ไร้บ้าน แต่ไม่ไร้สายสัมพันธ์: ว่าด้วยความผูกพันเป็นครอบครัวเดียวกันของกลุ่มคนไร้บ้าน

ผู้เขียน: บุณิกา จูจันทร์

เมื่อพูดถึงครอบครัวและคนไร้บ้าน การขับคนออกจากครอบครัวคือประเด็นอันดับต้น ๆ ที่ได้รับการกล่าวถึง โดยเฉพาะเมื่อครอบครัวนั้น ๆ มีสมาชิกที่มีเพศวิถีหรือเพศสภาพไม่ตรงกับความคาดหวังของสังคม แต่ถึงกระนั้น “ครอบครัว” ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่พรากบ้านไปจากคน ความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างในมิติสังคม-เศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการกดขี่ทางเชื้อชาติ-ชาติพันธุ์, เศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่, การตัดงบประมาณสวัสดิการ, การพัฒนาชุมชนและอสังหาริมทรัพย์ที่ตอบสนองคนร่ำรวยและเบียดขับคนจนออกไป, การดำเนินคดีอาญาและการจองจำคนในเรือนจำ หรือการกดขี่ผู้พิการ ทั้งหมดต่างร่วมมือกันผลักให้คนจำนวนมากร่วงสู่สภาวะยากจน ซึ่งนำไปสู่การไร้บ้านในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์การมีครอบครัวของคนไร้บ้านก็ไม่ได้มีแต่การถูกผลักไสไล่ส่งเพียงอย่างเดียว เพราะหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้คนไร้บ้านเข้าถึงการบริการทางสังคมและเอาชีวิตรอดในพื้นที่สาธารณะได้คือ “ครอบครัวที่เราเลือกเอง”

(ที่มาภาพ: NewNowNext)

อะไรคือครอบครัวที่เราออกแบบเอง โดยไม่ต้องพึ่งทะเบียนสมรส นามสกุลที่เหมือนกัน หรือสำเนาทะเบียนบ้าน?

“ครอบครัวที่เราเลือกเอง” (chosen family) หมายถึงกลุ่มคนที่ผูกพันกับเราอย่างลึกซึ้ง โดยที่บุคคลดังกล่าวไม่ได้มีความเกี่ยวข้องทางสายเลือดกับเรา และไม่ได้อยู่ในความสัมพันธ์ที่กฎหมายรองรับอย่างเป็นทางการ เช่น เป็นคู่สมรส เป็นผู้ปกครอง หรือเป็นลูกของเรา ความสัมพันธ์ในลักษณะนี้ก้าวข้ามความเป็นครอบครัวในฐานะสถาบัน พร้อมกับเผยให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการรวมตัวกันเป็นน้ำหนึ่งเดียวกัน โดยที่ไม่ต้องยึดโยงกับกรอบของชีววิทยา ความจำเป็นต้องเจริญพันธุ์ และกฎหมายที่คอยจำแนก กำกับ และควบคุมความสัมพันธ์ของมนุษย์ 

เนื่องจากครอบครัวที่เราเลือกเองคือบุคคลนั้นหรือกลุ่มคนที่ทำให้เรารู้สึกเหมือนเราอยู่บ้าน มีพื้นที่ของตัวเองบนโลก พร้อมกับให้ความปลอดภัย ความมั่นคง และการดูแลสวัสดิภาพทางกายและทางใจ จนกระทั่งเกิดความผูกพันใกล้ชิดราวกับเป็นครอบครัวเดียวกัน ไม่ว่าจะในฐานะผู้ถูกดูแล หรือผู้ดูแล ครอบครัวที่เลือกเองจึงมีหลายรูปแบบ ไม่จำเป็นว่าความสัมพันธ์ต่าง ๆ จะต้องสะท้อนระบบครอบครัวตามจารีต ซึ่งประกอบด้วยผู้รับบทบาทของ พ่อ แม่ และ ลูก หรือจะต้องพึ่งพิงระบบอาวุโสและระบบชายเป็นใหญ่ในการจัดแบ่งอำนาจดูแล หรือจะต้องยึดโยงกับสถานที่ใดเป็นพิเศษ บางคนที่มีประสบการณ์จะรับบทบาทเป็นผู้ปกครอง พี่ น้อง ลุง ป้า หรือ น้าในชีวิตคนอื่น และทำหน้าที่ดูแลเอาใจใส่บุคคลต่าง ๆ ซึ่งอาจจะมีอายุมากกว่าตนเองด้วยซ้ำ 

แนวคิด “ครอบครัวที่เราเลือกเอง” ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรก ในหนังสือ Families We Choose ของ Kath Weston นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน โดยเธอได้สำรวจชีวิตของเกย์และเลสเบี้ยนในอเมริกาในทศวรรษที่ 1980s ภายใต้การแพร่ระบาดของโรค HIV/AIDS ซึ่งได้คร่าชีวิตกลุ่ม LGBTQ+ จำนวนมาก Weston พบว่าผู้คนมากมายต้องถูกผลักไสออกมาจากบ้านและครอบครัวต้นกำเนิด เพราะการตีตราโรค HIV/AIDS ควบคู่ไปการรังเกียจเพศสภาพกับเพศวิถีที่อยู่นอกกรอบ “ชายจริง-หญิงแท้” ด้วยเหตุนี้ กลุ่มเกย์และเลสเบี้ยน “พลัดถิ่น” จึงต้องฟูมฟัก “ครอบครัว” ภายในชุมชนของตัวเอง เพื่อดูแลร่างกายและจิตใจของผู้ได้รับผลกระทบจากโรคภัย ความยากจน และการกดขี่ทางเพศในสังคม 

เพื่อต่อสู้กับภาวะไร้บ้านและความเหลื่อมล้ำในสังคม คนจึงสร้างระบบครอบครัวของตัวเองขึ้นมา 

สำหรับกลุ่มคนไร้บ้าน โดยเฉพาะที่เป็นเยาวชนกลุ่ม LGBTQ+ กลุ่มคนไร้บ้านด้วยกันหรือคนอื่น ๆ นอกเครือญาติเป็นพลังสำคัญในการใช้ชีวิตท่ามกลางพื้นที่สาธารณะและความไม่แน่นอน โดยพวกเขาได้ให้ความห่วงใยและการดูแลส่งเสริมแทนครอบครัวต้นกำเนิด ไม่ว่าจะเป็นคนที่ใช้ชีวิตบนท้องถนนร่วมกัน คนจากศูนย์พักพิง หรือคนในพื้นที่ทางวัฒนธรรมต่าง ๆ เช่น กลุ่มวัฒนธรรม “บอลรูม” ซึ่งไม่ได้มีแต่เพียงการเต้นโว้กประชันกัน แต่ยังมีการสร้างระบบบ้านดูแลคนในสังกัด ซึ่งมักเป็นคนที่โดนขับไล่จากบ้านเพราะเพศวิถี/เพศสภาพของตัวเอง ทำให้บุคคลที่อยู่ในโลกภายนอกเป็นด่านหน้าที่คอยสะกัดกั้นมิให้คนร่วงหล่นสู่ภาวะไร้บ้าน 

สายสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างคนไร้บ้านด้วยกันหรือกับคนอื่น ๆ ได้นำไปสู่การดูแลซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นการให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงิน การสนับสนุนของใช้ที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน หรือการดูแลเอาใจใส่คอยระวังภัยอันตรายให้กัน บางคนอาจทำหน้าที่เป็น “ผู้ปกครอง” คอยให้คำแนะนำในการใช้ชีวิต สนับสนุนอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันมาให้ อาทิ ถุงนอน หรือเต๊นท์  และคอยสอดส่องว่ามีคนเข้ามาหาโดยประสงค์ร้ายหรือไม่ทราบวัตถุประสงค์ไหม ไม่ว่าจะเป็นขโมย เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ นอกจากนี้เอง บุคคลที่ได้รับความไว้วางใจให้เป็นครอบครัวเดียวกันยังอาจพาคนเข้าสู่สังคม ซึ่งนำไปสู่ความสัมพันธ์ฉันมิตร หรือศูนย์ให้ความช่วยเหลือและบริการทางสังคมต่าง ๆ ที่จำเป็น  

นอกเหนือไปจากการให้ความช่วยเหลือเชิงกายภาพ ในฐานะผู้ที่มีประสบการณ์คล้ายคลึงกัน พวกเขายังให้แรงสนับสนุนทางอารมณ์ในระดับลึกซึ้งอีกด้วย การพบเจอกับคนที่มีประสบการณ์คล้ายคลึงกันจึงเป็นเสมือนที่ลี้ภัยจากโลกที่ตีตราคนไร้บ้านว่าเป็นอาชญากร คนวิกลจริต และความล้มเหลวของสังคม สำหรับกลุ่ม LGBTQ+ ที่ไร้บ้าน การเจอชุมชนของตัวเองหมายถึงการเจอคนที่รู้ซึ้งถึงความต้องการเฉพาะของตน ไม่ว่าจะเป็นความต้องการทางการแพทย์ การให้กำลังใจ รวมไปถึงความเข้าใจในอัตลักษณ์ของบุคคลนั้น ๆ ซึ่งทำให้ผู้คนรู้สึกปลอดภัยที่จะเป็นตัวเอง ความกลมเกลียวเป็นครอบครัวเดียวกัน และแนวทางในการใช้ชีวิตที่ตอบสนองกับเพศวิถี/เพศสภาพของตน

ความช่วยเหลือทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อผู้ตกอยู่ในสภาวะไร้บ้าน หรือไม่มีที่อยู่อาศัยที่แน่นอน เมื่อเชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด การสร้างครอบครัวจึงเป็นเรื่องยากสำหรับคนไร้บ้าน มาตรการการรักษาระยะห่างทำให้คนไม่สามารถพบปะใช้เวลาร่วมกันได้อย่างแต่ก่อน และผู้คนจำนวนมากจำเป็นต้องล่าถอยกลับไปอยู่ที่บ้านหรือสถานที่อื่น ๆ ส่วนคนไร้บ้านเองก็อยู่ในจุดที่เปราะบางต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มากกว่าปกติ บางคนถูกโควิด-19 คร่าชีวิตไปในระหว่างนี้ ทำให้คนไร้บ้านจำนวนมากจึงไม่สามารถข้าถึงเครือข่ายเพื่อนมนุษย์ที่ให้ทั้งการดูแลและกำลังใจได้อย่างง่ายดาย ด้วยเหตุนี้ ภาวะโรคระบาดได้ส่งกระทบต่อขวัญและกำลังใจในการใช้ชีวิตของคนไร้บ้านอย่างมาก

เมื่อพูดถึงครอบครัวที่เลือกเอง สิ่งหนึ่งที่พึงระลึกไว้คือ บุคคลเหล่านี้มีความหมายอย่างยิ่งต่อคนไร้บ้านคนนั้น ๆ พวกเขาอาจจะไม่ใช่ญาติตามกฎหมายหรือครอบครัวที่ผูกพันกันโดยสายเลือด แต่นั่นไม่ได้แปลว่าเขามีสถานะที่ด้อยค่ากว่าญาติร่วมตระกูล หลายคนเป็นผู้ให้การดูแลเชิงสุขภาวะทั้งทางกายและทางใจของคนไร้บ้านคนนั้น ๆ ซึ่งมีความใกล้ชิดผูกพันกันอย่างลึกซึ้ง และให้ความเข้าใจระหว่างกันและกัน นักสังคมสงเคราะห์และผู้ให้บริการแก่คนไร้บ้านจึงต้องให้ความเคารพกับครอบครัวที่คนไร้บ้านฟูมฟักขึ้นมาเองเช่นกัน

อ้างอิง

  • “At The Intersections: A Collaborative Resource on LGBTQ Youth Homelessness.” True Colors United, truecolorsunited.org/wp-content/uploads/2019/04/2019-At-the-Intersections-True-Colors-United.pdf.
  • Compton, Julie. “’Chosen Families’ Ruptured: How Covid-19 Hit an LGBTQ Lifeline.” NBCNews.com, NBCUniversal News Group, 21 Dec. 2020, www.nbcnews.com/feature/nbc-out/chosen-families-ruptured-how-covid-19-hit-lgbtq-lifeline-n1251849.
  • Jackson Levin, Nina, et al. “‘We Just Take Care of Each Other’: Navigating ‘Chosen Family’ in the Context of Health, Illness, and the Mutual Provision of Care amongst Queer and Transgender Young Adults.” International Journal of Environmental Research and Public Health, vol. 17, no. 19, 2020, p. 7346., doi:10.3390/ijerph17197346.
  • Vermes, Jason. “’A Place for You’: Why Chosen Family Can Be a Lifesaver for LGBTQ People over the Holidays | CBC Radio.” CBCnews, CBC/Radio Canada, 23 Dec. 2018, www.cbc.ca/radio/checkup/a-place-for-you-why-chosen-family-can-be-a-lifesaver-for-lgbtq-people-over-the-holidays-1.4954350.
  • “Where Am I Going to Go? Intersectional Approaches to Ending LGBTQ2S Youth Homelessness in Canada & the U.S.” Where Am I Going to Go? Intersectional Approaches to Ending LGBTQ2S Youth Homelessness in Canada & the U.S. | The Homeless Hub, www.homelesshub.ca/WhereAmIGoingtoGo.