.
ร้านยาใกล้บ้าน: ความอยู่รอดของคนไร้บ้านทั้งที่มีสิทธิและไม่มีสิทธิ
สำหรับคนไร้บ้าน การเจ็บป่วยไม่ใช่เรื่องเล็ก แต่พวกเขามีตัวเลือกไม่มากนัก เมื่อคนไร้บ้านเจ็บป่วย พวกเขามักหาทางออกที่ง่ายและสะดวกที่สุด ซึ่งก็คือการรับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการป่วย.…
คนไร้บ้านกลุ่มหนึ่งที่มีข้อมูลหรือทราบว่าพวกเขาสามารถขอความช่วยเหลือจากภาคประชาสังคมและจุดบริการสำหรับกลุ่มเปราะบาง อาจสามารถเข้าไปรับยาและการรักษาเบื้องต้นจากจุดนั้นๆ ได้ หรือหากเป็นคนไร้บ้านที่มีบัตรประชาชน มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ก็จะไปใช้บริการตามหน่วยบริการสุขภาพต่างๆ ตามสิทธิ
อย่างไรก็ดี มีคนไร้บ้านจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงสิทธิและบริการที่กล่าวมาทั้งหมดได้เลยแม้แต่อย่างเดียว และเลือกเดินเข้าไปซื้อยาในร้านขายยาใกล้ๆ อยู่ด้วยเช่นกัน ร้านยาชุมชนจึงเปรียบเสมือนที่พึ่งยามเจ็บไข้ที่ดีที่สุดสำหรับชีวิตประจำวันของคนไร้บ้านที่เต็มไปด้วยความยากลำบากและไม่แน่นอน
จากการสำรวจข้อมูลประเด็นเรื่องสุขภาพและการเจ็บป่วยของคนไร้บ้านในแต่ละครั้ง มักพบว่าคนไร้บ้านส่วนใหญ่ เมื่อมีอาการเจ็บป่วย จะเลือกไปซื้อยาตามร้านขายยาหรือปล่อยให้หายเองมากกว่าไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลหรือศูนย์บริการสุขภาพ
ผลสำรวจข้อมูลทางประชากรเชิงลึกของคนไร้บ้าน ในเขตกรุงเทพมหานครและพื้นที่เกี่ยวเนื่อง ปี 2559 พบว่าร้อยละ 40.1 เลือกซื้อยาจากร้านขายยาเมื่อเจ็บป่วย ขณะที่ร้อยละ 17.7 ปล่อยให้อาการหายเอง และเพียงร้อยละ 16.9 เท่านั้นที่เลือกไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล (n=1,307) (อนรรฆ พิทักษ์ธานิน และคณะ, 2559) แนวโน้มนี้ยังคงต่อเนื่องในปี 2566 โดยคนไร้บ้านร้อยละ 34.96 เลือกซื้อยาทานเอง และร้อยละ 38.77 ปล่อยให้อาการหายเอง การเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีอาการหนักเกิน 5 วัน (n=2,499) (แผนงานพัฒนาองค์ความรู้เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะและขับเคลื่อนนโยบายเพื่อสุขภาวะคนไร้บ้าน, 2566) นอกจากนี้ จากผลการศึกษาสถานะสุขภาพของคนไร้บ้านในกรุงเทพมหานครจากการตรวจสุขภาพประจำปี ก็พบว่า ในจำนวนผู้รับบริการ 190 คน รายงานว่าเมื่อเจ็บป่วย ก็จะเลือกไปซื้อยาที่ร้านขายยาถึงร้อยละ 26.8 (n=190) (อานนท์ กุลธรรมานุสรณ์, 2567)
.
(แผนภาพสรุปข้อมูลทางเลือกการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยของคนไร้บ้าน จัดทำโดย ผู้เขียน)
.
ทำไมร้านขายยาถึงเป็นที่พึ่งของคนไร้บ้าน?
พี่อ๊อด กรรณิการ์ ตัวแทนคนไร้บ้าน ได้สะท้อนความเห็นที่น่าสนใจว่า คนไร้บ้านส่วนใหญ่มีเหตุผล 3 ประการที่ทำให้พวกเขาเลือกใช้บริการร้านขายยาในชุมชนมากกว่าไปสถานพยาบาล ได้แก่
· การเสียรายได้และค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น
คนไร้บ้านจำนวนมากทำงานแบบรายวัน เช่น รับจ้างหรือเก็บของเก่าขาย การหยุดงานทั้งวัน หรือแม้แต่ครึ่งวันเพื่อไปรอพบแพทย์อาจทำให้พวกเขาขาดรายได้ที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตในวันนั้นๆ นอกจากนี้ การเดินทางไปโรงพยาบาลยังต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมด้วย เช่น ค่ารถโดยสาร ค่าอาหาร
· ความกังวลเรื่องสิทธิและสถานะบุคคล
คนไร้บ้านที่ไม่มีบัตรประชาชนมักกลัวปัญหาด้านสถานะทางทะเบียนและค่าใช้จ่ายในการรักษา แม้แต่คนที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็ยังเลือกที่จะไปร้านยาที่เดินเท้าไปถึงได้ง่ายกว่า ด้วยเหตุผลด้านการเงินที่กล่าวไปข้างต้น
· ความไม่มั่นใจและความกลัว
การไปรักษาที่โรงพยาบาลไม่ใช่เพียงแค่การเผชิญหน้ากับปัญหาสุขภาพของคนไร้บ้านเอง แต่ยังรวมถึงการต้องเผชิญกับความท้าทายด้านจิตใจ เช่น ความกลัวที่จะถูกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม และความกังวลว่าจะต้องเผชิญอยู่ในพื้นที่ที่ตนไม่คุ้นเคย ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับคนไร้บ้านที่เราไม่อาจมองข้าม
.
บทเรียนจากอังกฤษ: ความสำคัญของร้านยาชุมชน
ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญเองก็เช่นเดียวกัน ที่สหราชอาณาจักรก็มีโครงการ Pharmacy First ที่อนุญาตให้ประชาชนรับยาสำหรับอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยจากร้านขายยาโดยตรง ช่วยให้ผู้คนโดยเฉพาะในพื้นที่ด้อยโอกาส สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ Louise Ansari ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ กล่าวว่า ผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ด้อยโอกาส มักจะเข้าถึงบริการสุขภาพได้ยาก ดังนั้น ในพื้นที่ที่คนมีความยากลำบากมาก พื้นที่ที่ขาดแคลน หรือประชากรมีความเปราะบาง การนำบริการ Pharmacy First (บริการจ่ายยาจากร้านยาโดยตรงสำหรับอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย) มาใช้จึงถือเป็นสิ่งที่น่ายินดี เพราะโครงการนี้ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้คนในชุมชนเปราะบางอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ได้รับการรักษาได้รวดเร็วขึ้น สุขภาพดีขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น และหากมีการปิดร้านขายยาในพื้นที่เหล่านี้อาจทำให้การดูแลสุขภาพหยุดชะงัก ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกลุ่มประชากรที่ต้องพึ่งพาบริการนี้ (Connelly, 2024)
.
ร้านขายยาไม่ได้เป็นเพียงแค่สถานที่จำหน่ายยาหรือให้บริการตามนโยบายของรัฐ แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของการเข้าถึงการดูแลสุขภาพที่ง่ายและเป็นมิตร ไม่เพียงสำหรับคนไร้บ้าน แต่ยังรวมไปถึงกลุ่มคนยากจน แรงงานนอกระบบ หรือกลุ่มประชากรกลุ่มอื่นๆ ที่ประสบปัญหาคล้ายคลึงกันเรื่องการรักษาพยาบาลอีกด้วย การสนับสนุนร้านยาชุมชนให้สามารถทำหน้าที่ตอบสนองความต้องการของคนในกลุ่มเปราะบาง เป็นก้าวสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ ท้ายที่สุด การสร้างระบบบริการสุขภาพที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง คือการสร้างความเท่าเทียมให้แก่สังคมอย่างแท้จริง
.
.
.
ที่มา
– Connelly, D. (2024). Five months of Pharmacy First: an access lottery for patients. https://pharmaceutical-journal.com/article/feature/five-months-of-pharmacy-first-an-access-lottery-for-patients
– อนรรฆ พิทักษ์ธานิน และคณะ. (2559). รายงานการสำรวจข้อมูลทางประชากรวิจัยเชิงลึกของคนไร้บ้านในเขตกรุงเทพมหานครและพื้นที่เกี่ยวเนื่อง. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ https://penguinhomeless.com/bangkok-homeless-report/
– ผลการแจงนับคนไร้บ้านทั้งประเทศไทยและผลการสำรวจข้อมูลคนไร้บ้านเชิงลึก https://penguinhomeless.com/th_homeless_dashboard_manual/
– อานนท์ กุลธรรมานุสรณ์. (2567). รายงานผลการศึกษาสถานะสุขภาพของคนไร้บ้านในกรุงเทพมหานครจากการตรวจสุขภาพประจำปีภายใต้แผนงานพัฒนาองค์ความรู้เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะและขับเคลื่อนนโยบายเพื่อสุขภาวะคนไร้บ้าน. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ