รูบี้ โคราโด หรือมาม่า รูบี้ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศ จัดตั้ง “คาซา รูบี้” เพื่อเป็นศูนย์พักพิงชั่วคราว และชุมชนให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่ม LGBTQ โดยเฉพาะLGBTQ ที่ไร้บ้าน
“ฉันรู้จักคนในเมืองที่จะทำงานกับคนกลุ่มนี้ กลุ่มที่ไม่มีใครอยากทำงานด้วย” มาม่า รูบี้ กล่าว
มาม่า รูบี้ เป็นคนข้ามเพศ เติบโตในประเทศเอลซัลวาดอร์ ต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมายก่อนจะมาเปิดศูนย์แห่งนี้ ในทศวรรษ 2520 (1980) พ่อของเธอจ่ายเงินให้กลุ่มค้ามนุษย์เพื่อนำเธอออกจากบ้านเกิดที่เต็มไปด้วยผลกระทบจากสงคราม เธอเล่าว่า รถเมล์นำเธอมายังเมืองวอชิงตันดีซี เมืองที่พวกค้ามนุษย์ให้ห้องเด็กวัย 16 ปี และเอาเงินทุกบาททุกสตางค์ที่เธอทำงานได้ไป
“เจ้าของบ้านพยายามจะข่มขืนฉัน ฉันจึงหนีออกมา”
เมื่อหนีออกมา โคราโดใช้ชีวิตแบบคนข้ามเพศที่ต้องนอนในสวนสาธารณะ บางครั้งต้องไปขออาศัยนอนกับเพื่อน จนกระทั่งเธอเก็บเงินได้ส่วนหนึ่งจึงไปเช่าห้อง ในปีพ.ศ. 2532(1989) สำนักงานให้เช่าอสังหาริมทรัพย์จ้างเธอเป็นแม่บ้านทำความสะอาด และต่อมาเสนอฝึกให้เป็นผู้จัดการ
“ฉันรู้สึกเหมือนกับถูกหวย” เธอเล่าความรู้สึกในตอนนั้น
ในช่วงกลางทศวรรษ 2530 (1990) โอกาสที่เธอได้รับมาเริ่มหายไป เมื่อเธอเริ่มเปิดเผยตัวว่าเป็น “คนข้ามเพศ” เธอมักจะไปที่คลับแถววงเวียนดูปองต์แล้วเต้นแห่โชว์ เพื่อนบ้านก็รู้ว่านั้นเป็นชีวิตกลางคืนของเกย์
“ฉันได้รับมงกุฎเป็น “มิส เกย์ เอลซัลวาดอร์” และทุกบ่าย ฉันจะสวมมงกุฎและเดินไปทั่ว เพราะฉันรู้สึกว่ามันสวยดี” เธอเล่า การเสริมอึ๋ม และวิกที่เธอใส่ ทำให้เธอดูเป็น “เกย์” มากกว่าคนอื่นๆ เธอเริ่มเปลี่ยนตัวเองให้เหมือนผู้หญิงมากขึ้นด้วยการซื้อฮอร์โมนที่ขายตามท้องถนนมาฉีดเอง
“ครั้งหนึ่ง ช่วงที่แปลงเพศ ชีวิตน่ากลัวมาก เพราะแม้แต่เพื่อนบ้านที่เป็นเกย์ อาจจะยอมรับเกย์ทั่วไป แต่พวกเขาไม่ยอมรับคนแปลงเพศ” เธอเล่า ร้านค้าปฏิเสธที่จะบริการเธอ คนขับรถเมล์ไล่เธอลงจากรถ แคชเชียร์ในร้านอาหารแดกด่วนเปลี่ยนสิ่งที่เธอสั่ง คนที่ทำงานพูดบางอย่างที่หมายถึงการไม่ต้อนรับ ประสบการณ์เหล่านี้บีบบังคับให้โคราโดตัดสินใจลาออกจากงาน และเริ่มต้นอาชีพขายบริการทางเพศเพื่อเอาตัวรอด
“ฉันไม่ชอบ โคตรเกลียดมันเลย แต่คุณก็รู้ว่ามันไม่มีทางเลือก” เธอกล่าว
แม้ชีวิตเธอจะก้าวถอยหลัง แต่เธอยังคงมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลง เธอเป็นอาสมัครให้กับกลุ่ม LGBTQ ในท้องถิ่นและคลินิกHIV ซึ่งเป็นสถานที่ที่เปิดโอกาสให้เธอได้ใช้ความสามารถพิเศษของตัวเองเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ทำให้คลินิกแห่งหนึ่งจ้างเธอทำงาน เธอเล่าว่า ประสบการณ์การทำงานลักษณะนี้ ทำให้เธอเห็นว่า LGBTQ ยังขาดพื้นที่อยู่มาก และนั้นกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เธอคิดทำอะไรบางอย่าง
“ฉันมีความความฝันว่า ฉันจะสร้างศูนย์พักพิงเกย์ไร้บ้าน มีเตียงนอนที่ปูด้วยผ้าปูแพรซาติน มันคงดูสวยงามมาก มันดูให้ความรู้สึกเกย์ดี” โคราโดพูดถึงความรู้สึกในตอนนั้น
ในปีพ.ศ.2546 (2003) โคราโดร่วมก่อตั้ง “The DC Trans Coalition” องค์กรที่ต่อมากลายเป็นผู้นำขับเคลื่อนเรื่องสิทธิความหลากหลายทางเพศในเมืองวอซิงตันดีซี ในปี 2552 ความฝันในการสร้างศูนย์พักพิงของเธอเกือบแตกสลาย เมื่อแฟนของเธอทำร้ายเธออย่างป่าเถื่อน และเกือบทำให้เธอตาย ความสะเทือนใจในครั้งนั้นทำให้เธอไม่สามารถทำงาน และจ่ายค่าเช่าห้องได้ เธอจึงย้ายไปอยู่ศูนย์พักพิงคนไร้บ้าน และได้รับเงินสำหรับผู้พิการราว 420,000 บาท (12,000 ดอลล่าห์สหรัฐ) เธอตัดสินใจใช้เงินก้อนนั้นเปิดศูนย์พักพิงฯตามที่เธอฝันไว้
“ฉันชอบ นี่แหละ ฉันกำลังจะตั้งองค์กร ฉันกำลังจะเปิดศูนย์ฯ มันเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเยียวยาความรู้สึกที่เจ็บปวดมากๆ” โคราโดเล่า
ในปีพ.ศ. 2555 (2012) โคราโด เปิด “คาซา รูบี้” เดิมเป็นศูนย์ชั้นเดียว ต่อมาได้ขยายเป็นบ้านหลายหลังให้บริการที่อยู่อาศัยฉุกเฉินสำหรับ LGBTQ ในเมืองวอชิงตัน ดี.ซี.
“ก่อนเปิดศูนย์ ฉันนั่งอยู่ในศูนย์ฯ ฉับปลื้มมาก ความฝันกำลังจะเป็นจริง” เธอเล่าด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ
เธอกล่าวอีกว่าในศูนย์ฯมีเตียงอยู่ 40 เตียง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีคนมากกว่า 500 คน เข้ามาใช้บริการ นอกจากรูบี้คาซาจะต้อนรับ LGBTQ ทุกเฉด ส่วนใหญ่ผู้ที่เข้ามาเป็นกลุ่มเยาวชนข้ามเพศ และกลุ่มที่ยังไม่แน่ใจในเพศวิถีของตน
“โครงการให้ความความช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัยบางแห่งจะไล่พวกเขาออก หากกลับบ้านเกินสี่ทุ่ม แต่ฉันไม่ทำแบบนั้น”
“ฉันทำงานกับพวกเขา ฉันเข้าใจพวกเขา เพราะพวกเขามีความบอบช้ำ ฉันก็มีความบอบช้ำ”
โคราโด วัย 47 ปี เล่าอีกว่า การเปิดศูนย์ฯไม่ได้ราบรื่น มีความท้าทาย ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีคนปาอิฐใส่หน้าต่างศูนย์ฯ และทำร้ายทีมงานข้ามเพศของศูนย์ฯคนหนึ่ง ซึ่งเป็นครั้งที่สามในรอบสองอาทิตย์ที่มีการทำลายทรัพย์สินของศูนย์ฯ หลังจากถูกจู่โจม เราได้รับกำลังใจอย่างล้นหลาม รวมถึงได้รับเงินบริจาคทั่วประเทศ โดยบาร์เกย์ท้องถิ่นระดมทุนให้ศูนย์ได้ราว 600,000 บาท($17,000) และมีผู้บริจาคผ่านออนไลน์รวมแล้วได้ประมาณ 500,000 บาท($15,000)
“สิ่งนี้เติมเต็มหัวใจของฉัน”
ข้อมูลจากศูนย์ความหลากหลายทางเพศและความเท่าเทียมแห่งชาติ( The National Center for Transgender Equality) ระบุว่า คนไร้บ้านกลุ่มเยาวชนร้อยละ 20- 40 เป็น LGBTQ และในคาซา รูบี้ มีเยาวชนที่อยู่ในบัญชีรายชื่อถึง 110 คน
สำหรับโคราโด มันหมายถึงมีเรื่องที่ต้องทำอีกมาก “ฉันไม่เลิกทำง่ายๆหรอก ฉันมีชุมชนใหญ่อยู่หลังฉัน” เธอสัญญา
เขียนโดย จูเลียร์ คอมป์ตัน (JULIE COMPTON)
ที่มา: NBCnews