รายงานชิ้นนี้ได้จัดทำขึ้นภายใต้ความร่วมมือของคณะทำงานเครือข่ายคนไร้บ้านจาก 4 ภูมิภาค 5 พื้นที่ ได้แก่ เชียงใหม่ กรุงเทพ-รังสิต-นนทบุรี กาญจนบุรี ระยอง และ ขอนแก่น เป็นการสุ่มเก็บตัวอย่างคนไร้บ้านที่อาศัยบนพื้นที่สาธารณะโดยคณะทำงานจากเก็บแบบสอบถามผ่านระบบ Google Forms ระหว่างวันที่ 3 – 8 พฤษภาคม 2564 ซึ่งสามารถเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างได้จำนวน 165 คน การเก็บข้อมูลชุดนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอข้อมูลสถานการณ์คนไร้บ้านในช่วงการระบาดของโรคโควิด – 19 ระลอก 3 แบบเร่งด่วนในเบื้องต้น และ นำเสนอข้อเสนอแนะในการร่วมกันแก้ไขสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด – 19 ต่อกลุ่มคนไร้บ้าน
จากการสำรวจพบว่าประชากรคนไร้บ้านโดยส่วนมากจะเป็นเพศชาย และอยู่ในช่วงอายุ 36 – 60 ปี ทั้งนี้ประชากรคนไร้บ้านร้อยละ 33 ยังไม่มีบัตรประชาชนหรือเคยมีแต่สูญหาย ซึ่งจากการไม่มีบัตรประชาชนหรือการไม่มีสถานะทางทะเบียน ประกอบกับช่วงอายุที่มากขึ้นจะส่งผลให้คนกลุ่มเหล่านี้เข้าไม่ถึงสิทธิสวัสดิการในระบบสาธารณสุข
จากข้อมูลในการใช้ระบบสาธารณสุขจะพบว่าคนไร้บ้านกว่าร้อยละ 43 เลือกที่จะใช้สิทธิการรักษานอกระบบ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการที่เขาหรือเธอนั้นไม่มีสถานะที่จะเข้าถึงระบบประกันสุขภาพได้ และที่น่าเป็นห่วงคือ มีคนไร้บ้านถึงร้อยละ 18 ที่ไม่รับการรักษา ปล่อยให้หายป่วยเอง ยิ่งไปกว่านั้น ภายใต้สถานการณ์การระบาดนี้จะพบว่าคนไร้บ้านส่วนมากจะเปลี่ยนหน้ากากอนามัยอยู่ที่ 2 – 3 วันเปลี่ยนครั้ง และแหล่งที่มาโดยส่วนมากจะเป็นการรับมอบจากภาคประชาสังคม และหน่วยงานของภาครัฐ (พม.) ในบางพื้นที่เป็นสำคัญ ดังนั้นข้อมูลส่วนนี้จึงชี้ให้เห็นว่ามีคนไร้บ้านอีกจำนวนมากที่ยังไม่สามารถเข้าถึงหน้ากากอนามัยที่พร้อมจะสามารถป้องกันโรคได้อย่างเต็มที่ สืบเนื่องจากแหล่งที่มาหลักของหน้ากากอนามัยของคนไร้บ้านเป็นการลงไปมอบให้ในพื้นที่ ซึ่งถ้าหากไม่มีหน่วยงานดังกล่าวก็อาจทำให้เขาหรือเธอไม่สามารถเข้าถึงหน้ากากอนามัยได้
ในส่วนของมาตรการที่ภาครัฐได้ออกแบบมาเพื่อเยียวยานั้นจะพบว่า คนไร้บ้านมากกว่าร้อยละ 58 ไม่เคยเข้าถึงโครงการที่รัฐออกมาตรการมาเยียวยาได้เลย นอกจากนั้นสิ่งที่น่าสนใจจากข้อมูลชุดนี้ มีเพียงร้อยละ 17 เท่านั้นที่สามารถเข้าถึงนโยบายเราไม่ทิ้งกัน ที่เป็นมาตรการที่ทำผ่านระบบออนไลน์ ดังนั้นจะเห็นได้ชัดว่าการเลือกให้สิทธิ์ที่จะต้องพิสูจน์สิทธิ์ รวมถึงการลงทะเบียนล้วนแต่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้มาตรการไม่ตอบสนองต่อกลุ่มเป้าหมาย
จากการสำรวจพบว่ายังมีคนไร้บ้านจำนวนหนึ่งที่ถูกเจ้าหน้าที่คุกคามในช่วงสถานการณ์การระบาด และนอกจากนั้นผลกระทบจากโควิด-19 ในเรื่องงานเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนไร้บ้านขาดรายได้ บ้างก็เป็นผู้ตกงาน บ้างก็มีรายได้ลดลง อย่างไรก็ตาม เมื่อมองถึงการรับรู้ภายใต้สถานการณ์การระบาดของโควิด เราจะพบว่าคนไร้บ้านร้อยละ 94 ทราบว่ายังมีการระบาดของโรคโควิด – 19 แต่เมื่อมาดูข้อเท็จจริงว่าเขาทราบหรือไม่ว่าอยู่ในที่สาธารณะต้องสวมหน้ากากอนามัย จะพบว่าร้อยละ 18 ยังไม่ทราบแน่ชัด ซึ่งนั่นตีความได้ว่าคนไร้บ้านเข้าใจว่ายังมีการระบาดแต่การตระหนักรู้ที่จะรับมือป้องกันยังขาดแคลนอยู่
สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ส่งผลกระทบอย่างมากแก่คนไร้บ้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการหารายได้ เรื่องของการเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกัน มาตรการเยียวยา ฯลฯ ดังนั้นกลไกสำคัญที่จะทำให้คนไร้บ้านสามารถผ่านวิกฤตนี้ไปได้ คือการมีจุดประสานงานย่อยในพื้นที่สาธารณะ ที่อำนวยความสะดวกโดยเฉพาะข้อมูลข่าวสารสถานการณ์การระบาดของโรค ข้อมูลเรื่องสิทธิในการได้รับความช่วยเหลือ ตลอดจนการเข้าถึงที่พักต่างๆ นอกจากนั้นการดำเนินการให้คนไร้บ้านเข้าถึงสิทธิสถานะทางทะเบียนจะเป็นอีกกลไกในการช่วยเหลือให้คนไร้บ้านสามารถเข้าถึงระบบบริการสุขภาพรวมถึงวัคซีนได้ในอนาคต และในอีกระดับหนึ่ง นโยบายจากภาครัฐจำเป็นจะต้องคำนึงถึงการจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสมและต้องคำนึงถึงรูปแบบการจัดสรรแบบสวัสดิการถ้วนหน้าที่ให้ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม เพื่อที่จะสามารถช่วยเหลือกลุ่มคนเปราะบางให้ผ่านสภาวะวิกฤตนี้ได้ไปพร้อมๆ กัน