กว่าจะเป็นคนไทย (ไม่ไร้สิทธิ): สิทธิรักษาพยาบาลและชีวิตที่หายไป

เขียนโดย: นภสร สถิรปัญญา และเอกมงคล ปูรีเดช

เรามักคุ้นชินกับสิทธิการรักษาตามระบบ ‘บัตรทอง’ หรือ ‘30 บาทรักษาทุกโรค’ ที่คนไทยทุกคนเข้าถึงได้ ยามเจ็บไข้ได้ป่วย เราก็ไปหาหมอได้ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องเงินมากนัก แต่คนไทยไร้สิทธิต้องแบกรับความกังวลเรื่องเงินในการรักษาพยาบาลมากกว่าคนไทยทั่วไป การไม่มีเลข 13 หลัก ทำให้รัฐไม่สามารถช่วยจ่ายเงินค่ารักษาได้ 

เรื่องของน้องพลอยในตอนแรกของซีรีส์ กว่าจะเป็นคนไทย (ไม่ไร้สิทธิ) ได้พูดถึงความกลัวในชีวิตประจำวันของบุคคลตกสำรวจ ซึ่งทำให้พวกเขาหลีกเลี่ยงการเผชิญกับเจ้าหน้าที่รัฐ และหน่วยงานราชการ แต่เมื่อความเจ็บป่วยอยู่นอกเหนือการควบคุม ในตอนที่สองนี้เราจะมาพูดถึงสถานพยาบาลในฐานะสถานที่หนึ่งซึ่งคนไทยไร้สิทธิจำเป็นต้องเข้าหาเจ้าหน้าที่ เมื่อพวกเขาไม่มีสิทธิการรักษาเหมือนคนไทยคนอื่น ๆ

โดยในตอนนี้ เราจะเล่าถึงกรณีของน้องพีระพงษ์ (ปัจจุบันอายุ 2 ขวบ) ที่ก่อนหน้านี้อยู่ในสถานะคนไทยตกหล่นเหมือนกับน้องพลอย จนกระทั่งปี 2563 คุณย่าสมจิต (ย่าของน้องพี) ได้มีโอกาสประสานงานกับเครือข่ายคนไร้สิทธิในจังหวัดปราจีนบุรี และดำเนินการจนน้องพีได้สัญชาติไทยมาเป็นที่เรียบร้อย

ตั้งแต่เริ่มแรก ทำไมน้องถึงไม่มีบัตร?

แม้คุณย่าจะทราบดีว่าควรต้องแจ้งเกิดน้องพีเพื่อระบุตัวตนเป็นคนไทย แต่สถานการณ์ในกรณีนี้ไม่เอื้อให้ทำเช่นนั้น เพราะทางบ้านมาฝากน้องไว้กับคุณย่าตั้งแต่อายุ 3 เดือน แต่หลังจากนั้นคุณย่าก็ไม่สามารถติดต่อคุณแม่ของน้องได้อีกเลย ซึ่งตามกฎเดิมของราชการ การจะแจ้งเกิดและยืนยันตัวตนว่าเด็กเป็นคนไทยนั้นจำเป็นต้องมีแม่เข้ามาในกระบวนการด้วย 

ตั้งแต่น้องพีได้มาอยู่กับคุณย่าสมจิต คุณย่าก็พยายามเข้าไปสอบถามหน่วยราชการทั้งผู้ใหญ่บ้าน อบต. อำเภอมาโดยตลอด แต่คำตอบที่ได้รับกลับมาคือ ทางเดียวที่จะยืนยันว่าน้องเป็นคนไทยและจะได้ใบเกิดนั้นจำเป็นต้องมีแม่มายืนยันตัวตนด้วย “เขาบอกว่าทำไม่ได้หรอก ไม่งั้นลูกใครเกิดอยู่ไหนก็เอามาทำได้หมดแล้วล่ะ… เราก็ท้ออะเนอะ ได้ยินแบบนี้” คุณย่าเล่าความรู้สึกในตอนนั้น

พอรู้ว่าน้องไม่มีบัตรคุณย่ามีความกังวลอะไรบ้าง?

ความกังวลในช่วงแรกของคุณย่าคือเรื่องการรักษาพยาบาล เพราะเมื่อไม่มีใบเกิด คุณย่าสมจิตก็พาน้องพีไปฉีดวัคซีนไม่ได้ หรือบางครั้งที่เจ็บป่วย ค่ายาและค่ารักษาพยาบาลคุณย่าก็ต้องออกเงินเอง โดยเบิกไม่ได้เหมือนเด็กอื่น ๆ ที่มีชื่อและมีสิทธิเบิกจ่ายตามที่รัฐสนับสนุน จากเหตุเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ และการไม่ได้รับวัคซีนเหมือนเด็กทั่วไป ทำให้คุณย่าเป็นกังวลต่อไปว่า ถ้าหากน้องพีป่วยหนัก หรือเป็นอะไรขึ้นมา จะหาเงินจากไหนมารักษา

นอกจากนั้นแล้ว การไม่มีชื่อเป็นคนไทย หรือการเป็นบุคคลตกสำรวจ ยังทำให้คุณย่ากังวลถึงความไม่แน่นอนในอนาคตของน้องพี แม้ว่าตอนนั้นน้องจะอายุแค่เกือบขวบ แต่คุณย่าก็กลัวว่าหากหลานโตไปโดยไม่มีบัตรประชาชน ก็คงจะเข้าเรียนหนังสือไม่ได้ ซึ่งกระทบต่อการใช้ชีวิตอีกมากมายในอนาคต

ยิ่งไปกว่านั้น การที่น้องพีไม่ได้แจ้งเกิดยังทำให้คุณย่าได้รับเสียงเตือนมาจากหลายทาง “เขาบอกว่าระวังจะโดนจับเพราะเด็กไม่มีบัตร เราก็กลัวว่าถ้าเจ้าหน้าที่มาเจอ เขาจะจับเด็กเข้าสถานสงเคราะห์ และไม่ได้อยู่กับเรา” คุณย่าถ่ายทอดความกลัวในเวลานั้น ที่ยังไม่สามารถขึ้นทะเบียนชื่อน้องพีให้เป็นคนไทย

แล้วอะไรเป็นจุดเปลี่ยนของการหาทางทำบัตรให้น้อง?

      คุณย่าสมจิตเล่าว่าตอนประมาณ 1 ขวบ น้องพีตกเก้าอี้ลงมาลิ้นแตก ต้องไปเย็บแผลรักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งค่ารักษาในตอนนั้นเป็นเงิน 9 พันกว่าบาท คุณย่ารับบิลค่ารักษามาเข้าไปคุยกับนักสังคมสงเคราะห์ของโรงพยาบาล โดยที่รู้ว่าไม่สามารถหาเงินมาจ่ายได้ทั้งหมดภายในวันนั้น

         จากการพูดคุยกับพี่พรเพียร นักสังคมสงเคราะห์ของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัย
ภูเบศร เคสของน้องพีแทบจะไม่ต้องเสียเงินค่ารักษาพยาบาลเลยหากมีใบเกิดและมีรายชื่อว่าเป็นเด็กไทย      ในตอนนั้น คุณย่ามีเงินอยู่ 2 พันกว่าบาท เมื่อหมอ พยาบาลที่ช่วยรักษาทราบว่าน้องพีไม่มีสิทธิเบิกจ่ายก็รวมเงินส่วนตัวกัน 4 พันกว่าบาทเพื่อช่วยเหลือ และอีก 2 พันกว่าบาทก็ขึ้นว่าเป็นหนี้ค้างจ่ายกับโรงพยาบาลไว้ก่อน จนกระทั่งคุณย่าสมจิตไปยืมเงินจากครอบครัวมาจ่ายคืนในภายหลัง

         เมื่อพี่พรเพียรทราบว่าน้องพีเป็นเคสตกสำรวจ ก็ติดต่อเจ้าหน้าที่ศูนย์ประสานงานเครือข่ายคนไทยไร้สิทธิ จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อส่งต่อให้ทางเครือข่ายช่วยเดินเรื่องต่อ

น้องพีและคุณย่า

กระบวนการและขั้นตอนในการทำบัตรของน้องพี

พี่ผึ้ง เจ้าหน้าที่ศูนย์ประสานงานเครือข่ายภาคประชาชนจังหวัดปราจีนบุรี เล่าว่ากระบวนการขอสัญชาติของน้องพีระพงษ์อยู่ภายใต้ “ข้อตกลงบันทึกความร่วมมือ (MOU) การดำเนินงานพัฒนาการเข้าถึงสิทธิหลักสุขภาพของคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน” [1] ที่ภาครัฐได้เปิดโอกาสให้คนไร้สัญชาติได้พิสูจน์ DNA เทียบกับญาติที่มีสัญชาติไทย (ในกรณีนี้เป็นคุณพ่อของน้องพี) โดยหลังจากที่คุณย่าเขียนคำร้องไปที่ศูนย์ประสานงาน  ในขั้นแรกทางศูนย์ประสานงาน ได้พิสูจน์ตัวตนของน้อง โดยลงพื้นที่ในหมู่บ้านเพื่อตรวจสอบว่าน้องพีเป็นคนไทยที่อยู่ในพื้นที่นั้นมาก่อนจริง ๆ ซึ่งรวมถึงการสอบถามผู้ใหญ่บ้าน และเพื่อนบ้านคนอื่น ๆ อีกทั้งยังได้สอบถามฝั่งพ่อให้ยืนยันว่าน้องพีเป็นลูกของตน เพื่อให้ทางเครือข่ายยืนยันได้ว่าไม่ได้เป็นกรณีที่คนต่างชาติสวมสิทธิขอสัญชาติไทย (ซึ่งผิดกฎหมาย)

หลังจากที่พี่ผึ้งได้รวบรวมเอกสาร รูปถ่ายลงเยี่ยมบ้าน ใบบอกเล่าประวัติของน้องพี รวมถึงได้เสาะหาพยานที่สามารถยืนยันตัวตนของน้องได้เพื่อมายืนยันกับภาครัฐ ก็ได้ส่งคำร้องไปยังที่ว่าการอำเภอบ้านเกิด เพื่อให้ปลัดอำเภอส่งต่อเอกสารเหล่านี้พร้อมกับหนังสือไปยังนักสังคมสงเคราะห์ประจำโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรที่เป็นหนึ่งในหน่วยงานสนับสนุนกระบวนการพิสูจน์ DNA ในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี และส่งต่อให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์รับเรื่องตรวจ DNA

ในขั้นการตรวจ DNA นั้น ทางศูนย์ประสานงานได้ดำเนินการขอเงินสนับสนุนจากองค์กรต่าง ๆ เช่น สสส. และมูลนิธิปอเต็กตึ๊ง เพื่อช่วยเหลือค่าเดินทางไปตรวจ DNA ที่กรุงเทพฯ และได้ทำเรื่องขอโควต้าตรวจ DNA โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายสำหรับน้องพีระพงษ์ 

โดยเมื่อสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ได้ตรวจผลเสร็จแล้วก็ได้ส่งผลไปที่ว่าการอำเภอเพื่อรอยืนยันผลทางกฎหมายอย่างเป็นทางการ โดยรวมแล้วกระบวนนี้ใช้เวลาราวหนึ่งเดือนตั้งแต่คุณยายสมจิตต์ได้ทำคำร้องส่งไปให้พี่ผึ้งจนถึงวันที่น้องพีได้เข้าไปอำเภอเพื่อทำเอกสารใบเกิดและขึ้นชื่อทะเบียนบ้าน

ปัญหา และการพัฒนาของกระบวนการส่งต่อเคสและขอบัตรในปัจจุบัน

กรณีของน้องพีสะท้อนให้เห็นว่าโรงพยาบาลเป็นอีกหนึ่งจุดสำคัญที่เราจะพบเห็น หรือแยกบุคคลตกสำรวจออกมาจากคนไทยทั่วไปที่มีสิทธิเบิกจ่ายได้ง่าย โดยเฉพาะกลุ่มที่ถูกส่งต่อมาแผนกของนักสังคมสงเคราะห์เพราะไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาล นอกเหนือจากการช่วยเรื่องค่ารักษาแล้ว โรงพยาบาลและนักสังคมสงเคราะห์มีความสำคัญในการระบุเคสคนไทยไร้สิทธิและส่งต่อมายังเครือข่าย เพื่อไม่ให้การช่วยเหลือจบลงเพียงแค่ในการจ่ายค่ารักษาครั้งเดียว แต่เพื่อให้น้องพี หรือคนไทยไร้สิทธิคนอื่น ๆ สามารถมีบัตรประชาชน มีสิทธิเบิกจ่าย และได้รับสวัสดิการอื่น ๆ จากรัฐในการเจ็บป่วยครั้งต่อไป

แต่กลับกลายเป็นว่าไม่ใช่ทุกโรงพยาบาลในทุกจังหวัด จะมีกลไกการส่งต่อที่ชัดเจนเหมือนกับในกรณีของน้องพี เพราะบางโรงพยาบาล เช่น โรงพยาบาลระดับอำเภอหรือชุมชน ก็อาจไม่มีนักสังคมสงเคราะห์ และไม่มีกลไกส่งต่อเคสไปยังเครือข่ายฯ จึงถือว่าเป็นความโชคดีของน้องพีระพงษ์ในเวลานั้นที่มารักษาในโรงพยาบาลที่นักสังคมฯ รู้จักและได้ส่งต่อเคสไปยังทีมผู้รู้กระบวนการ ที่พอจะขอโควตาตรวจ DNA โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายมาได้ มีกำลังพอที่จะไปลงพื้นที่สืบพยาน และมีทางต่อรองกับหน่วยงานรัฐมากกว่าคนทั่วไป 

จากปัญหาที่เกิดกับกระบวนการทำบัตรประชาชนของน้องพลอยและน้องพี ในปัจจุบัน เราเริ่มเห็นพัฒนาการของหลายภาคส่วนที่พยายามเข้ามาแก้ไขจุดอ่อนเหล่านี้ ภาครัฐ-ภาคประชาสังคมได้พัฒนากระบวนการส่งต่อเคสคนไทยที่มีปัญหาทางทะเบียนให้ง่ายและสะดวกต่อประชาชนมากยิ่งขึ้น  ผ่านกลไกและความร่วมมือนำร่องในจังหวัดปราจีนบุรี โดยกลไกนำร่องนี้เริ่มที่การส่งต่อเคสคนไทยไร้สิทธิจากหน่วยงานที่มักจะพบกลุ่มคนไทยไร้สิทธิ เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง การรวบรวมจาก อบต.ฯลฯ โดยส่งต่อไปยังหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการพิสูจน์สัญชาติและขึ้นทะเบียนเป็นคนไทย กลไกส่งต่อเคสเหล่านี้มีกรอบเวลากำหนดชัดเจนในแต่ละขั้นตอน และเป็นประจำทุก ๆ เดือน ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้เคสคนไทยไร้สิทธิที่มาดำเนินการทำบัตรได้ว่า พวกเขาจะไม่ต้องรอคอยกระบวนการพิสูจน์สัญชาติอย่างไร้จุดมุ่งหมายอีกต่อไป

นอกจากนี้ยังมีระบบสนับสนุนสวัสดิการการรักษาพยาบาลจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ให้กับกลุ่มคนที่ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิสูจน์สัญชาติไทย ทั้งนี้ โรงพยาบาลในพื้นที่อย่างโรงพยาบาลอภัยภูเบศรได้ เป็นโรงพยาบาลต้นแบบในการดำเนินการเก็บตัวอย่าง DNA ของคนไทยไร้สถานะเพื่อส่งต่อให้กับทางสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ในการพิสูจน์สัญชาติ ทำให้คนร้องขอตรวจไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปตรวจถึงกรุงเทพฯ อีกด้วย

จากเรื่องเล่าของทั้งน้องพลอยและน้องพี เมื่อได้ยินคำถามว่า “อะไรคือสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน” เราหวังว่าผู้อ่านจะนึกถึง ‘บัตรประชาชน’ ขั้นมาเป็นอันดับแรก ๆ และในขณะเดียวกัน  เราหวังว่าภาครัฐ ภาคประชาสังคม และผู้อ่านจะได้ย้อนกลับมามองเห็นและให้ความสำคัญกับกลุ่มคนไทยไร้ซึ่งสิทธิ-สถานะความเป็นพลเมือง เสียงของพวกเขาสะท้อนของปัญหาความซับซ้อนของกระบวนการขอบัตร และความช่วยเหลือที่ไม่ทั่วถึงซึ่งคนไทยไร้สิทธิต้องเผชิญ อย่างไรก็ดี ด้วยความสำเร็จอันเป็นรูปธรรมของกลไกส่งต่อเคสคนไทยที่มีปัญหาทางทะเบียนของจังหวัดปราจีนบุรี เราจึงคาดหวังได้ว่าพัฒนาการเหล่านี้จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนและปรับใช้ในจังหวัดอื่น ๆ ต่อไป และท้ายที่สุดแล้ว การเดินเรื่องของคนไทยไร้สิทธิทั่วประเทศจะไม่ลำบาก และไม่ซับซ้อนเท่ากรณีอย่างน้องพีและคุณย่าสมจิตอีกในอนาคตอันใกล้ 

[1] เป็นข้อตกลงร่วมของ 9 หน่วยงาน คือ 1. กระทรวงมหาดไทย 2. สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม 3. กระทรวงสาธารณสุข 4. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 5. กรุงเทพมหานคร 6. สสส. 7. Plan International ประเทศไทย 8. มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย 9. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)