ที่ไหนมีความเกลียดชัง LGBT+ ที่นั่นย่อมมีคนไร้บ้าน

ผู้เขียน: บุณิกา จูจันทร์

ตราบใดที่สังคมยังไม่ยุติการกดขี่ LGBT+ ผู้คนอีกมากมายก็ต้องเสี่ยงชีวิตหลบหนีความรุนแรงออกมาจากครอบครัวและชุมชนของตัวเอง 

“ก่อนที่ผมจะมาเป็นคนไร้บ้านนะครับ ผมอกหักครับ จากความรัก คือต้องบอกไว้ก่อนนะครับว่าผมเป็นเกย์ มันเริ่มรับไม่ไหวกับสังคมรอบข้างอะครับ และสังคมเมื่อก่อน มันไม่ค่อยรับเพศที่สาม แล้วเราไม่มีหน้าตา ไม่มีเอกลักษณ์ จุดยืนอะไรเลยในสังคมแบบนั้น คืองานบางงานนะครับ เขาเห็นเราแบบเนี้ย เขาก็ไม่รับแล้ว คืออยากให้ลืม ไม่อยากติดต่อ ไม่อยากเจอสังคมแบบนั้นแล้ว คือมันทรมานใจอะ”

เมื่อปีที่แล้ว คลิปวีดิโอสัมภาษณ์ “สิทธิที่หายไปของคนไร้บ้าน”  ของ Spectrum พาผู้เขียนไปรู้จักกับคุณจักรกฤษ คำซื่อ หรือคุณแซ็ค  เกย์ที่ประสบปัญหาไร้ที่อยู่มาเป็นเวลาประมาณสิบปีแล้ว ท่ามกลางรายละเอียดชีวิตที่คุณจักรกฤษค่อย ๆ เปิดเผยให้ผู้ชมซึบซับ ความเกลียดชัง อคติ และการเลือกปฏิบัติต่อเกย์ในสังคม ปรากฏตัวขึ้นในฐานะปัจจัยที่นำไปสู่เส้นทางของคนไร้บ้าน คุณจักรกฤษต้องเอาตัวรอดด้วยการออกมาจากพื้นที่ที่ปฏิเสธตัวตนของเขา และต้องเผชิญสภาวะไม่มีที่พักอาศัยเป็นหลักแหล่ง ในขณะที่โอกาสในการทำงานที่ตัวเองต้องการและมีความมั่นคงได้ถูกจำกัดลงอย่างมาก เรื่องเล่าของคุณจักรกฤษช่วยชี้ให้เราเห็นถึงกระบวนการปฏิเสธคนในสังคมถึงสองครั้งสองครา จุดแรกเริ่มต้นด้วยการไม่ยอมรับความเป็นมนุษย์ของเกย์ จนนำไปสู่การผลักไสไล่ส่งให้เกย์ออกไปแสวงหาความปลอดภัยที่อื่น จุดที่สองคือการจับให้ไปอยู่ในสถานะเป็นอื่น มีอำนาจน้อยกว่า ทำให้ชีวิตของคนที่ประสบภาวะไร้บ้านไม่เป็นที่ต้องการในสังคมไทย นี่เป็นตัวการทำให้คนไม่มีบ้านและไม่มีงานตั้งแต่แรก ไม่ว่าจะด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจ และ/หรือบรรทัดฐานความคิดของสังคมเอง และด้วยเงื่อนไขชีวิตที่ต้องแบกรับความเหลื่อมล้ำในมิติต่าง ๆ ไม่ได้รับการสนับสนุนและดูแลโดยชุมชนรอบข้าง จนกระทั่งตัวตนถูกซ่อนเร้น หายไปจากสายตาผู้คนที่ใช้ชีวิตในเมือง

ครั้งแรกที่ดูคลิปสัมภาษณ์คุณจักรกฤษ ผู้เขียนอดนึกถึงบนสนทนาเกี่ยวกับกลุ่ม LGBT+ ที่ตัวเองเคยประสบมาไม่ได้: “LGBT+ เป็นประเด็นของชนชั้นกลาง มาทีหลังการต่อสู้เพื่อระบบการเมืองแบบประชาธิปไตย LGBT+ ในไทยจริง ๆ ก็อยู่สบายกว่าประเทศอื่นแล้ว เพราะสังคมเราเปิดกว้าง” หรือ “LGBT+ ไม่ใช่ประเด็นการเมือง โฟกัสแค่เรื่องชนชั้นก็พอ ถ้าทุกคนเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ ตุ๊ดกะเทยทอมดี้เพศที่สามก็เท่าเทียมไปด้วย” แต่ถ้าเราฟังเรื่องราวชีวิตคุณจักรฤษ จะเห็นได้ว่าอคติและการเลือกปฎิบัติต่อ LGBT+ คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้สถานะทางสังคม-เศรษฐกิจของคุณจักรกฤษพลิกผัน นำไปสู่ปัญหาไม่มีที่อยู่และอาชีพที่มั่นคง ไม่มีมาตรการทางกฎหมายหรือสังคมที่ช่วยคุ้มครองให้พ้นจากอันตรายและความรุนแรงต่าง ๆ  การปฏิบัติกับประเด็นของกลุ่ม LGBT+ เหมือนเป็นแค่เชิงอรรถเสริมท้ายประเด็นอื่น ๆ หรือเป็นแค่อาการหนึ่งของโรคร้ายนั้นลดทอนความรุนแรงระดับโครงสร้างของของการกดขี่ทางเพศลงไปมาก 

ดูเหมือนว่ามายาคติ “ประเทศไทยเป็นประเทศเสรี เปิดกว้างสำหรับ LGBT+” ได้หยั่งรากลึกลงในความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ LGBT+ ของคนทั่ว ๆ ไป แต่มายาคตินี้ปิดโอกาสในการตั้งคำถามกับสังคมว่า การยอมรับ LGBT+ อย่างเฉื่อยชาช่วยจัดการความรุนแรงที่ยังคงทำงานอย่างขยันขันแข็งข้างในบ้านหรือหลังรั้วโรงเรียนอย่างไร? คำว่า ‘เสรี’ และ ‘เปิดกว้าง’ แปลว่าการกดขี่ LGBT+ อย่างเป็นระบบหายไปแล้ว? แปลว่าเรามีนโยบายและมาตรการส่งเสริมชีวิตของ LGBT+ ในมิติต่าง ๆ แล้วหรือ?

คำกล่าวอ้างว่า “ประเทศไทยเป็นประเทศเสรี เปิดกว้างสำหรับ LGBT+” เองยังดึงความสนใจของสังคมให้หันไปทางด้านที่ ‘ดี’ ของสถานการณ์ LGBT+ ในประเทศ – ด้านที่ปราศจากปัญหาปากท้องเศรษฐกิจ ราวกับว่าไม่มีการทารุณกรรม ไม่มีและไม่มีคนไร้บ้าน นั่นแปลว่า กลุ่ม LGBT+ ไร้บ้านซึ่งเผชิญกับความเหลื่อมล้ำทางสังคม-เศรษฐกิจและความรุนแรงนั้นไม่มีพื้นที่อยู่ในจินตนาการของสังคมว่าด้วย LGBT+  ปัญหาเหล่านี้จึงไม่ได้รับการสนใจ หรือถูกสำรวจเพิ่มเติมต่อ 

เพราะปัญหาของคุณจักรกฤษไม่ใช่เพียงเรื่องบังเอิญของเกย์คนหนึ่งที่ต้องเคราะห์ร้าย 

ภาวะไร้บ้านคือหนึ่งในปัญหาที่กลุ่ม LGBT+ เผชิญมากที่สุด และเรื่องราวของคุณจักรกฤษสะท้อนประสบการณ์ชีวิตที่กลุ่ม LGBT+ จำนวนมากมีร่วมกันในระดับสากล ในบริบทของประเทศสหรัฐอเมริกา ข้อมูลที่รวบรวมโดย US National Library of Medicine National Institutes of Health ระบุว่า ประชากร LGBT+ นั้น นับเป็นสัดส่วนถึง 20-40 เปอร์เซ็นต์ของคนที่ไม่มีที่อยู่มั่นคง รายงาน “At the Intersections: A Collaborative Resource on LGBTQ Youth Homelessness” ขององค์กร True Colors United ซึ่งให้ความสำคัญกับเยาวชนและคนที่เพิ่งเข้าสู่ช่วงผู้ใหญ่จากกลุ่ม LGBT+ ชี้ให้เห็นว่า กลุ่มเยาวชนและผู้ใหญ่ตอนต้นจากกลุ่ม LGBT+ เสี่ยงเผชิญกับสภาวะปราศจากที่อยู่ถาวรมากกว่าคนรักต่างเพศ/เกิดมาตรงเพศซึ่งอยู่ในวัยเดียวกันถึง 120 เปอร์เซ็นต์ โดย 1 ใน 10 ของ LGBT+ ที่อายุ 18-25 ปีเคยเผชิญปัญหาไร้ที่อยู่มั่นคง ส่วน LGBT+ ที่อายุ 13-17 นั้นมี 1 ใน 30 คนที่เคยตกอยู่ในสภาวะนี้ และเมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ของกลุ่มคนข้ามเพศและกลุ่ม gender-nonconforming [ไม่ปฏิบัติตามบรรทัดฐานทางเพศ]  มีอย่างน้อย 30 เปอร์เซ็นต์ที่เคยประสบปัญหาไร้บ้าน ณ จุดใดจุดหนึ่งของชีวิต 

“การปฏิเสธโดยครอบครัว” เป็นหนึ่งในปัจจัยสร้างปัญหาที่ถูกพูดถึงมากที่สุด แต่ภายใต้โครงสร้างสังคมที่มีกลไกการกดขี่ทำงานในรูปแบบต่าง ๆ  ประสบการณ์การเป็นคนไร้บ้านและมาจากกลุ่ม LGBT+ ในอเมริกานั้นไม่อาจถูกผูกขาดไว้กับเรื่องเล่าแค่แบบเดียว สถานการณ์ของ LGBT+ โดยเฉพาะที่เป็นเยาวชนนั้นแปรผันตามสถานะทางสังคม-เศรษฐกิจของแต่ละครอบครัว ทำให้เราต้องวิเคราะห์พื้นเพและแนวทางชีวิตที่ถูกหล่อหลอมโดยการกดขี่ทางเชื้อชาติ (racism) ชนชั้น และเพศไปพร้อม ๆ กันด้วย  รายงานขององค์กร True Colors United พบว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงข้ามเพศผิวดำเคยประสบปัญหาไร้บ้าน และเกือบครึ่งหนึ่งยังไม่ได้รับความช่วยเหลือให้หลุดพ้นสภาวะยากจน ทำให้ต้องทำงานที่ผิดกฎหมาย และเสี่ยงต่อการโดนจับกุม 

อีกด้านหนึ่ง งานวิจัย Outed & Outside: The Lives of LGBTQ Youth Experiencing Homelessness โดย Brandon Andrew Robinson  นักวิจัยด้านเยาวชน LGBT+ ที่ไร้บ้าน ได้สำรวจดูที่โครงสร้างสังคมอเมริกาที่กำลังเปลี่ยนแปลง  งานที่หายากขึ้น ค่าจ้างและสวัสดิการที่ลดลง จำนวนที่อยู่อาศัยราคาถูก (affordable housing) ถดถอยตาม เหล่านี้เป็นปัจจัยที่เร่งให้คนประสบกับสภาวะไร้บ้านมากขึ้น และเมื่อพิจารณาลึกลงไป ครอบครัวของ LGBT+ ที่เป็นกลุ่มคนผิวสี (people of color) โดยเฉพาะคนผิวดำนั้น อยู่ในชุมชนที่เข้าไม่ถึงทรัพยากร เสี่ยงต่อการถูกขับออกจากพื้นที่ตัวเองเพราะแผนพัฒนาเมือง (gentrification)  

Robinson ยังพบอีกว่าเยาวชน LGBT+ ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากโครงข่ายครอบครัวและชุมชนได้ เพราะทั้งครอบครัวและชุมชนต่างยึดโยงกับบรรทัดฐานรักต่างเพศ (heteronormativity) และมายาคติที่เป็นอันตรายต่อกลุ่ม LGBT+ เมื่อเยาวชน LGBT+ ปฏิเสธกรอบชาย-หญิงตามจารีตและเป็นตัวของตัวเอง การทำเช่นนี้กลับถูกใช้เป็นข้ออ้างในการบีบบังคับ จนไปถึงทารุณกรรมให้กลับมาเป็น ‘ชายหญิงปรกติ’ และจบลงด้วยการผลักไสไล่ส่งเยาวชน LGBT+ ให้ออกไปจากบ้าน การกระทำเหล่านี้เปรียบเสมือนบทลงโทษ ‘ความผิดปรกติ’ และเป็นการแสดงออกซึ่งความกลัว – กลัวว่าคนในครอบครัวตัวเองจะไม่ได้รับการเคารพโดยสังคมที่มองว่า LGBT+ อยู่ต่ำกว่า และกลัวว่าการเป็น LGBT+ จะเพิ่มขวากหนามให้กับเส้นทางชีวิตคนชายขอบซึ่งมีตัวเลือกและอำนาจในการตัดสินใจจำกัดอยู่แล้ว 

อาจพูดได้ว่า การเล่นตามเกมส์ของการเมืองว่าด้วยการทำตัวดีอยู่ในครรลองสังคม (respectability politics) ถูกบังคับใช้กับ LGBT+ อย่างรุนแรง การออกไปจากบ้านจึงเป็นทั้งการหาพื้นที่ปลอดภัยที่อื่น และการหาชุมชนที่รองรับตัวเอง ยิ่งไปกว่านั้น LGBT+ หลายคนโดยเฉพาะเยาวชนได้ติดอยู่ในความสัมพันธ์ที่เป็นพิษภัย (toxic relationship) และสร้างอันตรายให้กับตัวเอง เนื่องจากจำเป็นต้องพึ่งพาบุคคลในความสัมพันธ์นั้น ๆ เพื่อเอาตัวรอด กลุ่ม LGBT+ ไร้บ้านจึงเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการถูกกระทำความรุนแรงในความสัมพันธ์อย่างมาก

ผลการวิจัยของ True Colors United ยังพบว่าหน่วยงานรัฐเอง เช่น ระบบสงเคราะห์คุ้มครองสวัสดิภาพเยาวชน ระบบยุติธรรมเยาวชน และโรงเรียน กลับเป็นทั้งตัวเร่งให้ LGBT+ เผชิญกับสภาวะไร้บ้าน และหาที่อยู่ถาวรได้ยากลำบากมากขึ้น ระบบสงเคราะห์คุ้มครองสวัสดิภาพเยาวชนคือสถาบันที่เยาวชน LGBT+ คาดหวังว่าจะให้ความปลอดภัยกับพวกเขา หลังจากที่หลบหนีการทำร้ายและการถูกปฏิเสธโดยครอบครัวมา แต่ข้างในระบบนั้นกลับยังเต็มไปด้วยการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศกับเยาวชน การทารุณกรรมทางกายแและใจ การเลือกปฏิบัติ และคนดูแล/ผู้ให้บริการงานสังคม/ครอบครัวอุปการะที่ขาดความเข้าใจเกี่ยวกับ LGBT+ ไม่สามารถให้ความสนับสนุนตามความต้องการของเยาวชนได้ สำหรับเยาวชนข้ามเพศในสถานสงเคราะห์เอง พวกเขามักถูกจัดให้อยู่ในสถานสงเคราะห์ที่ไม่ตรงสำนึกทางเพศของตน ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการสาธารณสุขที่จำเป็นกับเพศตัวเอง ขาดเสื้อผ้าและเครื่องดูแลสุขภาวะที่เหมาะสม รวมไปเสรีภาพในการแสดงตัวตน นอกจากนี้ กฎหมายสวัสดิการเยาวชนยังคงครอบคลุมองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยความเชื่อทางศาสนา ซึ่งอาจรวมไปถึงความเชื่อในบาปของคนที่ละเมิดกรอบจารีตชาย-หญิง องค์กรเหล่านี้จึงอาจตัดผู้ปกครองอยู่ในความสัมพันธ์เพศเดียวกัน หรือเป็นบุคคลข้ามเพศ ออกไปจากการเป็นครอบครัวอุปการะ 

สำหรับ LGBT+ ที่เผชิญภาวะไร้บ้านอยู่ อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นอุปสรรคคือการถูกกีดกันโอกาสในการทำงานที่มั่นคง ความเหลื่อมล้ำนี้เกิดขึ้นเพราะกระบวนการตีตราคนไร้บ้านว่าเป็นบุคคลไร้ศักยภาพและอันตราย และปัญหาว่าด้วยเรื่องเอกสารยืนยันตัวตน โดยปรกติแล้ว คนไร้บ้านมักไม่มีเอกสารยืนยันตัวตน (เช่น บัตรประชาชน) ซึ่งเป็นใบเบิกทางเวลาต้องใช้สิทธิและสวัสดิการ แต่กระนั้น การมีเอกสารยืนยันตัวตน ก็ไม่ได้ทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้นสำหรับคนข้ามเพศและคน gender-nonconforming ที่ประสบภาวะไร้บ้าน เพราะข้อมูลที่ปรากฏอยู่บนบัตรและเอกสารราชการมักไม่ตรงกับเพศสภาพและชื่อเรียก ทั้งเพศและชื่อบนบัตรนั้นมักเป็นข้อมูลชุดเก่าที่ถูกบันทึกลงฐานข้อมูลของทางการตั้งแต่ช่วงแรกเกิด  เพราะเหตุนี้ การประกอบอาชีพผิดกฎหมายเพื่อเอาตัวรอด (survival crime) จึงกลายเป็นคำตอบในชีวิตของ LGBT+ ไร้บ้านจำนวนมาก 

แม้ว่าปัญหาของกลุ่ม LGBT+ ที่เผชิญกับภาวะไร้บ้านจะมีจำนวนมาก แต่งานวิจัยเกี่ยวกับคนไร้บ้านที่สำรวจบทบาทของเพศสภาพ/เพศวิถีในประสบการณ์ของคนไร้บ้านกลับมีไม่มากพอ บทความ Come Out Come Out Wherever You Are: A Content Analysis of Homeless Transgender Youth in Social Service Literature ของ Shannon Crossley ได้แสดงความกังวลนี้  โดยกล่าวว่าองค์ความรู้เกี่ยวกับกับคนข้ามเพศไร้บ้านนั้นยังไม่ได้รับความสนใจและไม่มีพื้นที่ในแวดวงวิชาการเท่าไหร่นัก นั่นแปลว่าความรู้ด้านคนไร้บ้านสำหรับนักศึกษาฝั่งสังคมสงเคราะห์ยังมีจำกัดมาก  และผู้ปฏิบัติงาน ณ ปัจจุบันเองอาจขาดความเข้าใจในด้านนี้อยู่ ประเด็นที่ Crossley ยกมานั้นคือสิ่งที่อยู่ในใจผู้เขียนเช่นกัน เพราะในช่วงที่กำลังเตรียมข้อมูลสำหรับสรุปสถานการณ์กลุ่ม LGBT+ ที่ประสบภาวะไร้บ้านในประเทศไทย ผู้เขียนพบว่า ฐานข้อมูลกลุ่ม LGBT+ ที่ประสบภาวะไร้บ้านที่เข้าถึงได้และเป็นภาษาไทยนั้นแทบไม่มี ซึ่งปัญหาขาดแคลนความรู้ที่ทันสมัยและบูรณาการให้ใช้ได้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้นถูกกล่าวถึงไว้ใน รายงานการสำรวจข้อมูลทางประชากรวิจัยเชิงลึกของคนไร้บ้านในเขตกรุงเทพมหานครและพื้นที่เกี่ยวเนื่อง 

ผู้เขียนเชื่อว่าสิ่งที่สำคัญในบทสนทนาไม่ใช่แค่สิ่งที่ถูกผลักเข้าสู่แสงสว่างแล้ว แต่ยังรวมไปถึงสิ่งที่ตกหล่นไปจากบทสนทนา เมื่อพูดถึงกลุ่ม LGBT+ คนที่ประสบภาวะไร้บ้านมักไม่ได้รับการพูดถึง แต่เมื่อแตะประเด็นคนไร้บ้าน ประสบการณ์ชีวิตของกลุ่ม LGBT+ กลับไม่อยู่ในนั้นเช่นกัน การจะสู้กับมายาคติและการวิเคราะห์สังคมที่ยังมีช่องโหว่เช่นนี้ได้นั้น จะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีการลงทุนและผลักดันในการสร้างองค์ความรู้ขึ้นมา มีการพัฒนาบุคลากรที่สามารถสร้างองค์ความรู้ในด้านนี้และนำไปผลักดันเชิงนโยบายต่อได้ 

เราต้องรับผิดชอบต่อทุกชีวิตมนุษย์ สังคมเราต้องปกป้องคนชายขอบอย่างคนไร้บ้าน และในขณะเดียวกันก็ต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจด้วยว่า คนไร้บ้าน LGBT+ เปราะบางเช่นไร และเราควรทำอะไรเพื่อดูแลชีวิตพวกเขา

อ้างอิง

https://repositories.lib.utexas.edu/handle/2152/62338

https://core.ac.uk/download/pdf/37773369.pdf

https://truecolorsunited.org/wp-content/uploads/2019/04/2019-At-the-Intersections-True-Colors-United.pdf

https://www.western.ac.th/index.php/th/art-research

https://prachatai.com/journal/2019/05/82450