ส่องปัญหากลุ่ม LGBTQ+ ไร้บ้านในโลกยุคโควิดระบาด

ผู้เขียน: บุณิกา จูจันทร์

เป็นเวลาหนึ่งปีแล้วที่โรคโควิด-19 ได้เข้ามาสู่ประเทศไทย และที่ผ่านมา สัญญาณต่าง ๆ ได้บ่งชี้ว่าสถานการณ์ที่อยู่อาศัยในประเทศกำลังไปในทิศทางที่ไม่สู้ดีนัก หนึ่งในนั้นคือตัวเลขของคนไร้บ้านหน้าใหม่ที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง

จำนวนของผู้คนที่สูญเสียที่อยู่อาศัยในปี 2563 ทำให้เราเห็นถึงปัญหาหลายมิติในสังคม ไม่ว่าจะเป็นอัตราการเลิกจ้างและการปิดตัวของธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้น ความมั่นคงทางอาชีพที่ถดถอยในระดับประเทศ จำนวนคนยากจนที่สะสมเป็นลำดับ หรือความเปราะบางในเชิงสุขภาวะที่ยิ่งทวีคูณเมื่อผู้คนไม่มีที่อยู่แน่นอนมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ดูเหมือนว่าในยุคโรคระบาดนี้ สภาพสังคมปัจจุบันเอื้อให้คนกลายเป็นคนไร้บ้านมากขึ้น นั่นแปลว่าคนไร้บ้านเองก็มีแนวโน้มจะประสบความยากลำบากในการใช้ชีวิตและหลุดพ้นจากสภาวะไร้บ้าน เพราะการคุกคามจากภัยสาธารณสุขนี้

(ที่มาภาพ: Glaad.org)

สถานการณ์การไร้บ้านดูจะซับซ้อนมากขึ้นเมื่อเราตั้งใจมองไปถึงมิติด้านเพศ โดยเฉพาะประสบการณ์ชีวิตของกลุ่ม LGBTQ+ ที่เป็นคนไร้บ้าน เพราะในกรณีนี้ การกดขี่อัตลักษณ์ทางเพศคือหนึ่งในตัวแปรที่สร้างความเหลื่อมล้ำด้านที่อยู่อาศัยและเศรษฐกิจ และกลุ่ม LGBTQ+ ไร้บ้านไม่ได้เพียงแต่ใช้ชีวิตในโลกที่ตีตราแต่คนไร้บ้าน แต่ยังรวมไปถึงผู้คนทั้งหมดที่อยู่นอกกรอบ “ชายจริง หญิงแท้” อันคับแคบ 

ไร้บ้าน และไร้ความเท่าเทียมทางเพศ : การกดขี่ซ้ำซ้อนซึ่งสร้างปัญหามาตั้งแต่อดีต

ก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กลุ่ม LGBTQ+ แบกรับความเสี่ยงที่จะเป็นคนไร้บ้านเป็นพิเศษมาก่อนแล้ว กระบวนการผลักไสกลุ่ม LGBTQ+ ไปสู่ชายขอบสังคมได้บั่นทอนความเป็นอยู่ดีทั้งในเชิงร่างกายและใจ รวมไปถึงความปลอดภัยและความมั่นคงของชีวิต ในรายงาน “Being LGBT in Asia: The Thailand Country Report” พบว่ากลุ่ม LGBTQ+ ต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติในโลกของการทำงาน

ไม่ว่าจะในระหว่างกระบวนการสมัครงานหรือในพื้นที่ทำงานโดยตรง อาทิ การตีกรอบให้ทำงานได้เพียงไม่กี่อาชีพ การไล่ออกและไม่ตอบรับเข้าทำงานเนื่องจากอคติทางเพศ หรือสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นมิตร หรือสร้างอันตรายต่อสวัสดิภาพของคนทำงาน  ทำให้กลุ่ม LGBTQ+ อยู่ในจุดที่เปราะบาง มีความเสี่ยงจะสูญเสียการงานและรายได้จุนเจือตนเอง รวมไปถึงที่อยู่อาศัยด้วย และภายในพื้นที่พักอาศัย ความเกลียดชังและความไม่เข้าใจอาจดำรงอยู่ภายในครอบครัว เยาวชนและสมาชิกที่เป็นกลุ่ม LGBTQ+ อาจตกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปฏิเสธวิถีทางเพศของตน และกระทำการรุนแรงต่าง ๆ ใส่จนเกิดบาดแผลทางกายและทางใจ เช่น การว่ากล่าว การทำร้ายร่างกาย หรือการบังคับให้เข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนอัตลักษณ์ทางเพศเพื่อให้กลับมาเป็น “ปรกติ”

เมื่อบ้านกลายเป็นบ่อเกิดของอันตราย หลายคนจำเป็นต้องพาตัวเองออกมาจากพื้นที่ตรงนั้น การคุกคามในลักษณะนี้ยังสามารถเกิดขึ้นในพื้นที่ของสถานศึกษา การล้อเลียนกลั่นแกล้งโดยนักเรียนด้วยกันเอง หรือการเลือกปฏิบัติโดยครูได้ผลักเยาวชน LGBTQ+ ให้ออกมาจากระบบเพื่อความอยู่รอดของตัวเองในที่สุด

เหตุการณ์เหล่านี้อาจสร้างผลกระทบที่รุนแรงต่อสภาพจิตใจ รวมไปถึงความรู้สึกปลอดภัยในชีวิตของกลุ่ม LGBTQ+  จนกระทั่งบางคนต้องตัดสินใจออกมาสู่โลกภายนอก แต่พื้นที่สาธารณะเองก็ยังเป็นสถานที่แห่งการตีตราความยากจนและความเปราะบางของผู้คน การกิน นั่ง นอน ใช้ชีวิตของคนไร้บ้านถูกจับตาและห้ามปรามอย่างรุนแรง ในขณะที่การประกอบกิจกรรมบางชนิดเพื่อประคับประคองชีวิตกลายเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เช่น การค้าบริการทางเพศ การค้าสารเสพติด การขอรับเงินและสิ่งของบริจาค

คนไร้บ้านจึงอยู่ในจุดที่เสี่ยงจะเข้าไปพัวพันกับการกระทำผิดต้องโทษทางอาญา เรือนจำ การขึ้นโรงขึ้นศาล ตามด้วยความยากจนเรื้อรังที่รออยู่ในโลกหลังลูกกรง เพราะเมื่อบุคคลนั้น ๆ มีประวัติอาชญากรรมอยู่กับตัว การพาตัวเองออกจากภาวะไร้บ้านและภาวะยากจนเป็นเรื่องที่ทำได้ยากขึ้นเป็นพิเศษ แต่เดิมคนไร้บ้านถูกสังคมตีตราว่าเป็นที่ไม่พึงประสงค์ และใช้ชีวิตอย่าง “ผิดกฎหมาย” อยู่แล้ว เมื่อมีประวัติว่าเคยโดนดำเนินคดีหรือถูกลงโทษด้วยการจองจำ สิ่งนี้ยิ่งทำให้คนพิพากษาคนไร้บ้านว่าเป็นภัยสังคม นำไปสู่การปฏิเสธไม่ให้เช่าที่อยู่อาศัย หรือไม่รับเข้าทำงาน

สำหรับคนไร้บ้านที่หาการคุ้มครองจากศูนย์พักพิงชั่วคราว ศูนย์เหล่านั้นเองมีจำนวนจำกัด และบางที่เองอาจไม่มีพื้นที่ที่รองรับผู้คนได้ทั้งหมด นอกจากนี้ ภายในศูนย์พักพิงมีกฎระเบียบที่คนไร้บ้านจำเป็นต้องปฏิบัติตามให้ได้ มิเช่นนั้นอาจจำต้องออกไปจากที่พักดังกล่าว

สำหรับคนไร้บ้านที่เป็นกลุ่ม LGBTQ+ การอาศัยอยู่ในบ้านพักชั่วคราวอาจไม่ใช่ประสบการณ์ที่ปลอดภัยและสบายใจนัก เนื่องจากเจ้าหน้าที่ในแต่ละศูนย์อาจไม่เข้าใจชีวิตและความต้องการเฉพาะของกลุ่ม LGBTQ+ ทำให้ไม่สามารถจัดสรรช่วยเหลือที่จำเป็นได้ เช่น การให้บริการทางการแพทย์เพื่อการแปลงเพศหรือปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ให้ตรงกับเพศภาวะภาวะ (gender-affirming health services) การให้คำปรึกษาพูดคุยพร้อมกับหล่อเลี้ยงความเป็นอยู่ดีทางใจ หรือการสร้างสภาพแวดล้อมที่เปิดกว้าง สามารถรองรับทุกอัตลักษณ์ทางเพศ และไม่ได้อยู่ในกรอบทวิลักษณ์ทางเพศ (gender binary) เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ กลุ่ม LGBTQ+ ไร้บ้านเองมีแนวโน้มจะเผชิญกับการปฏิบัติโดยมิชอบภายในศูนย์พักพิงเช่นกัน 

เมื่อโรคระบาดเข้ามาซ้ำเติมภาวะไร้บ้านและการกดขี่ทางเพศ

จากผลการสำรวจของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP Thailand) และมูลนิธิเอเชียแปซิฟิค ทรานส์เจนเดอร์ เนตเวิร์ค (APTN) พบว่าโรคโควิด-19 สร้างอุปสรรคในการใช้ชีวิตให้กับกลุ่ม LGBTQ+ อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการหาเลี้ยงอาชีพ การเข้าถึงความช่วยเหลือและเครือข่ายคนใกล้ชิด หรือการดูแลความเป็นอยู่ดี โดยเฉพาะทางจิตใจ ร้อยละ 85 ของผู้ตอบแบบสอบถามได้รับผลกระทบจากมาตรการลดระดับการสัญจรไปมาของประชากร คนข้ามเพศบางส่วนกล่าวว่าไม่สามารถไปตามสถานพยาบาลเพื่อขอรับยาฮอร์โมนส์ได้ โดยเฉลี่ยแล้ว ครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามขาดรายได้และอาชีพ และโดนบังคับให้หยุดงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ทั้งยังมีอาการซึมเศร้า เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงชุมชนของตัวเอง และประสบความรุนแรงจากสมาชิกในครอบครัวหรือบุคคลที่ใกล้ชิด 

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้กลุ่ม LGBTQ+ เสี่ยงต่อการเป็นคนไร้บ้านมากยิ่งขึ้น สภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทำให้ผู้คนจำนวนมากไม่สามารถแบกรับภาระด้านค่าใช้จ่ายของที่อยู่อาศัยได้อีกต่อไป และเมื่อพิจารณาถึงผลกระทบของการกักตัวอยู่ในที่พักอาศัย  สำหรับหลายคนแล้ว การกลับไปอยู่ที่บ้านคือการหวนคืนสู่สังคมที่เต็มไปด้วยเกลียดชัง และความไม่เข้าใจอัตลักษณ์ทางเพศต่าง ๆ เพื่อหลีกหนีสถานการณ์ที่รุนแรง บางคนจำเป็นต้องซ่อนตัวตนของตัวเอง  หรือจำเป็นต้องหลบหนีออกจากบ้านไปเลย 

แต่การไปสู่โลกภายนอกในช่วงโรคระบาดนั้นมากับปัญหาหลายชั้นหลายตอนเช่นกัน ด้วยมาตรการรักษาระยะห่างและลดสัมผัสใกล้ชิด เครือข่ายคนใกล้ชิดที่เราไว้วางใจหรือ “ครอบครัวที่เราเลือกเอง” (chosen family) ยิ่งอยู่ห่างไกลจากเดิม สำหรับกลุ่ม LGBTQ+ ที่ไร้บ้าน สิ่งที่สูญเสียไปไม่ใช่แค่แหล่งทรัพยากรในการดำรงชีวิตหรือยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์เท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ปลอดภัยอีกด้วย

เมื่อกล่าวถึงการจัดการศูนย์พักพิงสำหรับเยาวชน LGBTQ+ ไร้บ้าน Wendy Kaplan ผู้อำนวยการศูนย์พักพิง Trinity Place ณ แมนฮัตตัน นครนิวยอร์ค ระบุว่าการรับคนเข้ามาใหม่เป็นเรื่องยาก เพราะว่าแต่ละคนจะต้องผ่านกระบวนการตรวจโรคโควิด-19 เสียก่อน และชุดตรวจดังกล่าวมีจำนวนจำกัด

“การตรวจโรคสร้างผลกระทบที่ชัดเจนต่อคนที่ไม่สามารถเข้าถึงเครือข่ายรักษาความปลอดภัยของชีวิต รวมไปถึงชุมชนของพวกเขา ซึ่งเป็นที่ที่คอยเยียวยาจิตใจ” Kaplan กล่าว “เมื่อคุณมีครอบครัวที่คุณเลือกเอง ส่วนครอบครัวดั้งเดิมของคุณไม่ใช่พื้นที่ที่ปลอดภัยและสร้างเสริมพลังกำลังใจ ทั้งหมดทั้งมวลนี้ถูกพรากไปหมดในช่วงโรคระบาดนี้”

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ปิดประตูสู่ชุมชนที่เป็นกำลังสำคัญในการดูแลชีวิตของกลุ่ม LGBTQ+ ไร้บ้าน การเข้าพบศูนย์ให้คำปรึกษา สถานพยาบาลชุมชน หรือกลุ่มพูดคุยให้กำลังใจด้วยตัวเองได้กลายมาเป็นเรื่องยาก ฉะนั้นแล้ว ไม่เพียงแต่กลุ่ม LGBTQ+ ไร้บ้านจะยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 แต่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่จำเป็นได้สะดวก แม้ว่าในปัจจุบัน ช่องทางออนไลน์จะเป็นอีกตัวเลือกหนึ่ง แต่ประสบการณ์การติดต่อในลักษณะนี้ขาดความใกล้ชิด ไม่สร้างความรู้สึกที่สบายใจได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้เอง กลุ่ม LGBTQ+ โดยคนสูงอายุยังมีแนวโน้มพึ่งพาครอบครัวที่เลือกเองมากเป็นพิเศษ มาตรการรักษาระยะห่างอาจตัดโอกาสในการรับความช่วยเหลือและฟูมฟักความสัมพันธ์ตรงนี้ไปได้ 

ดังที่ Kapland กล่าวไว้ข้างต้น ที่พักอาศัยสำหรับคนไร้บ้านเริ่มหดตัวลง แต่เดิมศูนย์พักพิงที่รองรับกลุ่ม LGBTQ+ โดยเฉพาะนั้นมีจำนวนไม่มากอยู่แล้ว ณ ปัจจุบัน ศักยภาพในการรองรับคนของศูนย์ดังกล่าวถดถอยลงเรื่อย ๆ เนื่องจากมีการจำกัดปริมาณคนเข้าพักและคัดกรองคนที่จะเข้ามาใหม่ ทำให้กลุ่ม LGBTQ+ ที่ไร้บ้านอาจไม่สามารถเข้าไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย หรือจำเป็นต้องไปใช้บริการศูนย์พักพิงที่อื่น ซึ่งอาจมีปัญหาการเลือกปฏิบัติทางเพศหรือความรุนแรงทางเพศได้

อ้างอิง:

  • Gibbons, Sammy. “LGBTQ Youth Face an ‘Epidemic’ within the COVID Pandemic: a Lack of Safe Housing.” North Jersey Media Group, NorthJersey.com, 24 Jan. 2021, www.northjersey.com/story/news/new-jersey/2021/01/21/safe-shelter-lgbtq-homeless-housing-hard-find-during-covid-19/4159848001/.
  • “Joint Survey with UNDP Thailand on the Impact of COVID-19 on LGBTI Communities Findings – APTN – Asia Pacific Transgender Network.” APTN, 10 Nov. 2020, weareaptn.org/2020/07/01/joint-survey-with-undp-thailand-on-the-impact-of-covid-19-on-lgbti-communities-findings/.
  • Khairzada, Zarina. “LGBTQ Youth Face Homelessness During Pandemic.” spectrumnews1.Com, spectrumnews1.com/ca/la-west/homelessness/2020/12/17/lgbtq-youth-face-homelessness-during-pandemic.
  • Madrigal-Borloz, Victor. “Report on the Impact of the COVID-19 Pandemic on the Human Rights of LGBT Persons.” OHCHR, www.ohchr.org/EN/Issues/SexualOrientationGender/Pages/COVID19Report.aspx.
  • Miller, Naseem S. “The Impact of COVID-19 on LGBTQ Communities: A Research Roundup.” The Journalist’s Resource, 2 Apr. 2021, journalistsresource.org/home/covid-19-lgbtq-research/.
  • UNDP, USAID (2014). Being LGBT in Asia: Thailand Country Report. Bangkok.  http://www.undp.org/content/dam/thailand/docs/UNDP%20Thailand%20Being%20LGBT%20in%20Asia%20Thailand%20Country%20Report%20-%20Thai.pdf