เรื่องราวของมาม่ารูบี้ กับศูนย์พักพิงฯ LGBTQ ที่ไร้บ้าน

รูบี้ โคราโด หรือมาม่า รูบี้ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศ จัดตั้ง “คาซา รูบี้” เพื่อเป็นศูนย์พักพิงชั่วคราว และชุมชนให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่ม LGBTQ โดยเฉพาะLGBTQ ที่ไร้บ้าน

 

รูบี้ โคราโด หรือมาม่า รูบี้ กับสมาชิก หน้าศูนย์“คาซา รูบี้” เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2559 ภาพโดย ลินดา เดวิทสัน

“ฉันรู้จักคนในเมืองที่จะทำงานกับคนกลุ่มนี้ กลุ่มที่ไม่มีใครอยากทำงานด้วย” มาม่า รูบี้ กล่าว

มาม่า รูบี้ เป็นคนข้ามเพศ เติบโตในประเทศเอลซัลวาดอร์  ต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมายก่อนจะมาเปิดศูนย์แห่งนี้  ในทศวรรษ 2520 (1980) พ่อของเธอจ่ายเงินให้กลุ่มค้ามนุษย์เพื่อนำเธอออกจากบ้านเกิดที่เต็มไปด้วยผลกระทบจากสงคราม เธอเล่าว่า รถเมล์นำเธอมายังเมืองวอชิงตันดีซี เมืองที่พวกค้ามนุษย์ให้ห้องเด็กวัย 16 ปี และเอาเงินทุกบาททุกสตางค์ที่เธอทำงานได้ไป

“เจ้าของบ้านพยายามจะข่มขืนฉัน ฉันจึงหนีออกมา”

เมื่อหนีออกมา โคราโดใช้ชีวิตแบบคนข้ามเพศที่ต้องนอนในสวนสาธารณะ บางครั้งต้องไปขออาศัยนอนกับเพื่อน จนกระทั่งเธอเก็บเงินได้ส่วนหนึ่งจึงไปเช่าห้อง ในปีพ.ศ. 2532(1989) สำนักงานให้เช่าอสังหาริมทรัพย์จ้างเธอเป็นแม่บ้านทำความสะอาด และต่อมาเสนอฝึกให้เป็นผู้จัดการ

“ฉันรู้สึกเหมือนกับถูกหวย” เธอเล่าความรู้สึกในตอนนั้น

ในช่วงกลางทศวรรษ 2530 (1990) โอกาสที่เธอได้รับมาเริ่มหายไป เมื่อเธอเริ่มเปิดเผยตัวว่าเป็น “คนข้ามเพศ” เธอมักจะไปที่คลับแถววงเวียนดูปองต์แล้วเต้นแห่โชว์ เพื่อนบ้านก็รู้ว่านั้นเป็นชีวิตกลางคืนของเกย์

“ฉันได้รับมงกุฎเป็น “มิส เกย์ เอลซัลวาดอร์” และทุกบ่าย ฉันจะสวมมงกุฎและเดินไปทั่ว เพราะฉันรู้สึกว่ามันสวยดี” เธอเล่า การเสริมอึ๋ม และวิกที่เธอใส่ ทำให้เธอดูเป็น “เกย์” มากกว่าคนอื่นๆ  เธอเริ่มเปลี่ยนตัวเองให้เหมือนผู้หญิงมากขึ้นด้วยการซื้อฮอร์โมนที่ขายตามท้องถนนมาฉีดเอง

“ครั้งหนึ่ง ช่วงที่แปลงเพศ ชีวิตน่ากลัวมาก เพราะแม้แต่เพื่อนบ้านที่เป็นเกย์ อาจจะยอมรับเกย์ทั่วไป แต่พวกเขาไม่ยอมรับคนแปลงเพศ” เธอเล่า ร้านค้าปฏิเสธที่จะบริการเธอ คนขับรถเมล์ไล่เธอลงจากรถ แคชเชียร์ในร้านอาหารแดกด่วนเปลี่ยนสิ่งที่เธอสั่ง คนที่ทำงานพูดบางอย่างที่หมายถึงการไม่ต้อนรับ ประสบการณ์เหล่านี้บีบบังคับให้โคราโดตัดสินใจลาออกจากงาน และเริ่มต้นอาชีพขายบริการทางเพศเพื่อเอาตัวรอด

“ฉันไม่ชอบ โคตรเกลียดมันเลย แต่คุณก็รู้ว่ามันไม่มีทางเลือก” เธอกล่าว

แม้ชีวิตเธอจะก้าวถอยหลัง แต่เธอยังคงมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลง เธอเป็นอาสมัครให้กับกลุ่ม LGBTQ ในท้องถิ่นและคลินิกHIV  ซึ่งเป็นสถานที่ที่เปิดโอกาสให้เธอได้ใช้ความสามารถพิเศษของตัวเองเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ทำให้คลินิกแห่งหนึ่งจ้างเธอทำงาน เธอเล่าว่า ประสบการณ์การทำงานลักษณะนี้ ทำให้เธอเห็นว่า LGBTQ ยังขาดพื้นที่อยู่มาก และนั้นกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เธอคิดทำอะไรบางอย่าง

“ฉันมีความความฝันว่า ฉันจะสร้างศูนย์พักพิงเกย์ไร้บ้าน มีเตียงนอนที่ปูด้วยผ้าปูแพรซาติน มันคงดูสวยงามมาก มันดูให้ความรู้สึกเกย์ดี” โคราโดพูดถึงความรู้สึกในตอนนั้น

ในปีพ.ศ.2546 (2003) โคราโดร่วมก่อตั้ง “The DC Trans Coalition” องค์กรที่ต่อมากลายเป็นผู้นำขับเคลื่อนเรื่องสิทธิความหลากหลายทางเพศในเมืองวอซิงตันดีซี   ในปี 2552 ความฝันในการสร้างศูนย์พักพิงของเธอเกือบแตกสลาย เมื่อแฟนของเธอทำร้ายเธออย่างป่าเถื่อน และเกือบทำให้เธอตาย ความสะเทือนใจในครั้งนั้นทำให้เธอไม่สามารถทำงาน และจ่ายค่าเช่าห้องได้ เธอจึงย้ายไปอยู่ศูนย์พักพิงคนไร้บ้าน และได้รับเงินสำหรับผู้พิการราว 420,000 บาท (12,000 ดอลล่าห์สหรัฐ) เธอตัดสินใจใช้เงินก้อนนั้นเปิดศูนย์พักพิงฯตามที่เธอฝันไว้

“ฉันชอบ นี่แหละ ฉันกำลังจะตั้งองค์กร ฉันกำลังจะเปิดศูนย์ฯ  มันเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเยียวยาความรู้สึกที่เจ็บปวดมากๆ” โคราโดเล่า

ในปีพ.ศ. 2555 (2012) โคราโด เปิด “คาซา รูบี้” เดิมเป็นศูนย์ชั้นเดียว ต่อมาได้ขยายเป็นบ้านหลายหลังให้บริการที่อยู่อาศัยฉุกเฉินสำหรับ LGBTQ ในเมืองวอชิงตัน ดี.ซี.

“ก่อนเปิดศูนย์ ฉันนั่งอยู่ในศูนย์ฯ ฉับปลื้มมาก ความฝันกำลังจะเป็นจริง” เธอเล่าด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ

เธอกล่าวอีกว่าในศูนย์ฯมีเตียงอยู่ 40 เตียง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีคนมากกว่า 500 คน เข้ามาใช้บริการ นอกจากรูบี้คาซาจะต้อนรับ LGBTQ ทุกเฉด ส่วนใหญ่ผู้ที่เข้ามาเป็นกลุ่มเยาวชนข้ามเพศ และกลุ่มที่ยังไม่แน่ใจในเพศวิถีของตน

“โครงการให้ความความช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัยบางแห่งจะไล่พวกเขาออก หากกลับบ้านเกินสี่ทุ่ม แต่ฉันไม่ทำแบบนั้น”

“ฉันทำงานกับพวกเขา ฉันเข้าใจพวกเขา เพราะพวกเขามีความบอบช้ำ ฉันก็มีความบอบช้ำ”

โคราโด วัย 47 ปี เล่าอีกว่า การเปิดศูนย์ฯไม่ได้ราบรื่น มีความท้าทาย ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีคนปาอิฐใส่หน้าต่างศูนย์ฯ และทำร้ายทีมงานข้ามเพศของศูนย์ฯคนหนึ่ง ซึ่งเป็นครั้งที่สามในรอบสองอาทิตย์ที่มีการทำลายทรัพย์สินของศูนย์ฯ หลังจากถูกจู่โจม เราได้รับกำลังใจอย่างล้นหลาม รวมถึงได้รับเงินบริจาคทั่วประเทศ โดยบาร์เกย์ท้องถิ่นระดมทุนให้ศูนย์ได้ราว 600,000 บาท($17,000)  และมีผู้บริจาคผ่านออนไลน์รวมแล้วได้ประมาณ 500,000 บาท($15,000)

“สิ่งนี้เติมเต็มหัวใจของฉัน”

ข้อมูลจากศูนย์ความหลากหลายทางเพศและความเท่าเทียมแห่งชาติ( The National Center for Transgender Equality) ระบุว่า คนไร้บ้านกลุ่มเยาวชนร้อยละ 20- 40 เป็น LGBTQ  และในคาซา รูบี้ มีเยาวชนที่อยู่ในบัญชีรายชื่อถึง 110 คน

สำหรับโคราโด มันหมายถึงมีเรื่องที่ต้องทำอีกมาก “ฉันไม่เลิกทำง่ายๆหรอก ฉันมีชุมชนใหญ่อยู่หลังฉัน” เธอสัญญา

 

 


เขียนโดย จูเลียร์ คอมป์ตัน (JULIE COMPTON)

ที่มา: NBCnews