เปิดรายงานการวิจัยฯด้านกม. คนไร้บ้านในไทยส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน เพียงแค่ไร้บัตรประชาชน (จบ)

ในตอนที่ผ่านมา เราได้นำเสนอไปว่า เมื่อไม่มีบัตรประชาชน คนไร้บ้านจะประสบปัญหาในการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอย่าง สิทธิการรักษาพยาบาล ในตอนนี้เรามาดูกันว่าเมื่อไม่มีบัตรประชาชน คนไร้บ้านจะเข้าไม่ถึงสิทธิการศึกษา  สิทธิการได้รับเบี้ยเลี้ยงยังชีพ และ การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ภายใต้หลักสิทธิมนุษยชนได้อย่างไร

         ภาพจำลองบัตรประชาชน ที่มา: Kapook

 

ในรายงานวิจัย “โครงการศึกษาและวิเคราะห์สภาพปัญหาและสนับสนุนองค์ความรู้ทางกฎหมายเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน” (1 ธันวาคม 2559 – 30 พฤศจิกายน 2560) ของนายไพสิฐ พาณิชย์กุล และคณะฯ ภายใต้การสนับสนุนทุนโครงการสนับสนุนองค์ความรู้เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะและคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า ในด้านสิทธิการศึกษา คนไร้บ้านจำนวนหนึ่งจะมีลูกเกิดขึ้นก่อนและระหว่างเป็นคนไร้บ้าน และการเลี้ยงเด็กในสภาวะเช่นที่ยากไร้ และไม่มีที่อยู่อาศัยจึงทำให้มีคนไร้บ้านจำนวนหนึ่งฝากลูกไว้กับสถานสงเคราะห์เด็กกำพร้า จึงทำให้ลูกของคนไร้บ้านบางคนประสบปัญหาในการศึกษาเล่าเรียน ดังกรณีนี้

 ‘หน่อย’และ‘ชมพู่’ เด็กสาวรุ่นราวคราวเดียวกันที่มักพบเจอตามสถานที่ที่เครือข่ายคนไร้บ้านไปจัดกิจกรรม ถือเป็นกรณีตัวอย่างด้านสิทธิการศึกษาที่ต่างกันได้เป็นอย่างดี เริ่มต้นจาก ‘หน่อย’ก็เป็นเด็กอีกคนที่ต้องออกมาจากสถานสงเคราะห์ตอนที่เรียนอยู่ ป. 2 และเมื่อต้องการเข้าเรียนต่อในโรงเรียน จึงทำให้หน่อยต้องติดขัดเรื่องเอกสารที่ต้องในการเข้าเรียน เพราะหน่อยไม่ได้ย้ายชื่อทางทะเบียนออกจากสถานสงเคราะห์ ทำให้เธอต้องหยุดเรียนพักใหญ่ และต่อมาจึงเลือกเข้าศึกษาในระบบนอกโรงเรียนจนตอนนี้เธอยังไม่จบชั้น ป.6 เพียงแค่อ่านออกเขียนได้บ้าง แต่สำหรับ ‘ชมพู่’ ความโชคดีของเธออยู่ตรงที่ชมพู่สามารถเรียนต่อเนื่องมาเรื่อยๆ เพราะไม่มีปัญหาเรื่องทะเบียนบ้านและเอกสารหลักฐานทางการเรียน จึงทำชมพู่สามารถศึกษาต่อในโรงเรียนได้อย่างราบรื่น

ความแตกต่างของหน่อยและชมพู่ ได้ทำให้เห็นตัวอย่างของความสำคัญด้านเอกสารหลักฐานที่ใช้แสดงตัวตน เพื่อให้ได้รับสิทธิในการศึกษา เพื่อที่จะสามารถศึกษาเล่าเรียนได้อย่างเต็มที่ ซึ่งปัญหาการขาดหลักฐานยืนยันดังกล่าว แม้จะดูเป็นเพียงเอกสารที่เรื่องเล็กน้อย แต่ก็ถือเป็นหัวใจสำคัญที่สถานศึกษาจะใช้เป็นเกณฑ์ในการรับเด็กเข้าศึกษา

กรณีศึกษาด้านสิทธิการได้รับเบี้ยเลี้ยงยังชีพ งานวิจัยฯพบว่า  เบี้ยยังชีพ เป็นสวัสดิการที่รัฐกำหนดจัดสรรให้กับผู้สูงอายุ ผู้พิการ ซึ่งเป็นสิทธิที่มีรากฐานจากรัฐธรรมนูญซึ่งกำหนดให้รัฐดูแลและอุปถัมภ์ให้กับประชากรกลุ่มนี้ แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่า การเข้าถึงสิทธิดังกล่าวยังคงมีข้อจำกัดในเรื่องการแสดงหลักฐานยืนยันตัว ดังที่เกิดขึ้นกับกรณีของ  “ลุงเครา” คนไร้บ้าน

‘ลุงเครา’ เป็นคนไร้บ้านคนหนึ่งที่ประสบกับปัญหาเรื่องบัตร ลุงเคราเล่าให้ฟังว่า ตอนเริ่มเป็นคนไร้บ้าน หลับนอนในพื้นที่สาธารณะ เมื่อประมาณ 2-3 ปีที่แล้ว บัตรที่แสดงตัวตนของลุงเคราหายไปทั้งหมด ไม่ว่า บัตรประชาชน บัตรทหารผ่านศึก ใบขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รวมถึงรถสิบล้อ ซึ่งเป็นในขับขี่ตลอดชีพก็ไม่มีเหลือ ทำให้ขาดเครื่องมือมายืนยันสิทธิและตัวตนของลุงเครา โดยเฉพาะสิทธิทหารผ่านศึก ที่มีสวัสดิการพิเศษทั้งทางสุขภาพและสังคม จนเมื่อเครือข่ายคนไร้บ้าน และมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ได้พาไปทำบัตรประชาชน ทำให้ลุงเครามีบัตรประชาชนใบใหม่ นำห้อยคอไว้พกติดตัวตลอดเวลาเพื่อป้องกันการสูญหาย

จะเห็นได้ว่าความสำคัญของบัตรประชาชนได้กลายเป็นหลักฐานสำคัญอย่างมากที่หน่วยงานรัฐใช้เป็นหลักฐานในการยืนยันสิทธิเพื่อจะได้รับการดูแลจากรัฐ ซึ่งบัตรเพียงใบเดียวของลุงเครา ได้ทำให้ลุงสามารถเข้าถึงสิทธิสวัสดิการของรัฐในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นสิทธิการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ หรือทหารผ่านศึก และในทางกลับกันหากคนไร้บ้านที่เป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีบัตรประชาชนหรือเอกสารแสดงตัวอื่น ๆ ก็จะท าให้การเข้าถึงสวัสดิการของรัฐยากเป็นไปได้ยากกว่า

ด้านปัญหาจากทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐ งานวิจัยระบุว่า ในปัจจุบันภาครัฐได้ตระหนักต่อสิทธิและปัญหาของคนไร้บ้านมากขึ้น โดยมีความพยายามที่ช่วยเหลือให้คนไร้บ้านเข้ามาลงทะเบียนเพื่อทำบัตรประชาชน แต่กระนั้นด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า การลงทะเบียนเพื่อทำบัตรประชาชนใหม่ จะต้องมีการใช้หลักฐานประกอบยืนยันตัวบุคคล และต้องมีคนรับรองเป็นหลัก ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะตกอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์บางอย่างที่เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ใช้เป็นเกณฑ์ในการยอมรับพยานหลักฐานเหล่านั้น จึงมีกรณีศึกษาอีกหนึ่งกรณีที่ทำให้การจัดทำบัตรประชาชนใบใหม่ของคนไร้บ้านไม่อาจลุล่วงสำเร็จได้ดังนี้

เช้าวันที่ 14 พฤษภาคม 2558 ที่ลานหน้าศาลหลักเมืองจังหวัดขอนแก่น คนไร้บ้านหลายคนมาร่วมกิจกรรม ‘การพบปะคนไร้บ้าน จ.ขอนแก่น ครั้งที่ 3’ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนหลายองค์กรร่วมพันจัดขึ้น และมีคำบอกต่อ ๆ กันว่าจะมีการทำบัตรประชาชนให้

หน่อย เยาวชนคนไร้บ้านทำหน้าที่รับลงทะเบียนเธอบอกให้คนไร้บ้านเขียนชื่อ ที่อยู่ ของตนเองในใบลงทะเบียนผู้ที่ไม่มีบัตรประชาชนให้เขียนลงไปด้วยว่า “ไม่มีบัตร” จนกระทั่งถึงเวลาที่หลายคนรอคอย พี่อี๊ดประกาศให้ผู้ที่ไม่มีบัตรประชาชนไปรวมตัวแล้วพากันเดินไปที่เต็นท์ของเทศบาล

‘ต้องมีหลักฐาน หรือไม่ก็มีคนมารับรอง’ เจ้าหน้าที่เทศบาลขอนแก่นคนหนึ่งที่เต็นท์กล่าวย้ำหลายครั้ง

‘นี่บัตรหมดอายุมานานแล้ว ต้องมีคนมารับรองด้วยเหมือนกัน’ เจ้าหน้าที่คนเดิมกล่าวกับคนไร้บ้านอีกราย พร้อมกับยื่นบัตรประชาชนเก่า ๆ ใบนั้นคืนให้

ลุงวัยหกสิบเศษเดินงกๆ เงิ่นๆ เข้าไปเจรจา ‘ผมเป็นคนที่นี้ อยู่ที่ขอนแก่นนี่ล่ะ’ แกพูดด้วยสำเนียงภาษาอีสาน

เจ้าหน้าที่เทศบาลยังคงย้ำคำเดิม ‘ต้องมีหลักฐานหรือมีคนมารับรอง’ ลุงได้แต่พยักหน้าหงึกๆ แต่ดวงตาสับสนไร้ความหวัง

‘มีญาติไหม เคยเรียนหนังสือหรือเปล่า ทะเบียนบ้านมีไหม’ เจ้าหน้าที่ถาม

ลุงพยักหน้า ‘เรียนจบ ป.4 ที่โรงเรียน…’ ลุงตอบ

‘ถ้าอย่างนั้นไปที่โรงเรียน ไปขอหลักฐานมา…’

…ลุงผู้ต้องการทำบัตรประชาชนพยักหน้าแบบงงๆ แล้วค่อยๆ ถอยหลังออกมาจากโต๊ะของเจ้าหน้าที่เทศบาล

ในที่สุดผู้ไม่มีบัตรประชาชนทั้งหมด ทำได้เพียงการเขียนชื่อและนามสกุลรวมกันไว้ในแผ่นกระดาษยับย่นใบหนึ่ง แล้วยื่นให้เจ้าหน้าที่เทศบาล เจ้าหน้าที่รับปากว่าจะนำไปตรวจสอบให้ว่า ชื่อเหล่านั้นปรากฏอยู่ในทะเบียนราษฎร์หรือไม่เรื่องจบแค่นั้น  ไม่มีกำหนดเวลา ไม่มีการนัดหมายว่าคนไร้บ้านซึ่งไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง จะมารับฟังคำตอบจากเจ้าหน้าที่ได้ที่ไหนและเมื่อไหร่”

จากกรณีศึกษาทั้งสี่กรณีสะท้อนปัญหาที่คนไร้บ้านต้องพบเจอเมื่อปราศจากบัตรประชาชน ไม่ว่าจะเป็นด้านสิทธิการรักษาพยาบาล การศึกษาเล่าเรียน หรือการได้เบี้ยยังชีพ ที่แสดงให้เห็นว่าแม้จะมีกฎหมายออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านด้านที่พักพิงอาศัย หรือการสร้างงานสร้างอาชีพ การอำนวยการด้านสุขภาพ หรือการจัดทำบัตรประชาชนใบใหม่ขึ้นก็ตาม การขาดไร้บัตรประชาชนกลายเป็นอุปสรรคและเป็นปัจจัยสำคัญ ที่หน่วยงานของรัฐใช้เป็นสิ่งพิจารณาเป็นอันดับหนึ่ง ฉะนั้น ปัญหาของคนไร้บ้านนอกจากจะมีปัญหาทางสภาพจิตใจ สภาพแวดล้อมที่บีบบังคับให้พวกเขาต้องออกมาเป็นคนไร้บ้านแล้ว ปัญหาจากรัฐเองก็เป็นส่วนหนึ่ง ที่ลดทอนการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของรัฐเช่นกัน ที่ทำให้คนไร้บ้านต้องสูญเสียสิทธิและโอกาส การได้รับสวัสดิการอันพึงได้เหล่านั้นในการดำรงชีวิต ฉะนั้น การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐผู้ซึ่งมีหน้าที่อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน จึงจะต้องคำนึงถึงบริบทและเข้าใจสภาพความเป็นอยู่ของคนไร้บ้าน ที่มีเงื่อนไขจำกัดมากกว่าประชาชนโดยทั่วไป

จากปัญหาคนไร้บ้านเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน  เพียงแค่ไร้บัตรประชาชน งานวิจัยได้เสนอว่า หากคุณค่าของความเป็นมนุษย์อยู่ที่การมองว่ามนุษย์ทุกคนมีคุณค่าเท่าเทียมกัน การปฏิบัติต่อบุคคลเหล่านั้นจะต้องมีความเสมอกันในฐานะความเป็นมนุษย์ แต่เมื่อมองสถานะของ “คนไร้บ้าน” ในความเป็นมนุษย์จะพบว่า นอกจากเขาเหล่านี้จะไม่มีที่อยู่อาศัยอย่างเป็นหลักแหล่ง และเป็นบุคคลที่ต้องให้การช่วยเหลือ จึงทำให้สถานะของพวกเขาเหล่านี้กลายเป็นบุคคลที่อยู่ในสภาวะชายขอบของสังคมที่ถูกมองว่าไร้คุณค่า และไร้ตัวตน ฉะนั้น การที่รัฐไทยรับรองสิทธิของคนไร้บ้านในไว้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ทั้งมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. 2557 และพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 กลายเป็นสิ่งสะท้อนว่ารัฐตระหนักถึงปัญหาของคนไร้บ้าน และมีความพยายามที่จะช่วยเหลือให้คนกลุ่มสามารถกลับเข้าสู่สังคมและดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข

เมื่อพิจารณาพระราชบัญญัติคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. 2557 จะพบหน้าที่ของรัฐในการจัดสวัสดิการด้วยการกำหนดให้มีการจัดตั้งสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งในเขตพื้นที่ที่ให้ความคุ้มครอง โดยกำหนดให้กรมพัฒนาสวัสดิการ มีหน้าที่รับผิดชอบการดำเนินของสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง และกำหนดให้สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งมีอำนาจในการสำรวจ ติดตาม สืบเสาะข้อมูลของคนไร้ที่พึ่ง จัดหาที่พักอาศัย อาหาร ฯลฯ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดีที่รัฐพยายามจะจัดสรรสวัสดิการให้แก่คนไร้บ้าน แต่กระนั้นหน่วยงาน ภาครัฐต้องตระหนักเสมอว่า คนไร้บ้านมิใช่คนที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เพราะมีคนไร้บ้านจำนวนมากที่สามารถทำงานหาเลี้ยงชีพด้วยตนเอง แต่สิ่งที่คนไร้บ้านต้องการคือการแก้ไขเยียวยาสิทธิ ที่บกพร่องหรือขาดหายในการเข้ารับสิทธิขั้นพื้นฐานจากภาครัฐ ซึ่งตัวกลางในการเชื่อมให้คนไร้บ้านสามารถเข้าถึงสวัสดิการของรัฐได้นั้นคือ “บัตรประชาชน” ที่จะทำให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงการบริการจากรัฐได้อย่างเท่าเทียมกับคนในสังคมได้อย่างแท้จริง ฉะนั้น หากภาครัฐตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการสูญเสียบัตรประชาชนของคนไร้บ้านแล้ว คงจะเกิดกลไกความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐเข้ามาแก้ไขปัญหา พิสูจน์ ตรวจสอบสถานะบุคคลของคนไร้บ้าน ซึ่งเป็นกลไกที่จะต้องดำเนินควบคู่ไปกับกระบวนการฟื้นฟูดูแลซึ่งภาครัฐได้ดำเนินมาแล้ว เพื่อที่จะทำให้เกิดแนวทางการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านที่มีประสิทธิผลเพิ่มมากยิ่งขึ้น

 


อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

เปิดรายงานการวิจัยฯด้านกม. พบคนไร้บ้านในไทยส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน เพียงแค่ไร้บัตรประชาชน (1)

 

รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ คนไร้บ้าน 221260