“1 ชีวิต” ที่ไม่ใช่แค่ตัวเลขทางสถิติของคนไร้บ้าน

“1 ชีวิต” ที่ไม่ใช่แค่ตัวเลขทางสถิติของคนไร้บ้าน 

มองเรื่อง “คนไร้บ้าน” ผ่านแว่นเศรษฐศาสตร์ กับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีระ ตั้งธรรมรักษ์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธานี ชัยวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์

เมื่อพูดถึง “นักเศรษฐศาสตร์” คนภายนอกอาจคิดว่าพวกเขาคือคนที่มองทุกอย่างเป็นตัวเลข 

แต่หลังจากเรานั่งลงสนทนากับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีระ ตั้งธรรมรักษ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธานี ชัยวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พวกเขาบอกว่า เศรษฐศาสตร์คือศาสตร์ที่พยายามศึกษาวิถีชีวิตของมนุษย์ มองลึกไปถึงปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิต และมากกว่านั้นคือ มองลึกไปกว่าต้นทุน กำไร และตัวเลขสถิติทั้งหลายบนหน้ากระดาษ

เพราะอย่างนี้ เมื่อเราชวนพวกเขาคุยเรื่อง “คนไร้บ้าน” ซึ่งเป็นประเด็นที่พวกเขาได้มีโอกาสคลุกคลีและทำการวิจัย เราจึงได้เห็นการสำรวจทั้งต้นตอปัญหา ผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ ทางออกที่ควรเป็น 

และมุมมองต่อคนไร้บ้านในฐานะ “1 ชีวิต” ที่ไม่ใช่แค่ “ตัวเลข” บนหน้ากระดาษ

 

ในทางเศรษฐศาสตร์ การมีอยู่ของคนไร้บ้านในเมืองไทยสะท้อนถึงอะไร?

อาจารย์พีระ : ปัญหาคนไร้บ้านของไทยสะท้อนถึงการทับซ้อนกันระหว่าง 2 ปัญหาคือ ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาครอบครัว โดยมีปัญหาเศรษฐกิจเป็นหลัก (Necessary Condition) และมีปัญหาครอบครัวเป็นปัจจัยขยายผล (Sufficient Condition)  เช่น ถ้าเราตกงาน มีปัญหาเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวแต่ครอบครัวยังอบอุ่น เราก็ยังไม่เป็นคนไร้บ้านในทันที หรือมองอีกมุมหนึ่ง ถ้าเรามีปัญหาครอบครัวแต่ยังมีงานทำ เราก็ยังสามารถรับผิดชอบต่อตนเองและสังคมได้ ดังนั้นเรื่องงานจึงนับเป็นปัจจัยที่สำคัญ

 

อาจารย์ธานี : แว่นเศรษฐศาสตร์จะพยายามอธิบายการกลายเป็นคนไร้บ้านผ่านการมีงานทำ เพราะงานไม่ใช่แค่การแสวงหารายได้ แต่คือความภูมิใจ คือศักดิ์ศรี คือเพื่อน คือการที่เราจะมีสังคมที่มีสิทธิ์อย่างเท่าเทียมกับคนอื่น มีศักดิ์ศรีเหมือนคนอื่นด้วย

 

อาจารย์พีระ : อย่างที่อาจารย์ธานีบอกคือ ในสังคมไทยการมีงานทำถือเป็นหน้าเป็นตา เป็นเกียรติอย่างหนึ่ง ดังนั้น หากตกงานแต่มีครอบครัวสนับสนุน ในช่วงแรกยังไม่เป็นคนไร้บ้าน แต่ถ้ายังคงตกงานต่อไปอาจนำมาสู่ปัญหาครอบครัวได้ หรือในกรณีที่มีปัญหาครอบครัวอยู่แล้วหรือครอบครัวอยู่ต่างจังหวัด เข้ามาทำงานในกรุงเทพ แล้ววันหนึ่งตกงานหรือมีอายุมากขึ้นไม่สามารถที่จะทำงานที่ต้องใช้แรงงานเหมือนเดิมได้ จึงกลายเป็นคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ แม้ว่าจะมีบ้านที่ต่างจังหวัดก็ตาม

อาจารย์ธานี : ทีนี้ถ้าเราจะมองปัญหาคนไร้บ้านในมิติเศรษฐศาสตร์จริงๆ มันจะไม่ใช่แค่ปัญหาคนไร้บ้าน แต่ปัญหานี้เป็นปลายทางที่สุดของปัญหาเศรษฐกิจและสังคมซึ่งเกิดควบคู่กัน เพราะฉะนั้นแปลว่าสังคมต้องมีปัญหาหนักมากจนทั้งสองกลไกนี้เกิดขึ้นพร้อมกัน จำนวนคนไร้บ้านเลยเป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพของสังคมแบบหนึ่ง

 

สถานการณ์คนไร้บ้านในเมืองไทยกับต่างประเทศต่างกันมากน้อยแค่ไหน?

 

อาจารย์ธานี :  เวลาเราพูดถึงคนไร้บ้าน ต้องกลับมาตอบคำถามก่อนว่า บ้านคืออะไร บ้านในสังคมไทยกับสังคมตะวันตกไม่เหมือนกัน บ้านในสังคมตะวันตกคือสถานที่ทางกายภาพซึ่งปกป้องเขาได้ในฤดูหนาวที่หนาวมาก และในฤดูร้อนที่ร้อนจัดจนเขาอาจสูญเสียน้ำอย่างรวดเร็วเกิดฮีทสโตรก รวมถึงภายใต้สังคมที่เป็นปัจเจกมาก เขาจะไม่ได้มองบ้านในเชิงความสัมพันธ์เท่ากับสังคมไทย ทีนี้กลับมาพูดถึงบ้านในความหมายของคนไทย  บ้านของเราไม่ต้องมีพื้นที่ปิดก็ได้ อาจจะไม่มีกำแพงเลย แต่ต้องมีครอบครัวอยู่ เพราะฉะนั้น บ้านในความหมายของไทยคือ สิ่งที่คุ้มกันเราที่ไม่ใช่บ้านทางกายภาพ แต่คือบ้านทางใจ คือครอบครัว เพราะฉะนั้นเวลาเราพูดถึงคนไร้บ้าน ในสังคมไทยกับสังคมตะวันตกจะไม่เหมือนกัน ซึ่งในต่างประเทศจะมีคนไร้บ้านในเมืองจำนวนหนึ่งที่เป็นคนไร้บ้านโดยสมัครใจ แต่ว่าถ้าเราเปรียบเทียบกับกรณีเมืองไทย ผมเชื่อว่าคนไร้บ้านในเมืองไทยส่วนมาก เริ่มจากความไม่สมัครใจ เพราะในวัฒนธรรมของสังคมไทย บ้านไม่ใช่อาคาร แต่มันคือความอบอุ่น คือครอบครัว คือกลุ่มคน บ้านมีความหมายทางใจมากกว่าทางกาย การที่เขาจะต้องออกมาจากบ้านเพื่ออยู่คนเดียว มันจึงหมายความว่าต้องมีปัญหาอย่างที่สุด

 

แล้วการขยายตัวของเมืองมีผลกับปัญหาคนไร้บ้านอย่างไร?

 

อาจารย์ธานี : ความเป็นเมืองไม่ใช่แค่เมืองในทางกายภาพ แต่เป็นเรื่องของการแข่งขันแสวงหาโอกาสในตลาดแรงงานต่างๆ ซึ่งในมิติเศรษฐศาสตร์ เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ความเป็นเมืองสัมพันธ์กับคนไร้บ้านคือ เมืองดึงดูดคนเข้ามาแสวงหาโอกาสที่นี่ แต่เมื่อการแข่งขันเริ่มสูงขึ้น ความเสี่ยงเยอะขึ้น จึงต้องการความสามารถมากขึ้น คนที่มีศักยภาพน้อยก็จปรับตัวไม่ได้ หางานไม่ได้และเข้าไม่ถึงงาน เขาก็กลายเป็นคนที่ไม่มีงานทำในเมือง และถ้ากลับบ้านไม่ได้ ก็จะกลายเป็นคนไร้บ้านในที่สุด 

 

ทีนี้ถ้านึกภาพต่อว่า การสำรวจ พบว่า คนไร้บ้านในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย อายุมาก ที่เคยทำงานโดยใช้แรงกายมาก่อน พอเริ่มแก่ แรงหมด ก็ไม่มีศักยภาพทำต่อ กลับบ้านไม่ได้ ก็กลายเป็นคนไร้บ้าน ภาวะนี้สะท้อนมาจาก 2 ปัญหาคือ การถูกกดรายได้ในวัยหนุ่มจนไม่สามารถสะสมทุนได้ และอาชีพ ของคนระดับล่างที่ไม่มี career path ไปสู่ professional skill ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของตลาดแรงงานไทย พอหมดอาชีพ แล้วเขากลับบ้านได้ไหม หลายคนกลับบ้านไม่ได้เพราะเหตุผลของความเป็นพ่อ ความเป็นผู้ชายที่เคยหาเลี้ยงดูที่บ้าน ถ้ากลับไปมันต้องไปเป็นภาระ เพราะฉะนั้น คนพวกนี้ก็จะอยู่ในเมืองและค่อยๆ กลายเป็นคนไร้บ้านในที่สุด 

 

ในงานวิจัยของพวกคุณเน้นไปที่ประเด็น ‘คนไร้บ้านหน้าใหม่’ คนกลุ่มนี้คือใคร น่าสนใจอย่างไร? 

 

อาจารย์พีระ : กลุ่มคนไร้บ้านหน้าใหม่คือ กลุ่มคนที่อยู่ในระหว่างการตัดสินใจว่าจะเป็นคนไร้บ้านหรือไม่ หรือเพิ่งมาเป็นคนไร้บ้านได้ไม่นาน ซึ่งพอเราไปทำวิจัยจริงก็พบว่า คนที่ไร้บ้านยังไม่ถึง 1 ปีมีพฤติกรรมและความต้องการที่จะกลับไปใช้ชีวิตอย่างปกติแตกต่างจากกลุ่มที่เป็นคนไร้บ้านมานานกว่า 1 ปีอย่างชัดเจน เราพบว่ากลุ่มคนที่ไร้บ้านมา 2-3 ปีจะมีกิจวัตรเหมือนเดิมไม่ต่างจากคนทั่วไปคือ ตื่นมากินข้าวที่นี่ เย็นไปนั่งตรงนั้น แต่กลุ่มที่เราพบว่าวิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญคือกลุ่มที่เพิ่งไร้บ้านได้ไม่ถึง 1 ปี เราพบว่าครั้งแรกที่ไปเจอ เขาบอกว่าวันนี้เขาพยายามไปหางาน พอไปเจอครั้งที่สอง เขาบอกว่าได้ลองกลับไปขอความช่วยเหลือจากญาติที่บ้าน แสดงให้เห็นว่าเขาพยายามที่จะกลับบ้าน หรือกลับไปใช้ชีวิตปกติ

 

นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมกลุ่มคนไร้บ้านหน้าใหม่สำคัญมาก เพราะพวกเขาคือกลุ่มที่ยังปรับตัวกับชีวิตไร้บ้านไม่ได้และต้องการจะกลับบ้านสูงที่สุด ดังนั้นถ้าภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องการให้ความช่วยเหลือคนไร้บ้าน การเข้าไปให้ความช่วยเหลืออย่างเร็วที่สุดจะเป็นโอกาสที่ช่วยคนไร้บ้านกลับสู่สังคมได้มากขึ้น 

 

ผลกระทบของปัญหาของคนไร้บ้านคืออะไร?

อาจารย์ธานี : ผมคิดว่าการมองผลกระทบของปัญหาคนไร้บ้านนั้น อยู่ที่สังคมจะให้คุณค่าว่า คนไร้บ้านเป็นเพียง ‘คนหนึ่งคน’ ในคนไทย 70 ล้านคน หรือคนไร้บ้านเป็น ‘คนคนหนึ่ง’ ที่มีชีวิตและจิตใจของความเป็นมนุษย์ การมองเขาเป็นคน 1 คน หมายความว่าเขาคือ 1 คนในประชากรไทยเกือบ 70 ล้านคน ซึ่งคนไร้บ้านโดยรวมก็ไม่ได้มีเยอะมาก เพราะฉะนั้น ก็จะไม่เห็นว่ามีปัญหาอะไร แต่ถ้าสังคมมองว่าเขาเป็นคนคนหนึ่ง ผมคิดว่าสิ่งที่หายไปและส่งผลกระทบต่อคนไร้บ้านที่สุดคือ ใจเขาหายไป ชีวิตคนคนหนึ่งหายไป และมันหายไปเพราะถูกกระทำจากสังคม เพราะเขาเกิดมาอยู่ภายใต้โครงสร้างการทำงานที่เคยถูกกดขี่ สะสมทุนไม่ได้ มีปัญหาครอบครัว และที่สำคัญ เขาเป็นตัวชี้วัดของการเกิดปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาครอบครัวร่วมกัน ผมว่าสิ่งนี้เป็นโจทย์ที่สังคมต้องตอบ ซึ่งในประเทศที่มีการพัฒนาทางสังคมค่อนข้างดี เขาให้ความสำคัญกับชนกลุ่มน้อย ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน เพราะเขามองคนเป็นคนคนหนึ่ง มองว่าชีวิตคนเหล่านี้ถูกกระทำ เขาไม่ได้เลือกเกิดมาเป็นแบบนั้น เพราะฉะนั้น สังคมต้องให้ความสำคัญ จะมองว่าคนเราไม่เท่าเทียมกันโดยโชคชะตาฟ้าลิขิตไม่ได้ โจทย์อยู่ที่ว่าเราให้คุณค่ากับมุมมองแบบไหนมากกว่า

 

และในมุมมองนักเศรษฐศาสตร์ ถ้าเรามองคนเป็นแค่แรงงาน 1 คนในกำลังแรงงานหลายสิบล้านคน คนคนนั้นก็ไม่ได้มีราคาอะไรมาก แต่ถ้าเรามองความมีชีวิตของคนมีมูลค่าที่ไม่ใช่การเสียภาษีให้กับภาครัฐ แต่มีมูลค่ากับพี่ป้าน้าอา กับคนรอบข้าง มันจะเป็นมูลค่าที่ประเมินไม่ได้ซึ่งมหาศาล 

 

สิ่งที่รัฐควรทำเพื่อแก้ปัญหานี้คืออะไร?

อาจารย์พีระ :  ต้องมองเป็นภาพกว้าง และไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาหนึ่งจะแก้ได้ทั้งระบบ สำหรับคนที่ยังไม่ได้เป็นคนไร้บ้านแต่มีความเสี่ยง หรือกลุ่ม Pre-Homeless วิธีการแก้ปัญหาต้องเป็นนโยบายที่เกี่ยวข้องกับนโยบายที่ป้องกันปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการประกันรายได้ การเสริมสร้างศักยภาพในการทำงาน คือหาช่องทางในการสะสมทุนให้กับเขา เพื่อเป็นตาข่ายรองรับความเสี่ยงในยามที่เขาเกษียณ หรือในยามที่เขาทำงานด้วยแรงงานไม่ไหว

 

ส่วนกลุ่มที่เป็นคนไร้บ้านไปเรียบร้อยแล้ว อย่างแรกที่ต้องทำคือ ต้องดูก่อนว่ามีใครที่เราจะช่วยให้กลับคืนสู่สังคมได้ แล้วภาครัฐก็ต้องเข้าไปช่วยผลักดันให้เขากลับคืนสู่สังคมแล้วรับผิดชอบตัวเองได้ ซึ่งเมื่อเราถามคนไร้บ้านหน้าใหม่ว่า ณ ตอนนี้ต้องการอะไรมากที่สุด ก็พบว่าร้อยละ 50 ระบุว่าอยากมีงานทำ รองลงมาร้อยละ 21 อยากมีบ้านเป็นของตัวเอง เราก็มองในทางเศรษฐศาสตร์ว่า งานน่าจะเป็นก้าวแรกที่สำคัญซึ่งจะทำให้คนไร้บ้านหน้าใหม่ตั้งหลักได้ ขณะที่คนไร้บ้านอีกกลุ่มที่มีอาการป่วย ดูแลตัวเองไม่ได้แล้ว รัฐก็ต้องลองดูว่ามีงานอะไรเบาๆ ให้เขาทำได้ไหม ถ้าไม่ได้ เราก็ต้องดูแลเขา 

 

แล้วสังคมเองจะช่วยคนไร้บ้านได้อย่างไร?

อาจารย์พีระ : คำถามคือสังคมมองคนไร้บ้านอย่างไร เข้าใจว่าคนไร้บ้านคือใคร เราเคยไปถามคนทั่วไปถึงทัศนคติต่อคนไร้บ้าน บางคนก็เข้าใจผิด เช่น ส่วนใหญ่เข้าใจว่าคนไร้บ้านคือ คนที่มีปัญหาทางจิต และพอถามว่าอยากช่วยคนไร้บ้านไหม คำตอบคือเขาอยากช่วยในแง่การบริจาค แต่ถ้าถามว่าอยากจ้างคนไร้บ้านไหม เขาไม่อยากจ้าง เพราะยังไม่เข้าใจคนไร้บ้าน แต่ถ้าเรามองว่าคนไร้บ้านคือคนที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจและครอบครัว และมีคนไร้บ้านซึ่งพร้อมหางาน พร้อมกลับไปใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไป แล้วอาจจะเปิดกว้างรับเขามาช่วยงาน มันก็เพิ่มโอกาสในการทำงานของคนไร้บ้าน ซึ่งช่วยให้เขาตั้งหลักเพื่อเตรียมพร้อมกลับสู่สังคมได้

 

งานวิจัยของคุณมีการทำแบบจำลองเพื่อวิเคราะห์เทรนด์ที่อาจส่งผลต่อปัญหาคนไร้บ้าน เทรนด์เหล่านี้คืออะไร และผลการวิเคราะเป็นอย่างไร? 

 

อาจารย์พีระ : ขอเล่าให้ฟังก่อนนิดนึงว่า ในงานวิจัยของเรา เราอยากทำดัชนีชี้วัดความเปราะบางในการเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์จะมีเครื่องมือเรียกว่า แบบจำลองทางเศรษฐมิติ มองง่ายๆ ว่ามันคือสมการทางคณิตศาสตร์และสถิติอย่างหนึ่งซึ่งพอเราใส่ตัวเลขเข้าไปแล้ว มันจะคาดเดาค่าบางอย่างออกมา

 

 สิ่งหนึ่งที่เราพยายามทำคือ นำเทรนด์ที่สังคมจับตามาใส่ในแบบจำลองเพื่อพยากรณ์สถานการณ์ของการไร้บ้าน เทรนด์แรกคือสังคมผู้สูงอายุ เราจำลองสถานการณ์ดูว่าถ้าเมืองไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จะมีคนไร้บ้านเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ แบบจำลองก็คำนวณออกมาว่าจะมีคนไร้บ้านเพิ่มขึ้นประมาณ 5.7 เปอร์เซนต์จากเดิมที่มีอยู่ 1,300 คน  เทรนด์ถัดมาคือเราเคยเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 เราก็ลองดูว่าถ้าเกิด GDP ตกลงเหมือนปีนั้นอีก หรือถ้าประเทศเราเกิดวิกฤติเศรษฐกิจอีกจะเกิดอะไรขึ้นกับคนไร้บ้าน แบบจำลองก็ทำนายออกมาว่า จะมีคนไร้บ้านเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 1,300 คน เป็น 6,000 คน ถัดมาเราก็ดูเรื่องของสวัสดิการ เราก็จำลองว่าถ้ารัฐยกเลิกสิทธิ์ในการรักษาพยาบาล คนไร้บ้านจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง แบบจำลองก็ทำนายว่าจะมีคนไร้บ้านเพิ่มขึ้นเกือบ 8 พันคน แล้วเราก็ลองจำลองสถานการณ์ที่เป็นบวกดูบ้างคือ เรื่องบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เราจำลองสถานการณ์ดูว่า ถ้าประชาชนที่สมควรได้รับบัตรสวัสดิการเข้าถึงบัตรทุกคน และมีรายได้เพิ่มตามสิทธิ์จะเป็นอย่างไร แบบจำลองก็ทำนายออกมาว่าจำนวนคนไร้บ้านจะลดลง

 

แบบจำลองอาจจะไม่ได้ทำนายออกมาแม่นยำร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่สิ่งที่บอกเราได้ คือ เราจะเห็นเทรนด์ต่างๆ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยง รวมทั้งแนวโน้มและทิศทาง เช่น กรณีสังคมผู้สูงอายุ  ซึ่งอย่างที่บอกว่า สาเหตุหนึ่งของการไร้บ้านคือพออายุมากขึ้นจนทำงานใช้แรงงานไม่ได้ แล้วไม่ได้มีการสะสมสกิล ไม่ได้มีการสะสมทุนมาตั้งแต่ช่วงวัยหนุ่มก็จะกลายเป็นคนไร้บ้าน ถัดมาในเรื่องของวิกฤติเศรษฐกิจ การที่วิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจเสี่ยงจะเพิ่มปัญหาคนไร้บ้านก็เพราะวิกฤติกระทบต่อรายได้ ต่อการทำงาน ถ้าร้านค้าปิด บริษัทปิด คนก็ตกงานและเสี่ยงที่จะเป็นคนไร้บ้าน ส่วนเรื่องสิทธิในการรักษาพยาบาล ถ้ามองในมุมเศรษฐศาสตร์ ประเทศไหนมีสวัสดิการที่ดีก็จะเป็นตาข่ายที่ดีในการรองรับความเสี่ยงไม่ให้คนไร้บ้าน ในขณะเดียวกันที่เราลองจำลองสถานการณ์เรื่องของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เนื่องจากการที่รัฐแจกบัตรสวัสดิการเปรียบเสมือนการเพิ่มรายได้ให้กับคน พอมีบัตรก็เอาไปซื้อของได้ ก็มีเงินก้อนนึงเข้ามาช่วยสนับสนุนการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนั้นถ้ามีรายได้เพิ่มขึ้น โอกาสในการเป็นคนไร้บ้านก็จะน้อยลง 

ผลการศึกษาทางเศรษฐศาสตร์ไม่ใช่ออกมาเป็นเพียงแค่ตัวเลข แต่จะช่วยให้เราเข้าใจตรรกะและความเป็นเหตุผลมากขึ้น รวมทั้งแสดงให้เห็นถึงหลักฐานเชิงประจักษ์ในประเด็นของคนไร้บ้านว่า การมีงานทำ รายได้ การออมและการสะสมทุน การมีทักษะการทำงานเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงเมื่ออายุมากขึ้นหรือรองรับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ตลอดจนการมีสวัสดิการที่ดี จะเป็นการป้องกันไม่ให้ ‘คนคนหนึ่ง’ ต้องกลายมาเป็น ‘คนไร้บ้าน’ อีกในอนาคต