“ภูมิอากาศที่แปรเปลี่ยน” อีกหนึ่งปัจจัยของความเหลื่อมล้ำด้านที่อยู่อาศัยที่น่าจับตามอง

ผู้เขียน: บุณิกา จูจันทร์

เป็นเวลา 1 ปีแล้วที่ประเทศไทยอยู่กับโรคโควิด-19 และเป็นเวลา 1 ปีแล้วเช่นกันที่สถานการณ์ที่อยู่อาศัยในไทยถดถอย นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรค จำนวนของผู้คนที่ไม่สามารถหาที่พักอาศัยได้เพิ่มขึ้น ในขณะที่มาตรการให้ความช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัยยังไม่สามารถตอบสนองกับความต้องการของคนได้ ไม่ว่าจะเป็นคนไร้บ้านหน้าใหม่ หรือคนที่แบกรับปัญหาหลายมิติในชีวิต ใกล้จะร่วงหล่นสู่ความยากจนสาหัสและสูญเสียที่อยู่อาศัย ยิ่งไปกว่านั้น ภาวะขาดแคลนที่อยู่อาศัยที่ทุกคนเข้าถึงได้ยังเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับอีกปรากฏการณ์หนึ่ง นั่นคือ กระบวนเปลี่ยนพื้นที่คนรายได้น้อยให้เป็นที่ทำมาหากินและที่พักอาศัยของคนที่ต้นทุนสูงกว่า นำไปสู่การอพยพออกไปของคนในชุมชนดั้งเดิม ซึ่งเรียกว่า “gentrification”

Little Haiti ใน Miami, Florida สหรัฐฯ ที่ตั้งอยู่เหนือจากระดับน้ำทะเลประมาณ 10 ฟุต ทำให้พื้นที่ตรงนั้นปลอดภัยจากน้ำท่วม และกลายเป็นเป็นที่จับตาของผู้มั่งคั่งร่ำรวยที่ต้องการย้ายมาอยู่ เนื่องจากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยบริเวณชายฝั่งของ Florida ในขณะที่ประชาชนที่อาศัยอยู่ที่นี่กลับมีฐานะยากจนทางที่อยู่อาศัย (ที่มาภาพ: Wikipedia)

โดยทั่ว ๆ ไปแล้ว กระบวนการ gentrification เป็นเรื่องของการต่อสู้ทางชนชั้น ระหว่างกลุ่มคนร่ำรวยที่เข้ามาใหม่ และกลุ่มคนยากจนที่อยู่มาก่อน  โดยมีต้นตอมาจากพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ของคนรายได้น้อย ไม่ว่าจะผ่านการกว้านซื้อที่ดินของคนในพื้นที่ หรือการยกเลิกสัญญาเช่าที่ทำกับผู้เช่า/อาศัยดั้งเดิม หลังจากนั้นก็ลงมือเปลี่ยนโฉมพื้นที่ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นที่พักอาศัยของคนที่มีกำลังทรัพย์ อาคารใช้สอยอเนกประสงค์ หรือร้านรวงต่าง ๆ ที่รองรับการบริโภคของผู้มีสตางค์ ผู้ประกอบกิจการและผู้อยู่อาศัยใหม่มาพร้อมกับเม็ดเงินก้อนใหม่ นั่นทำให้เจ้าของที่ดิน นักเก็งกำไรที่ดิน และกลุ่มทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไม่เห็นความสำคัญของการรักษาผู้ใช้พื้นที่รายก่อน ๆ การเข้ามาของร้านใหม่ ๆ ที่หน้าตาสวยงาม ทันสมัย หรือเมกะโปรเจกต์ก่อสร้างอย่างคอนโดมีเนียมใหม่เอี่ยม ห้างสรรพสินค้าจึงเป็นสัญญาณของการหายตัวของชุมชนดั้งเดิม 

เมื่อกลับมาพิจารณาสถานการณ์ปัจจุบัน ความหมายของกระบวนการ gentrification ก็กำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลง เหมือนกับโลกใบนี้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสังคมมิติใหม่ ๆ และหนึ่งในนั้นคือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ 

บางครั้งบางคราว เราอาจกำลังเดินอยู่ แล้วรู้สึกว่า “เมืองนี้มันอยู่ยากจัง” เพราะอากาศมันร้อนจนหายใจไม่ออก เราอาจจำความรู้สึกตอนหลบฝนที่กระหน่ำซัดด้วยเม็ดน้ำขนาดใหญ่กว่าปรกติ หรือตอนที่ต้องเสาะหาเส้นทางเลี่ยงน้ำรอระบาย หรือตอนที่ต้องพกร่มเตรียมในฤดูที่ไม่ควรจะเปียกแฉะ ความผิดปรกติของสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อชีวิตของเราอย่างแน่นอน ซึ่งไม่ใช่แค่ในด้านของการเดินทาง แต่ยังรวมไปถึงการปักหลักใช้ชีวิตอยู่ที่ใดที่หนึ่ง ผลการวิจัยจาก Climate Central ชี้ว่าในอีก 30 ปีข้างหน้า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในบริเวณริมชายฝั่ง เนื่องจากระดับน้ำทะเลจะยกตัวสูงขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change – IPCC) ได้เผยว่าเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ถูกรุมเร้าด้วยปัญหาแผ่นดินทรุดอยู่แล้ว พื้นที่ลุ่มในเมืองยุบตัวต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 2 เมตร อันเป็นผลจากการสูบน้ำใต้ดินและน้ำบาดาลมาใช้ในภาคอุตสาหกรรม ปัญหาน้ำท่วมจึงเกิดขึ้นซ้ำซากในบางพื้นที่ของเมือง และทำให้กรุงเทพฯ เสี่ยงต่อการจมอยู่ใต้น้ำราว 3 เมตร

หากพิจารณาตามคำพยาการณ์เกี่ยวกับอนาคตเมืองแล้วนั้น ดูเหมือนว่าผู้คนจำนวนมากจะไม่มีที่อยู่อาศัย และเรายังไม่ทราบว่าประชากรจะไหลเข้าไปพื้นที่ที่ไหนบ้าง แต่การไหลออกอาจจะเกิดขึ้นได้เร็ว ๆ นี้ และเมื่อผู้คนมีการย้ายถิ่นฐาน สิ่งที่ติดตามตัวพวกเขาไปด้วยคือทุน ไม่ว่าจะด้านทรัพย์สิน หรือต้นทุนทางสังคมอื่น ๆ ด้วยก็ตาม นั่นหมายความว่าในอนาคต คนร่ำรวยที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงอาจจะมองหาพื้นที่หลบหนีจากภัยธรรมชาติ และพากันเข้าไปกระจุกตัวอยู่ในที่ปลอดภัย จนทำให้สภาพของชุมชนนั้น ๆ เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นราคาที่ดินสูงขึ้น สภาพภูมิทัศน์ที่ถูกปรับเปลี่ยนรองรับผู้อยู่อาศัยใหม่ แหล่งรายได้ของคนท้องถิ่นที่หดหาย บ้านเรือนที่ผู้เช่าอาศัยถูกไล่ออกมา หรือถูกทุบทิ้งเพื่อสิ่งที่ใหม่และทนทานกับวิกฤติสภาพอากาศกว่า 

น่าเศร้าที่ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงเป็นแนวโน้มของอนาคต แต่กระบวนการ gentrification เพราะภัยพิบัติทางธรรมชาติได้เกิดขึ้นแล้ว และมีคนบันทึกปรากฏการณ์นี้ในบางพื้นที่ของโลกเช่นกัน

ในปี 2018 นักวิจัยจากสหรัฐฯ ได้สำรวจสถานการณ์ที่อยู่อาศัยในเขต Miami-Dade เมืองไมอามี รัฐฟลอริดา โดยเขตที่อยู่อาศัยนี้อยู่ติดริมชายฝั่ง ครั้งหนึ่งเคยเป็นจุดที่คนร่ำรวยเข้ามากว้านซื้อที่ แต่ในปัจจุบัน มันได้กลายเป็นด่านหน้าของพายุเฮอร์ริเคนที่ก่อตัวบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ เหล่านักวิจัยพบว่าสภาพอากาศที่วิปริตทำให้คนเริ่มหลบหนีไปอยู่ในที่ที่เสี่ยงน้อยกว่า จนกระทั่งมีรูปแบบของการไหลออกจากเมืองของประชากรที่เห็นได้ชัด พวกเขาจึงได้สร้างโมเดล “climate gentrification” ขึ้นมาทั้ง 3 แบบ 

  1. คนรายได้มากพากันเข้าไปในชุมชนที่ปลอดภัยกว่า ซึ่งแต่ก่อนเป็นพื้นที่ที่ตลาดไม่ต้องการ และเป็นที่อยู่อาศัยของคนรายได้น้อย ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยในชุมชนของคนรายได้น้อยพุ่งขึ้น (นักวิจัยพบว่าโมเดลแบบแรกตรงกับสถานการณ์ในเขต Miami-Dade )
  2. คนรายน้อยอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ไม่มีกำลังทรัพย์ในการปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้ทนทานมากขึ้น เลยจำเป็นต้องละทิ้งบ้านเกิด
  3. ที่อยู่อาศัยได้รับการปรับปรุงให้ทนต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง และกลายเป็นที่ต้องการของตลาด แต่คนรายได้น้อยไม่สามารถเข้าถึงได้

ด้วยปัญหาระดับน้ำที่ทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น พายุที่ก่อตัวถี่ขึ้น รวมไปถึงน้ำท่วม พื้นที่สูงในไมอามีจึงกลายเป็น “จุดยอดฮิต” ที่นักพัฒนาอสังหาฯ และคนร่ำรวยจับจ้อง หนึ่งในนั้นคือชุมชนที่ชื่อว่า “Little Haiti”

ชุมชน Little Haiti ตั้งอยู่เหนือจากระดับน้ำทะเลประมาณ 10 ฟุต ทำให้พื้นที่ตรงนั้นปลอดภัยจากน้ำท่วม แต่เดิมชุมชนนี้เป็นศูนย์รวมคนเฮติที่เข้ามาแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าในสหรัฐฯ ประชากรส่วนใหญ่จึงเป็นคนผิวดำ มีรายงานว่า 47% ของคนในชุมชนประสบภาวะยากจนทางที่อยู่อาศัย เนื่องจากในอดีตถูกกีดกันไม่ให้ขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพราะมาจาก “ชุมชนที่เสี่ยง” หรือมาจากชุมชนคนผิวดำ การเจาะจงปฏิเสธความช่วยเหลือชุมชนคนผิวดำหรือ “redlining” ทำให้ทรัพยากรและเงินทุนสำหรับยกระดับชีวิตไม่สามารถกระจายอย่างทั่วถึงได้ การพัฒนาชุมชนยิ่งดำเนินได้ยากยิ่งกว่าเดิม เมื่อผู้คนพากันเข้ามาในพื้นที่ดังกล่าว ไม่ว่าจะเพื่อหลบภัยพิบัติหรือแสวงหาประโยชน์จากตลาดที่ดิน แล้วผลักให้ผู้อยู่อาศัยต้องออกไปอยู่ที่อื่น 

สำหรับผู้รณรงค์เรื่องความเท่าเทียมด้านที่อยู่อาศัยในสหรัฐ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นใน Little Haiti จึงน่ากังวลอย่างยิ่ง เนื่องจากชุมชนดั้งเดิมนั้นได้รับผลกระทบจากการเหยียดเชื้อชาติมาตั้งแต่อดีต ทางชุมชนถูกตีตราประทับว่าเป็นพื้นที่อันตราย ผู้คนที่มาจากชุมชนนั้นจะไม่มีคะแนนเครดิตที่ดี ส่งผลให้ขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการของภาครัฐและเอกชนที่จำเป็นต่อที่อยู่อาศัย และเมื่อวิกฤติภูมิอากาศแย่ลงเรื่อย ๆ กลายเป็นว่าคนยากจนต้องพลัดถิ่นจากบ้านที่อยู่มาตั้งแต่เกิด เนื่องจากการเก็งกำไรและปั่นราคาที่ดินทำให้พวกเขาไม่สามารถอยู่ที่เดิมได้ต่อไป 

เราจึงจำเป็นต้องจับตามองปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงและความเหลื่อมล้ำด้านที่อยู่อาศัยไปพร้อม ๆ กัน เพราะไม่ได้มีแต่ธรรมชาติเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติภูมิอากาศ แต่ยังรวมถึงคนด้วย โดยเฉพาะผู้ที่มีต้นทุนทางชีวิตน้อย ไม่มีอำนาจในการต้านทานกระแสไล่ที่ และไม่มีเงินตราซื้อของมาซ่อมแซมบ้านที่เปราะพังเพราะภัยพิบัติ ในขณะเดียวกันเอง ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นก็หยั่งรากลึกมากขึ้น เพราะสภาพสังคมที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ นั่นเอง