เมื่อภาวะไร้บ้านมีเวลาจำกัด: วิถีชีวิตและจุดเปลี่ยนกลับของคนไร้บ้านหน้าใหม่

ณัฐพล สีวลีพันธ์

นักวิจัยโครงการการศึกษาโอกาสในการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านด้วยการวิจัยภาคสนาม

ขอบคุณภาพจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ท่ามกลางการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)  มีผู้คนตกงานจากการเลิกจ้างเพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้ที่มีความเปราะบางทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว เช่นคนที่มีหนี้สินต้องผ่อนชำระ หรือคนหาเช้ากินค่ำ ต้องกลายเป็นคนไร้บ้านในที่สุด จากภาวะคนไร้บ้านหน้าใหม่ที่เพิ่มขึ้น และไม่มีทีท่าว่าวิกกฤตการณ์นี้จะฟื้นตัวขึ้นได้โดยง่าย นำมาสู่คำถามที่ว่า หากคนหน้าใหม่ต้องออกมาไร้บ้านแล้ว จะมีวิถีชีวิตที่ต่างไปจากคนที่ไร้บ้านมายาวนานอย่างไร  อะไรคือความเปราะบางที่คนไร้บ้านเผชิญ และเรามีเวลาแค่ไหนในการช่วยเหลือคนไร้บ้านกลุ่มนี้ก่อนที่จะสายเกินไปจนกลายเป็นคนไร้บ้านถาวร 

ปัญหาคนไร้บ้าน (Homeless) อยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนานไม่ว่าจะเป็นคนไร้บ้านที่อยู่บนพื้นที่สาธารณะที่เรามักจะเห็นบ่อย ๆ ตามท้องสนามหลวง หรือแม้กระทั่งคนไร้บ้านที่อยู่ในศูนย์พักพิงคนไร้บ้าน ซึ่งคนไร้บ้านถือว่าเป็น “คนจนเมือง” ในรูปแบบหนึ่งที่เกิดจากปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง อีกทั้งยังขาดปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ไม่มีงานทำเป็นหลักเป็นแหล่ง มีรายได้ไม่แน่นอน ขาดโอกาสในการใช้ชีวิต ทำให้คนไร้บ้านนับเป็นหนึ่งในประชากรกลุ่มเปราะบางที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนภายใต้สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในยุคปัจจุบัน

ประเด็นที่น่าสนใจในงานวิจัยเรื่องการศึกษาโอกาสในการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านด้วยการวิจัยภาคสนาม ของ พีระ ตั้งธรรมรักษ์ และคณะ (2564) คือ การเสนอเครื่องมือประเมินสภาวะไร้บ้านในไทย เป็นแนวทางในการประเมินสถานการณ์คนไร้บ้านในยุคโควิด-19 ได้ต่อไป ซึ่งจากสถานการณ์ของจำนวนคนไร้บ้านในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 30 ภาวะไร้บ้านเป็นจุดหมายปลายทางของกลุ่มที่มีความเปราะบางจากสถานการณ์โควิด-19 เนื่องด้วยสาเหตุ 2 ประการ ได้แก่ 1) รายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพจากการว่างงาน และ 2) ไม่สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยจากการไม่มีครอบครัวคอยสนับสนุน หรือมีปัญหากับครอบครัวทำให้ไม่สามารถพึ่งพิงครอบครัวได้ในเวลาที่ลำบาก 

ในบทความนี้ผู้เขียนจะแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของวิถีชีวิตของคนไร้บ้านหน้าเก่า และหน้าใหม่ เพื่อให้ทราบถึงปัญหาความเปราะบางของคนไร้บ้าน และชี้ให้เห็นว่าเพราะเหตุใดคนไร้บ้านหน้าใหม่จึงมีโอกาสในการกลับคืนสู่สังคม (Turning Point) มากกว่าคนไร้บ้านหน้าเก่า โดยอ้างอิงจากงานวิจัยแนวทางวิเคราะห์ต้นทุนการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้าน และติดตามการเปลี่ยนแปลงทางชีวิตของคนไร้บ้านในช่วงเริ่มต้นของ ธานี ชัยวัฒน์, พีระ ตั้งธรรมรักษ์, รัฐวิชญ์ ไพรวัน, และ นิชาภัทร ไม้งาม (2561) และงานวิจัยโครงการการศึกษาโอกาสในการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านด้วยการวิจัยภาคสนามของ พีระ ตั้งธรรมรักษ์ และคณะ (2564) 

วิถีชีวิตของคนไร้บ้านหน้าเก่า และหน้าใหม่

คนไร้บ้านที่เรามักจะพบเจอกันมีอยู่หลายลักษณะ โดยการจำแนกประเภทคนไร้บ้านสามารถจำแนกได้สองลักษณะ ได้แก่ การจำแนกคนไร้บ้านตามระยะเวลาไร้บ้าน และการจำแนกคนไร้บ้านตามสถานที่พักอาศัยขณะไร้บ้าน 

ประเด็นที่หนึ่ง การจำแนกคนไร้บ้านผ่านระยะเวลาไร้บ้าน สามารถจำแนกได้ 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่หนึ่ง “กลุ่มคนไร้บ้านแบบเรื้อรัง” “คนไร้บ้านหน้าเก่า” หรือ “คนไร้บ้านถาวร” เป็นคนไร้บ้านที่ได้เข้าสู่ภาวะไร้บ้านเป็นระยะเวลานานในระดับหนึ่ง จนทำให้สามารถปรับตัวดำรงชีวิตแบบคนไร้บ้านได้แล้ว ในขณะที่กลุ่มที่สอง ได้แก่ “คนไร้บ้านหน้าใหม่” คือกลุ่มคนไร้บ้านที่เพิ่งเข้าสู่ภาวะไร้บ้านในระยะเวลาไม่นาน 

ประเด็นที่สอง การจำแนกคนไร้บ้านผ่านทางสถานที่พักอาศัยขณะไร้บ้าน การตัดสินใจเลือกเข้ามาสู่ภาวะไร้บ้านไม่ว่าคนไร้บ้านหน้าใหม่ หรือคนไร้บ้านหน้าเก่าก็ตาม จะต้องตัดสินใจในประเด็นของสถานที่พักอาศัย โดยสถานที่ที่สามารถรับรองคนไร้บ้านมีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่พื้นที่สาธารณะ และศูนย์พักพิงของคนไร้บ้าน เช่น ศูนย์พัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านปทุมธานี และศูนย์สุวิทย์ วัดหนู เป็นต้น ซึ่งศูนย์พักพิงแต่ละที่ก็จะแตกต่างกันไปในหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่าย ค่าเช่าที่พัก กฎระเบียบ อาหารการกิน สาธารณูปโภค และรูปแบบสถานที่พัก เป็นต้น โดยทางศูนย์พักพิงจะมีกฎระเบียบที่คอยควบคุมผู้พักอาศัยให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย เช่น การห้ามดื่มสุรา ระยะเวลาเข้าพัก ซึ่งแตกต่างกับพื้นที่สาธารณะ ที่ไม่มีค่าใช้จ่าย และมีความอิสระในการใช้ชีวิตที่มากกว่า 

เพราะฉะนั้นแล้วเราสามารถจำแนกคนไร้บ้านออกเป็น 4 กลุ่มย่อย ได้แก่ 1) คนไร้บ้านหน้าเก่าในพื้นที่สาธารณะ 2) คนไร้บ้านหน้าเก่าในศูนย์พักพิง 3) คนไร้บ้านหน้าใหม่ในพื้นที่สาธารณะ และ 4) คนไร้บ้านหน้าใหม่ในศูนย์พักพิง ซึ่งแน่นอนว่ากลุ่มคนไร้บ้านแต่ละกลุ่มล้วนมีความแตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นด้านวิถีการดำเนินชีวิต ด้านเหตุผล หรือสาเหตุที่ตัดสินใจมาเป็นคนไร้บ้าน หากเข้าใจถึงความแตกต่างของลักษณะคนไร้บ้านจะนำมาสู่แนวทางการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านให้ออกจากภาวะไร้บ้านของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

งานวิจัยของธานี ชัยวัฒน์, พีระ ตั้งธรรมรักษ์, รัฐวิชญ์ ไพรวัน, และ นิชาภัทร ไม้งาม (2561) ได้ทำการศึกษาแนวทางวิเคราะห์ต้นทุนการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้าน และติดตามการเปลี่ยนแปลงทางชีวิตของคนไร้บ้านในช่วงเริ่มต้น โดยได้สรุปวิถีชีวิต และพฤติกรรมของแต่ละกลุ่มดังนี้

กลุ่มคนไร้บ้านหน้าเก่า เป็นกลุ่มคนที่ตัดสินใจเป็นคนไร้บ้าน หรือเป็นคนไร้บ้านมาแล้วมากกว่า 5 ปี ซึ่งคนไร้บ้านดังกล่าวสามารถปรับตัวดำรงชีวิตแบบคนไร้บ้านได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะ หรือคนไร้บ้านในศูนย์พักพิงก็ตาม คนไร้บ้านกลุ่มนี้มีโอกาสที่จะเลือกเป็นคนไร้บ้านแบบถาวรค่อนข้างสูง หรือแม้ว่าบางคนอยากออกจากภาวะไร้บ้านแต่ก็ยังติดปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความยากจน หรือปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ที่ผ่านมาแม้ทางภาครัฐได้พยายามแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านหน้าเก่ามาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว  แต่เป็นเรื่องยากที่จะผลักคนไร้บ้านหน้าเก่าให้ออกจากภาวะไร้บ้าน เพราะคนไร้บ้านหน้าเก่าล้วนแต่มีปัญหาและอุปสรรคที่เรื้อรังมายาวนาน การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุของรัฐจึงมิอาจช่วยเหลือพวกเขาให้พ้นจากภาวะไร้บ้านได้โดยง่าย การแก้ปัญหาภาวะไร้บ้านในผู้ที่มีภาวะไร้บ้านเป็นระยะเวลานานจึงทำได้ยากกว่าคนไร้บ้านหน้าใหม่ที่จะกล่าวถัดไป

กลุ่มคนไร้บ้านหน้าใหม่ เป็นกลุ่มคนที่ตัดสินใจเป็นคนไร้บ้าน หรือเป็นคนไร้บ้านมาแล้วไม่เกิน 5 ปี ซึ่งคนไร้บ้านหน้าใหม่มีด้วยกัน 3 ลักษณะ ได้แก่ 1) คนที่มีโอกาสที่จะตัดสินใจเป็นคนไร้บ้าน เช่น คนที่เดินทางเข้าเมืองแบบไม่มีการวางแผน 2) คนไร้บ้านชั่วคราว เช่น คนที่มานอนฟรีในพื้นที่สาธารณะตามหมอชิต หรือหัวลำโพง ในระยะเวลาไม่กี่วันเพื่อหางานทำ โดยอาจจะได้งานหรือไม่ก็ได้ แต่ยังมีความตั้งใจที่จะกลับบ้านอยู่ และ 3) คนไร้บ้านที่ตัดสินใจเข้าสู่ภาวะไร้บ้านระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี ไม่ว่าจะอาศัยอยู่ในพื้นที่สาธารณะ หรือศูนย์พักพิงคนไร้บ้าน ก็ตาม

กลุ่มคนไร้บ้านหน้าใหม่ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สาธารณะมักพบเจอในสถานที่ที่คนไม่พลุกพล่าน ซึ่งพฤติกรรมการเลือกสถานที่นอนมักจะนอนในที่เดิมเพียงไม่กี่ที่วนเวียนสลับกันไป หรือบางคนมักจะเลือกนอนที่เดิมเสมอ เช่น หัวลำโพง เยาวราช ลานคนเมือง สวนลุมพินี สวนรมณีนาถ และท้องสนามหลวง เป็นต้น 

กลุ่มคนไร้บ้านหน้าใหม่ในศูนย์พักพิง จะมีสาธารณูปโภคที่ดีกว่าการพักในพื้นที่สาธารณะ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความอิสระที่น้อยกว่าจากการที่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของศูนย์พักพิง โดยศูนย์พักพิงจะมี 2 ลักษณะ คือศูนย์พักพิงที่ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าพัก และศูนย์พักพิงที่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าพักราคาถูก  สำหรับคนไร้บ้านทั้งสองกลุ่มค่อนข้างมีลักษณะพฤติกรรมที่จะใกล้เคียงกัน โดยคนไร้บ้านที่อาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงที่ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าพักจะมีพฤติกรรมใกล้เคียงกับกลุ่มคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะ ต่างกันแค่ความเป็นอิสระในการใช้ชีวิต แต่กลุ่มคนไร้บ้านหน้าใหม่ในศูนย์พักพิงที่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งเปรียบเสมือน “ที่พักราคาถูก” เช่น ศูนย์สุวิทย์ วัดหนู โดยในศูนย์พักพิงจะมีพื้นที่ให้นอนส่วนบุคคล 

อย่างไรก็ตาม มักพบคนไร้บ้านหน้าใหม่ในศูนย์พักพิงมากกว่าในพื้นที่สาธารณะ  โดยการดำเนินชีวิตของคนไร้บ้านทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่าสามารถแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ การดำเนินชีวิตแบบคนไร้บ้านที่มีงานทำ และคนไร้บ้านที่ไม่มีงานทำ โดยกลุ่มที่มีงานทำ หลังจากตื่นนอนจะออกไปทำงาน ลักษณะงานเป็นงานรับจ้างไม่ประจำ และรายได้ไม่แน่นอน เช่น รับจ้างโบกธง รับจ้างทั่วไป หรือถ้าดีขึ้นมาระดับหนึ่งคือ พนักงานก่อสร้าง พนักงานรักษาความปลอดภัย ก็อาจจะมีรายได้ที่ดีขึ้นกว่ารับจ้างทั่วไปเล็กน้อย โดยส่วนมากคนไร้บ้านที่อยู่ในศูนย์พักพิงมักจะมีงานทำและมีรายได้สูงกว่าคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะ ในส่วนของกลุ่มที่ไม่มีงานทำ หลังจากที่ตื่นนอนก็จะออกไปตามสถานที่ที่มีการแจกอาหาร และพักผ่อนอยู่ในพื้นที่สาธารณะ หรือกลับมาพักผ่อนในบริเวณศูนย์พักพิง

ข้อสังเกตุจากงานวิจัย พบว่า คนไร้บ้านหน้าใหม่จะเลือกอาศัยในศูนย์พักพิงคนไร้บ้าน โดยเฉพาะศูนย์พักพิงที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อให้มีเงินเหลือเก็บไปตั้งหลักให้มากที่สุด และยังไม่ละทิ้งการอยู่อาศัยที่ต้องพึ่งพิงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน จึงไม่ตัดสินใจเลือกพักในพื้นที่สาธารณะที่มีปัจจัยเสี่ยงหรือมีความอันตรายมากกว่า ดังนั้น คนไร้บ้านหน้าใหม่ที่มีงานทำหรือรายได้ที่เพียงพอต่อการตั้งหลัก จึงมีปัจจัยสนับสนุนในการหลุดพ้นภาวะไร้บ้านมากกว่า

ความเปราะบางของคนไร้บ้าน

หลังจากที่เข้าใจถึงวิถีชีวิตของคนไร้บ้าน ซึ่งสามารถสะท้อนถึงความเปราะบางของคนไร้บ้าน โดยคนไร้บ้านหน้าเก่าจะมีความเปราะบางมากกว่าคนไร้บ้านหน้าใหม่อย่างยิ่ง โดยความเปราะบางที่เกิดขึ้นของคนไร้บ้านมีอยู่ 3 ประเด็น ได้แก่ 1) ด้านรายได้ 2) ด้านครอบครัว และ 3) ด้านสุขภาพกายและสุขภาพใจ ซึ่งสามารถชี้ให้เห็นถึงความเปราะบางในแต่ละประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง ความเปราะบางด้านรายได้ เกิดจากการที่คนไร้บ้านมีอาชีพที่เป็นงานไม่ประจำ ทำให้มีรายได้ที่ไม่แน่นอน โดยคนไร้บ้านมีลักษณะการหาเช้ากินค่ำ มีเงินออมค่อนข้างต่ำ หรือแทบจะไม่มีเลย จนกระทั่งเกิดการก่อหนี้สิน ซึ่งคนไร้บ้านหน้าใหม่ส่วนใหญ่จะมีรายได้สูงกว่าคนไร้บ้านหน้าเก่า เนื่องจากมีความหวังที่ต้องการออกจากภาวะไร้บ้านที่สูง จึงทำให้พวกเขามีความกระตือรือร้น ความขยันในการหางานและการทำงานมากกว่าคนไร้บ้านหน้าเก่า

ประเด็นที่สอง ความเปราะบางด้านครอบครัว  ซึ่งเป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน อย่างไรก็ตาม คนไร้บ้านหน้าใหม่มักจะยังคงความสัมพันธ์อันเหนียวแน่นกับครอบครัวได้ดีกว่าคนไร้บ้านหน้าเก่า จึงทำให้คนไร้บ้านหน้าใหม่ยังมีโอกาสที่จะติดต่อและได้รับความช่วยเหลือจากครอบครัวอยู่มากกว่า ในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่าย ที่อยู่อาศัย เป็นต้น

และ ประเด็นที่สาม ความเปราะบางด้านสุขภาพ คนไร้บ้านต้องอาศัยในพื้นที่สาธารณะเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ต้องเสี่ยงกับปัญหาสุขภาวะและมลพิษมากกว่าคนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น โรคและไวรัสที่แพร่ตามอากาศและน้ำขัง หรือแม้แต่ฝุ่น PM 2.5 และ ควันจากยานพาหนะ ดังนั้นแล้วคนไร้บ้านที่อยู่ในภาวะไร้บ้านมายาวนานก็ยิ่งสะสมปัญหาทางสุขภาวะไว้มาก คนไร้บ้านหน้าเก่าจึงมีความเปราะบางด้านสุขภาพมากกว่าคนไร้บ้านหน้าใหม่ และยิ่งเมื่อพวกเขามีอายุที่มากขึ้น สุขภาพร่างกายก็ย่อมถดถอยลงเรื่อย ๆ กระทบต่อความสามารถในการทำงานและขาดรายได้ ทำให้เมื่อยิ่งไร้บ้านนานเท่าไรก็ยิ่งเปราะบางมากขึ้น นี่ยังไม่รวมถึงอุปสรรคในการเข้าถึงสวัสดิการรักษาพยาบาลของคนไร้บ้านที่เข้าถึงได้ยากกว่าคนทั่วไป อีกด้วย

เพราะฉะนั้นแล้วจึงนำมาสู่ข้อสรุปที่ว่าโอกาสที่คนไร้บ้านหน้าใหม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตเช่นคนทั่วไปได้มีมากกว่าคนไร้บ้านหน้าเก่า โดยหากเรายิ่งปล่อยให้คนไร้บ้านต้องอยู่ในสภาวะไร้บ้านที่ยาวนานขึ้น ย่อมทำให้เกิดปัญหาใหม่ ๆ ทับถม และทับซ้อนกับปัญหาดั้งเดิม จนทำให้โอกาสในการตั้งหลักในการกลับคืนสู่สังคมยิ่งลดน้อยลงไปอีก เรียกปัญหาที่ทับถมและซ้อนทับกันตามการเวลาที่ใช้ชีวิตแบบไร้บ้านเช่นนี้ว่า  “กับดักภาวะไร้บ้าน” ดังนั้นแล้วปัญหาภาวะไร้บ้านจึงเป็นเรื่องที่ต้องเร่งให้ความช่วยเหลือ

จุดเปลี่ยนกลับคืนสู่สังคมของคนไร้บ้าน

เมื่อคนไร้บ้านยิ่งมีภาวะไร้บ้านยาวนานมากเท่าไร จะทำให้เกิดการทับถมของปัญหาใหม่ ผนวกกับปัญหาเก่าที่ยังไม่ถูกแก้ไข ส่งผลให้ยิ่งยากต่อการตั้งหลักในการกลับคืนสู่สังคม ดังนั้นแล้ว จึงนำมาสู่ประเด็นคำถามต่อไปคือ ระยะเวลาที่รวดเร็วและเหมาะสมที่สุดที่จะทำให้คนไร้บ้านสามารถกลับคืนสู่สังคมได้คือเมื่อไร

หากพิจารณาถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะทำให้คนไร้บ้านกลับคืนสู่สังคม พบว่าในช่วงเวลาปีแรกของการก้าวสู่ภาวะไร้บ้านเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด เนื่องจากในช่วงเวลา 1 ปีแรก คนไร้บ้านจะมีความหวังที่จะกลับสู่สังคมมากที่สุด ทำให้เกิดความต้องการทำงาน ความกระตือรือร้น-ความขยันในการทำงาน และรายได้สูงที่สุด ซึ่งเป็นปัจจัยการสนับสนุนในการหลุดพ้นภาวะไร้บ้าน อีกทั้งคนไร้บ้านยังขาดการติดต่อกับครอบครัวยังไม่นาน และปัญหาสุขภาพยังไม่เป็นปัญหาที่ถูกสะสมนานจนเกินไป ทำให้สามารถช่วยเหลือคนไร้บ้านเหล่านี้ให้กลับสู่ชีวิตปกติได้มากกว่ากลุ่มคนไร้บ้านหน้าเก่า

ด้วยเหตุนี้จะเห็นได้ว่าหากคนนึงต้องประสบกับปัญหาเศรษฐกิจ และสังคมจะทำให้กลายเป็นคนไร้บ้าน โดยช่วงเวลาเริ่มต้นที่ก้าวเข้าสู่ภาวะไร้บ้านเป็นช่วงเวลาที่พวกเขายังมีความหวังที่จะกลับไปใช้ชีวิตเฉกเช่นคนทั่วไปมากที่สุด เป็นช่วงเวลาที่พวกเขาพยายามหางาน และหารายได้ ดังนั้น การให้ความช่วยเหลือคนไร้บ้านหน้าใหม่ในช่วงเวลาที่ไม่เกิน 1 ปีแรกของภาวะไร้บ้านจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้พวกเขาสามารถกลับไปใช้ชีวิตเช่นคนทั่วไป (Turning Point) ได้รวดเร็วที่สุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุด ก่อนที่คนไร้บ้านจะอยู่ในภาวะไร้บ้านนานขึ้นจนเกิดเป็นภาวะเรื้อรังจนไม่สามารถหลุดพ้น “กับดักภาวะไร้บ้าน” จึงอาจเป็นการยากต่อการแก้ไข และเป็นการสายเกินกว่าจะแก้ไขได้ในที่สุด 

_____________________________________________________________________

เอกสารอ้างอิง

พีระ ตั้งธรรมรักษ์, นิชาภัทร ไม้งาม, ณัฎฐ์ศุภณ ดำชื่น, และ ณัฐพล สีวลีพันธ์ (2564). การศึกษาโอกาสในการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านด้วยการวิจัยภาคสนาม. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ: กรุงเทพฯ

ธานี ชัยวัฒน์, พีระ ตั้งธรรมรักษ์, รัฐวิชญ์ ไพรวัน, และ นิชาภัทร ไม้งาม (2561). การศึกษาแนวทางวิเคราะห์ต้นทุนการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้าน และติดตามการเปลี่ยนแปลงทางชีวิตของคนไร้บ้านในช่วงเริ่มต้น. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ: กรุงเทพฯ