ขายของเก่า เบี้ยยังชีพ แสดงความสามารถ แหล่งรายได้ของคนไร้บ้าน และหนทางตั้งหลักชีวิตอีกครั้ง

“เป็นคนไร้บ้านเพราะขี้เกียจ ไม่ทำงาน ?”

มายาคติที่เกิดขึ้น และยังคงไหลวนเวียนอยู่ในความคิดบางคน กลายเป็นทัศนคติที่มีต่อ ‘คนไร้บ้าน’

รายงานวิจัย “การสำรวจข้อมูลทางประชากรเชิงลึกของคนไร้บ้าน ในเขตกรุงเทพมหานคร และพื้นที่เกี่ยวเนื่อง” หยิบข้อเท็จจริงที่มาแย้งมายาคตินี้ ผ่านการสำรวจคนไร้บ้านกรุงเทพมหานครเมื่อปี 2559 จำนวน 1,307 คน

เมื่อถามถึงความช่วยเหลือที่พวกเขาต้องการ ‘หางานทำ’ เป็นคำตอบลำดับต้นๆ คิดเป็น 24% ของคนไร้บ้านทั้งหมดที่สอบถาม คนไร้บ้านเป็นกลุ่มคนที่มีความหลากหลายไม่ต่างจากกลุ่มอื่นๆ มีทั้งคนที่อยากทำงาน คนที่ไม่อยาก หรือคนที่เลือกรอรับการช่วยเหลืออย่างเดียว การเหมารวมว่าพวกเขาขี้เกียจ ไม่ทำงาน เลยต้องเป็นคนไร้บ้าน อาจไม่ถูกต้องทั้งหมด

งานวิจัยดังกล่าว โชว์ข้อมูลที่แสดงถึงภูมิหลังก่อนมาเป็นคนไร้บ้าน หลายคนทำงานเป็นแรงงานนอกระบบ เช่น เกษตกร ทำประมง รับจ้างทั่วไป ฯลฯ ทำให้มีรายได้ไม่แน่นอนและไม่มั่นคง มีโอกาสถูกเลิกจ้างสูงและหางานใหม่ยาก เพราะทักษะที่มีไม่ตรงตามความต้องการตลาดแรงงาน

ในการแจงนับคนไร้บ้าน (One Night Count) ซึ่งทำการสำรวจคนไร้บ้านทั้งประเทศเมื่อปี 2566 ระบุสาเหตุหลักที่ทำให้คนตัดสินใจเป็นคนไร้บ้าน คือ ‘ตกงาน’ คิดเป็น 44.72% ของคนไร้บ้านทั้งหมดที่มีประมาณ 2,499 คน

เมื่อทำการสำรวจเชิงลึกจากคนไร้บ้านที่ตอบแบบสำรวจเชิงลึกจำนวน 1,393 คน เรื่อง ‘แหล่งรายได้’ สำหรับใช้ชีวิตเป็นคนไร้บ้านก็มีหลากหลาย แบ่งเป็นรายได้จากการทำงานอย่างขายของเก่า 17.52% รับจ้างรายวัน 12.71% ทำงานประจำ 2.08% ค้าขาย 1.72% แสดงความสามารถ เช่น เล่นดนตรี 0.43% ฯลฯ หรือแหล่งรายได้มาจากสวัสดิการของรัฐ มีทั้งเบี้ยคนพิการ 5.46% และเบี้ยผู้สูงอายุ 11.49%

นอกจากนี้ มีคนที่ไม่ได้ประกอบอาชีพหรือมีรายได้ใดๆ อีกประมาณ 20.24% และว่างงาน 6.75% อาจเป็นสาเหตุมาจากการที่พวกเขาคุ้นชินกับวิถีชีวิตนี้ ซึ่งปัจจัยที่มีผลให้เกิดความรู้สึกนี้ คือ การเป็นคนไร้บ้านระยะเวลานานๆ มากกว่า 5 ปีขึ้นไป ทำให้การช่วยเหลือเยียวยาต้องมีกระบวนการที่ซับซ้อนขึ้น

รายงานวิจัยปี 2559 ก็สอบถามด้วยคำถามทำนองเดียวกันว่า มีการทำงานหรือแหล่งรายได้อะไรในการใช้ชีวิตเป็นคนไร้บ้าน และได้คำตอบว่า “ว่างงาน” แต่ที่น่าสนใจ คือ ถ้าคำตอบนี้มาจากผู้หญิง มักมาจากสาเหตุว่า ไม่เคยทำงานมาก่อน หรือออกจากงานเพื่อมาดูแลครอบครัว ทำให้กลับไปทำงานได้ยาก หรือช่วยทำงานในครอบครัว โดยไม่ได้รับค่าแรง 

.

.

“เขาอยากทำงานกันมาก เช้าต้องทักมาหาเราละว่ามีงานอะไรให้ทำบ้าง เพราะเขาอยากได้เงินมาจ่ายค่าห้อง เขากลัวว่าจะต้องกลับไปนอนที่เดิมอีก กังวลสายตาคนอื่นๆ จะมองยังไง เลยทำให้เขากระตือรือร้นมากขึ้น”

‘พิม’ (นามสมมติ) คนไร้บ้านที่เข้าร่วมโครงการที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง เกิดจากการร่วมกันของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่ายภาควิชาการ ภาครัฐ และประชาสังคม เพื่อช่วยคนไร้บ้านตั้งหลักชีวิต ผ่านการสนับสนุนงานและค่าที่พักอาศัย 

พิมเป็นผู้ร่วมโครงการและพัฒนาเป็นคนช่วยหางานให้คนอื่นๆ ที่ต่างกระตือรือร้นอยากทำงาน ทุกวันพวกเขาจะทักไลน์มาหาพิมว่า วันนี้มีงานอะไรให้ทำบ้าง งานส่วนใหญ่ที่ทำจะเป็นงานรับจ้างรายวัน เช่น รับจ้างไปต่อคิวซื้อของ เสิร์ฟอาหารในงานเลี้ยงต่างๆ ฯลฯ 

เหตุผลที่ทำให้พวกเขาอยากทำงาน เพราะจะมีรายได้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะจ่ายค่าที่พักอาศัย ไม่ต้องกลับไปนอนในพื้นที่สาธารณะอีก

“มันเปลี่ยนไปทุกอย่างมากนะ เมื่อก่อนตีสองตีสามยังนั่งริมคลองรอของแจกกันอยู่ เดี๋ยวนี้สองทุ่มก็ขึ้นนอนแล้ว หรือจากเต็มที่ได้กินแค่มาม่า ทุกวันนี้เลือกกินได้เพิ่มมากขึ้น” พิมย้ำว่างานเป็นสิ่งที่คนไร้บ้านต้องการมากที่สุด เพื่อที่เขาไม่ต้องรอคอยความช่วยเหลือที่ไม่แน่นอน และกลับไปใช้ชีวิตที่ยืนด้วยตัวเองอีกครั้ง

.

.

อ้างอิง

  • ข้อมูลสำรวจเชิงลึกคนไร้บ้าน พ.ศ.2566 โดย แผนงานพัฒนาองค์ความรู้เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะและขับเคลื่อนนโยบายเพื่อสุขภาวะคนไร้บ้าน
  • โครงการแจงนับคนไร้บ้าน (One Night Count)
  • รายงานวิจัย “การสำรวจข้อมูลทางประชากรเชิงลึกของคนไร้บ้าน ในเขตกรุงเทพมหานคร และพื้นที่เกี่ยวเนื่อง” ภายใต้โครงการการสำรวจสถานการณ์คนไร้บ้าน และการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายอย่างเป็นระบบ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
  • https://penguinhomeless.com/sharehouse/