ในช่วงวัยหนุ่มสาว การไม่สมหวังในความรักให้ความรู้สึกที่แตกต่างออกไปจากวัยที่ต้องมีครอบครัวเป็นอย่างมาก เราอาจจะเจ็บปวดเพราะเป็นรักครั้งแรกของเรา แต่เราก็พร้อมที่จะลุกขึ้นเพื่อเดินต่อไปข้างหน้า เพราะความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในวัยแรกเริ่มนั้นมีแค่สิ่งยึดเหนี่ยวบางๆ ที่เรียกว่า “ความรัก” ผูกโยงอยู่เท่านั้น แต่ในวัยที่เราต้องเริ่มใช้ชีวิตแบบครอบครัว ความไม่สมหวังในชีวิตนำความบอบช้ำที่หลายคนไม่อาจเดินหน้าต่อ เนื่องจากสิ่งที่ “พัง”พร้อมชีวิตคู่ ไม่ได้มีแค่ความสัมพันธ์ที่เรียกว่า “รัก” อีกต่อไป ยังมีความสัมพันธ์อื่นๆ ที่ต้องทลายลงไปด้วย เช่น ลูก เป้าหมายชีวิตที่วางไว้ร่วมกัน สิ่งที่สร้างร่วมกันมา ฯลฯ เฉกเช่นเดียวกับชีวิตของชายคนนี้ ชายที่ชื่อ “ชัย” ยอดรัก บุญเปี่ยมโชค
พี่ชัย อายุ 42 ปี เดิมอยู่นครสวรรค์ เขามาจากบ้านสงเคราะห์เด็กชาย ในวัยที่เขาอายุได้ 7 ปี พ่อแม่เอาเขามาฝากเลี้ยงที่นั้น และก็ไม่กลับมาหาเขาอีกเลย เขากลายเป็นเด็กกำพร้าตั้งแต่บัดนั้น
“พ่อแม่เอามาฝากเลี้ยง จากนั้นก็ทิ้งผมไว้ที่นั้นไม่มาเอาเลย ทางสงเคราะห์นครสวรรค์ส่งผมมาอยู่สถานสงเคราะห์เด็กชายที่เชียงใหม่ อยู่ที่นั้นมีที่เรียนหนังสือ ระดับป.1 – ป.6 ถ้าจบแล้วเขาจะส่งไปเรียนข้างนอกในระดับม.ปลาย แต่ผมไม่ได้เรียนต่อ พอจบป.6 แล้วก็ออกมาหางานทำ ทางสงเคราะห์หางานให้ทำ เป็นงานประเภทยกของส่งของ พอตกเย็นก็กลับเข้าไปอยู่ในนั้น ทำมาได้ 2-3 ปี พออายุ 18 ปี เขาก็ให้ออกจากบ้านสงเคราะห์ เพราะอายุเกินแล้ว”
พี่ชัยในวัยหนุ่ม เลือกออกมาทำงานส่งของ เป็นแรงงานก่อสร้างบ้าง สลับกันไป หนักเอาเบาสู้ เขาทำงานจนพบรักกับภรรยา และตกลงกันว่าจะออกมาเป็นนายตัวเองด้วยการขายลูกชิ้น
“ผมออกมาหางานทำ เป็นคนงานส่งของไปกับรถ ยกของขึ้นลงรถ แต่ผมเวียนทำงานหลายอย่าง ขนปูน งานก่อสร้างก็ทำ จนสุดท้ายมาได้งานอยู่ร้านขายของชำแถวกาดเมืองใหม่ จากนั้นประมาณอายุ 20 กว่าปี ผมมีแฟน ออกมาอยู่ด้วยกัน ทำงานขนของได้สักพัก ก็ออกมาขายลูกชิ้นกับแฟน เอาเงินเก็บมาซื้อรถพ่วงแล้วเดินทางขายลูกชิ้นทั่วเมืองเชียงใหม่ ขายรายได้ดี วันละ 2000-3000 บาท กำไรเกือบๆ พันบาท จากนั้นมีลูกชาย 1 คน พอมีลูกชายผมก็เลิกขายให้แฟนขายคนเดียว ส่วนตัวเองออกมาทำงานขนของเหมือนเดิม จะได้มีรายได้เพิ่ม อีกอย่างงานขายลูกชิ้นทำให้เราไม่ได้นอน ขายทั้งคืน แต่บางครั้งถ้ามีงานเทศกาล งานวัด หรือผมเลิกงานเร็วก็จะไปช่วยเมียขาย”
จากชีวิตรักในวัยแรกเริ่ม ความรักของพี่ชัยเบ่งบานจนตัดสินใจใช้ชีวิตครอบครัวกับภรรยา ชีวิตคู่ของพี่ชัยดำเนินไปได้สิบกว่าปีก็ต้องถึงจุดเปลี่ยน
“พออายุ 30 ปีกว่า ชีวิตผมก็ถึงจุดเปลี่ยน ผมเลิกกับภรรยา ไม่ได้ทะเลาะกัน แต่แกหนีผมไปเลยพร้อมลูก ตอนนั้นลูกผมอายุ 10 ขวบ นับจนถึงตอนนี้ผมเลิกกับเขามาได้ 5 ปีแล้ว พอเลิกกับแฟนเหมือนชีวิตโซเซ งานการไม่เอา มีเงินเก็บอยู่ก้อนหนึ่งผมอยากเที่ยว อยากดื่ม ดูดบุหรี่ ผมก็ทำเลย เพราะตอนนั้นผมไม่คิดอะไรแล้ว ไม่มีเป้าหมายอะไรเลย ผมเกิดคำถามในใจว่า เราก็ทำดีที่สุดแล้ว ดีขนาดนี้ ทำไมเขาถึงทิ้งเรา เขาไม่ได้บอกอะไรนะ เขานึกจะไปก็ไป ผมก็ไม่ได้ไปตามเขา ใช้ชีวิตแบบเมา มืดไหน นอนนั้น สถานีรถไฟก็ไปนอน กาดหลวง ท่าแพ ช้างเผือก แถวนิมมานฯก็ไป ส่วนใหญ่จะนอนหน้าตึก หรือบ้านที่มืด เช้าก็ตื่นไป บ้านผมมีนะ อยู่แถวกาดคำเที่ยง บ้านที่อยู่กับภรรยานั่นแหละ แต่ผมไม่สบายใจที่จะกลับ นอนข้างนอกดีกว่า สบายใจ”
ความ “ผัง” ในชีวิตครอบครัวทำให้พี่ชัยเลือกทางเดินในแบบนักพเนจร และนักเลงสุรา ดื่ม ดูด มืดไหนนอนนั่น เขาไม่รู้ว่าตนเองเป็นคนไร้บ้านไหม แต่ภาวะแบบนี้ไม่ใช่ก็ใกล้เคียงมาก และเมื่อเงินเก็บเริ่มหมดลง พี่ชัยไม่รู้ว่าจะใช้ชีวิตต่ออย่างไร แต่เหมือนเป็นโชคชะตาอย่างหนึ่ง เพราะการออกมาใช้ชีวิตพเนจรทำให้เขารู้จักกับกลุ่มคนไร้บ้านที่อาศัยอยู่ในที่สาธารณะ และสิ่งนี้ทำให้เขาเริ่มกลับมาตั้งต้นกับชีวิตใหม่
“ผมเข้านอนตอนตีสาม-ตีสี่ ตื่นอีกทีก็แปดโมง นอนประมาณ 4-5 ชั่วโมง จากนั้นก็ไปเก็บของ(ขยะ)ขาย ตอนนั้นลงทุนซื้อรถเข็นคันหนึ่ง แล้วก็ดื่มต่อ ใช้ชีวิตอยู่อย่างนี้จนเงินหมด เงินในบัญชีก็ไปเบิกไม่ได้เพราะเป็นชื่อของภรรยา ผมใช้ชีวิตอยู่อย่างนั้นจนไปเจอยายทองคำ แกมาชวนให้ผมเข้าไปร่วมกลุ่ม มาอยู่ด้วยกันที่ศูนย์พักคนไร้บ้าน (ที่ร่วมเช่ากันอยู่) ตอนแรกก็ยังไม่เข้าไป แต่เจอแกทุกวันแกก็ถามว่าเมื่อไหร่จะเข้าไป จนปี 2553 ผมถึงเข้าไปร่วมกลุ่ม พอเข้ามาร่วมกลุ่มก็รู้สึกว่าดี ได้เจอคนต่างๆ หลายคน หลายประเภท ก็ทำให้เราเหมือนมีเพื่อนมากขึ้น แรกๆ เข้าร่วมกลุ่ม เขาก็ให้เราทำงานช่วยคัดแยกขยะ สมัยก่อนเราเคยช่วยหลวงพี่ต่อที่ทำผ้าป่ารีไซเคิล ก็พอมีทักษะด้านนี้อยู่บ้าง”
หลังเข้าร่วมกลุ่มคนไร้บ้าน พี่ชัยเริ่มกลับเข้าสู่เส้นทางการใช้ชีวิตที่มั่นคงมากขึ้น เขาร่วมทำกิจกรรมกลุ่มฯ เช่น เดินกาแฟ ทำน้ำหมัก คัดแยกขยะ การทำกิจกรรมทำให้เขาเริ่มทิ้งชีวิตอันโหดร้ายไว้เบื้องหลัง และมองไปยังอนาคตเบื้องหน้ากับกลุ่มคนไร้บ้าน
“ผมไม่เคยคิดว่า เราเป็นคนไร้บ้านนะ ตอนออกมาเร่ร่อน เพราะผมมีบ้าน เพียงแต่เราไม่อยากกลับบ้าน เราไม่รู้จักคำว่า “คนไร้บ้าน” เพิ่งมาได้ยิน ตอนเขาประชุมที่ท่าแพ ไม่เคยเข้าร่วมประชุมหรอก แต่ไปนั่งดูอยู่ ไปนั่งฟังห่างๆ ก็ได้ยินคำนี้จากวงคุยตรงนั้นแหละ เลยเริ่มคิดว่า เราเป็นคนไร้บ้านหรือเปล่า ผมคิดว่า คนทั่วไปก็ไม่ค่อยรู้จักกันหรอก เพิ่งมาเป็นที่รู้จักตอนหลังนี่เอง มีครั้งหนึ่ง ผมกำลังเก็บขยะ นักศึกษาจากมช.ก็มาขอสัมภาษณ์ ก็ถามผมว่า มาอยู่อย่างนี้เป็นอย่างไรบ้าง ตอนนั้นเขามาทำรายงานส่งอาจารย์ ก็ตอบไป เขาก็ถ่ายรูปผมไป ”
“ชีวิตรัก เรารู้สึกว่าจบแล้วก็จบเลย พอชีวิตกลับมาได้ เราก็เริ่มมองหาคนใหม่”
“ในอนาคตเรากำลังจะมีศูนย์ฯ ซึ่งพี่ก็ดีใจที่เราจะมีที่อยู่ ไม่ต้องไปเร่ร่อนเหมือนเดิม ตอนนี้ผมกำลังมีที่อยู่ มีงานทำ แบบสบายใจ”
เมื่อพี่ชัยมองย้อนไปยังอดีต เขาพบว่า หลายสิ่งที่เขาเผชิญมามีสิ่งทั้งสิ่งที่เรียกว่าความลำบาก และสิ่งที่เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิต
“สิ่งที่คิดว่าลำบากที่สุดในชีวิตคือ ตอนที่ภรรยาทิ้งไป เพราะชีวิตมันพังไปเลย ตอนอยู่สถานสงเคราะห์ไม่เท่าไหร่ พอเลิกกับแฟนมันเจ็บปวดใจ แต่มันก็ยังมีช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิตนะ คือ ตอนมีลูกนี่แหละ ตอนแรกไม่ได้ตั้งใจมี แต่ภรรยาผมไปตรวจเจอ ก็ปรากฏว่า มันรู้สึกดีใจอย่างบอกไม่ถูก ลูกผมมาเยี่ยมตลอดนะ ตอนอยู่ศูนย์เก่าก็มาเยี่ยม แต่อยู่ศูนย์ใหม่ยังไม่ได้มา ภรรยาก็เจออยู่ครั้งหนึ่ง แต่ไม่ได้ทัก ไม่ได้ถามว่าทำอะไรอยู่ วันนั้นบังเอิญไปตลาด ไปซื้อของแล้วก็เจอกัน คุยกันธรรมดา”
พี่ชัยไม่ตั้งใจที่จะอยู่แบบนี้ไปตลอด เขาวางแผนอนาคตข้างหน้าไว้ว่า อยากเก็บเงินสักก้อน เพื่อสร้างบ้านของตนเอง และมีคนรู้ใจสักคนหนึ่ง
“ผมอยากเก็บเงินสักก้อนหนึ่ง หาที่ทาง สร้างบ้านของตัวเอง ไม่ได้จะคิดจะอยู่ศูนย์นี้ไปจนตายหรอก หาแฟนที่เข้าใจสักคนหนึ่ง “บ้าน” มันอาจจะไม่ใช่ที่อยู่กับครอบครัวอีกต่อไปแล้ว อยู่คนเดียว สำหรับผมก็เรียกว่า “บ้าน” ได้ มีบ้านเล็กๆ สักหลัง มีสิ่งอำนวยความสะดวก เครื่องใช้ไฟฟ้า ทำให้เราสามารถใช้ชีวิตได้”.
### ทีมงานเพนกวิ้นโฮมเลส ขอไว้อาลัยแด่คุณ นที สรวารี ที่จากไปอย่างไม่มีวันกลับ ผู้ซึ่งบุกเบิกพรบ.คนเร่ร่อน ผู้อุทิศตนจนนาทีสุดท้ายให้แก่คนไร้บ้าน ###
อ่านคนไร้บ้านเชียงใหม่ เดอะซีรีส์
คนไร้บ้านเชียงใหม่ เดอะซีรีส์ (7) นรินทร์ ผู้หยิ่งทระนง เย้ยฟ้า ท้าทายชีวิตพิการ และไร้บ้าน #END
คนไร้บ้านเชียงใหม่ เดอะซีรีส์ (6) นรินทร์ ผู้หยิ่งทระนง เย้ยฟ้า ท้าทายชีวิตพิการ และไร้บ้าน #1
คนไร้บ้านเชียงใหม่ เดอะซีรีส์ (5) คุยกับ ‘เอ็น’ ถึงประสบการณ์ และความท้าท้ายในการทำงานกับคนไร้บ้าน
คนไร้บ้านเชียงใหม่ เดอะซีรีส์ (4) เสียงอวยพรจากมิตร กับย่างก้าวสำคัญของกลุ่มคนไร้บ้านเชียงใหม่
คนไร้บ้านเชียงใหม่ เดอะซีรีส์ (3) ความรู้สึกของป้าอ้วน หลังมี “บ้าน” แห่งใหม่
คนไร้บ้านเชียงใหม่ เดอะซีรีส์ (2) “ โต้ง จากคนไร้บ้านสู่คนทำงานพัฒนา”
คนไร้บ้านเชียงใหม่ เดอะซีรีส์: เปิดตัวน้ำยาอีเอ็ม -ผักอินทรีย์ ฝีมือคนไร้บ้านเชียงใหม่