเองอย่างที่ต้องการได้ แต่บ้านคือพื้นที่ให้ได้ระบายความเครียดความทุกข์ผ่านกิจกรรมหรือพื้นที่ที่เราชอบ บ้านจึงเป็นพื้นที่ที่เราเกิดความผูกพันทางใจ เพราะช่วยในทางด้านอารมณ์และความรู้สึก ”
ภาวะไร้บ้านส่งผลต่อจิตใจคนยังไงบ้าง?
“ภาวะไร้บ้านมีผลเสียต่อจิตใจ โดยส่วนใหญ่คนไร้บ้านจะดำเนินชีวิตด้วยความตึงเครียดกว่าคนมีบ้าน เพราะต้องคิดมากกว่าคนอื่นว่าวันนี้จะกินอะไร จะพาลูกไปนอนที่ไหน โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ยังต้องการใช้ชีวิตต่อไป ซึ่งความเครียดที่เกิดจะสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เราเกิดความวิตกกังวล เกิดโรคซึมเศร้า รวมถึงอาจหมดกำลังใจได้ ยิ่งคนอยู่ในภาวะไร้บ้านนาน เลยยิ่งเสี่ยงต่อการมีปัญหาทางสุขภาพใจ นอกจากนั้น คนไร้บ้านอาจเกิดอาการหลีกตัวออกจากสังคมเนื่องจากรู้สึกว่าไม่ได้เป็นส่วนหนึ่ง เขาเรียกว่าไม่ได้รับการสนับสนุนทางสังคม ซึ่งพอตัดขาดจากสังคมก็ทำให้เกิดความเครียดจนคิดว่าตัวเองไม่มีค่า ทำประโยชน์ให้สังคมไม่ได้ ความรู้สึกไม่มีค่าก็เป็นปัญหาทางสุขภาพใจอย่างหนึ่ง”
“อีกเรื่องหนึ่งที่คนอาจพูดถึงกันน้อยคือการตีตราหรือ Stigma เราจะคิดว่ามันคือการที่สังคมตีตราคนไร้บ้าน แต่ที่จริงจะมีคำว่า “Internalized Stigma” คือการที่เราคิดว่าคนอื่นตีตราเรา จนเราเองเชื่อในตรานั้น เช่น ถ้าเราคิดว่าคนอื่นมองเราว่าเป็นคนสกปรก พอคิดอย่างนั้นเรื่อยๆ เราก็จะคิดว่าตัวเองสกปรก ทีนี้ปัญหาก็จะเกิด เพราะพอเราเชื่อในตรานั้นก็อาจไม่ต้องการออกจากตราที่ให้กับตัวเอง ซึ่งมีงานวิจัยของต่างชาติบอกว่า คนไร้บ้านที่เลือกตีตราตัวเองว่าฉันเป็นคนไร้บ้าน ทั้งที่เขาเห็นคุณค่าในตัวเอง แต่กลับพึงพอใจในชีวิตน้อยกว่าคนที่คิดว่ายังไงก็จะไม่เรียกตัวเองว่าเป็นคนไร้บ้าน ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่าทำไมสิ่งนี้ถึงเกิดขึ้น”
การมีสภาพจิตใจแย่ลงส่งผลต่อชีวิตคนไร้บ้านมากน้อยแค่ไหน?
“ผลกระทบจากการมีสภาพใจแย่ลงมีหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล แต่ละปัจจัย บางคนอาจเลือกอยู่เฉยๆ รอให้ชีวิตผ่านไปเพราะไม่เห็นเป้าหมายว่าตัวเองมีชีวิตไปทำไม อีกกลุ่มหนึ่งอาจมีพฤติกรรมก้าวร้าวซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติของโรคทางใจ หรือจากภาวะตึงเครียด เหมือนบางทีเราขับรถแล้วหงุดหงิดก็ก้าวร้าวขึ้นมา และอีกกลุ่มหนึ่งที่มีเยอะคือ กลุ่มที่มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการไปพึ่งสารเสพติด แอลกอฮอล์ รวมถึงพฤติกรรมเสี่ยงอื่นๆ เพราะถ้าเรารู้สึกไม่พึงพอใจในชีวิต ไม่มีความสุข ก็อาจต้องการบางสิ่งมากระตุ้นให้ชีวิตมีสีสันมากขึ้น รวมถึงมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องการสังคม การมีคนอื่นสนับสนุนหรืออยู่เคียงข้างเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น พอจุดนั้นไม่ได้ถูกเติมเต็มก็จะเหมือนขาด แล้วก็อาจต้องไปหาที่พึ่งทางอื่น อย่างการไปพึ่งแอลกอฮอล์หรือสารเสพติด มันเหมือนทำให้เราลืมปัจจุบันไปได้สักระยะ หรือตื่นขึ้นมาแล้วแฮงก์ เราก็อาจยังไม่มีอารมณ์มาคิดเรื่องปัญหาตัวเองเท่าไหร่”
แล้วการที่สภาพใจคนไร้บ้านย่ำแย่ส่งผลต่อสังคมยังไง?
“คนอาจคิดว่าคนไร้บ้านจะก้าวร้าวแล้วทำให้เราลำบาก อย่างที่บอกว่ามันไม่ใช่ทุกคน แต่เราอาจมองได้ว่าทั้งภาวะไร้บ้านในภาพรวมและภาวะจิตใจที่แย่ลง อาจทำให้คนไร้บ้านที่อาจมีความรู้ มีศักยภาพที่จะทำงาน สร้างประโยชน์ต่อสังคม ไม่อาจแสดงศักยภาพออกมาได้เต็มที่”
เราจะช่วยดูแลสุขภาพใจของคนไร้บ้านได้ยังไง?
“สำหรับการดูแลสุขภาพใจคนไร้บ้านในภาพรวม โมเดลที่เรามองคือ ควรให้การสนับสนุนและรักษาสุขภาพกายใจกับคนไร้บ้าน ในเวลาเดียวกันก็ควรเสริมทุนทางจิตอย่างการสร้างจุดแข็งและฝึกเรื่องความยืดหยุ่นหรือ Resilience ที่ทำให้เวลาล้ม เวลาเจออุปสรรค เขายืนขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง”
“นอกจากนั้น การให้โอกาสของสังคมสำคัญกับคนไร้บ้านมาก เพราะคนเราอยู่คนเดียวไม่ได้ และการให้โอกาสก็เหมือนให้เขาได้ทำในสิ่งที่อยากทำ และเพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าเปิดโอกาสอะไรก็ได้ ต้องเป็นโอกาสที่เหมาะกับเขา เรายังอยากเลือกทำสิ่งที่ต้องการเลย เขาก็เหมือนกัน แต่ขณะเดียวกัน มันก็เป็นสิ่งที่ท้าทาย เพราะคนไร้บ้านจำนวนหนึ่งก็อาจเกิดความสับสนว่าตัวเองต้องการอะไร อยู่ที่จุดไหนในสังคม แล้วจะไปถึงจุดไหนได้บ้าง เราก็ต้องหาวิธีสำรวจความต้องการของเขาและความเหมาะสมไปพร้อมกัน เหมือนเราเรียนรู้จากเขา และเขาก็อาจเรียนรู้จากตัวเองไปด้วย”
“สำหรับคนทั่วไป การทำความเข้าใจและให้โอกาสคนไร้บ้านเป็นสิ่งที่ช่วยดูแลจิตใจเขาได้ การคุยกับเขาก็เหมือนกัน แต่ต้องเข้าใจว่าจะคุยแบบไหน ไม่ใช่ไปนั่งคุยกับเขาแล้วทำท่ากลัวเขา สิ่งที่สำคัญเสมอคือความเข้าใจที่ถูกต้อง เราอาจลองถามคนที่รู้ ลองไปเป็นอาสาสมัครทำงานเกี่ยวกับคนไร้บ้านดู หรือเข้าไปในศูนย์ที่เขายื่นมือช่วยเหลือคนไร้บ้านอยู่ จากนั้นใครที่อยากเตรียมความพร้อมด้านการคุยกับคนไร้บ้าน ลองไปคุยกับกลุ่มคนไร้บ้านที่เรารู้สึกว่าคุยได้ง่ายหน่อยก่อน เพื่อเข้าใจพื้นฐาน ความคิดความต้องการ และพฤติกรรมของพวกเขา”