ผู้เขียน: บุณิกา จูจันทร์
กล่าวนำ: บทความนี้มีเนื้อหาที่เกี่ยวกับความรุนแรง บาดแผลทางใจและความเจ็บป่วยทางจิตใจ โดยต่อไปจะกล่าวถึงความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ และอาการของโรคทางจิตใจ เช่น ความรุนแรงอันเนื่องมาจากอัตลักษณ์ทางเพศ อาการซึมเศร้า และความคิด/ความพยายามในการฆ่าตัวตาย
หากพูดถึงความเหลื่อมล้ำในสังคม หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นเป็นรูปธรรมมากที่สุดคือภาวะไร้ที่อยู่อาศัย ปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่เพียงความโชคร้ายของคนเพียงบางคน ไม่ใช่เพียงผลกรรมหรือความพลาดพลั้งส่วนบุคคล การที่ผู้คนไม่มีบ้านเป็นผลพวงของปัจจัยเชิงเศรษฐกิจ-สังคมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น…
- การพัฒนาที่ดิน ซึ่งนำไปสู่ราคาที่ดินและที่อยู่อาศัยซึ่งสูงขึ้น
- จำนวนของที่อยู่อาศัยสำหรับคนรายได้น้อยที่ไม่เพียงพอ
- การขายพื้นที่ชุมชนให้กับโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทำให้คนในชุมชนต้องย้ายออกไปจากที่อยู่อาศัยเดิม
- การบังคับใช้กฎหมายที่คุ้มครองสิทธิของผู้เช่าและผู้อยู่อาศัยในชุมชนรายได้น้อยที่ไม่เพียงพอ
- ขบวนการรักษาสิทธิของผู้เช่าที่ยังไม่เข้มแข็งมากพอจะต่อรองกับเจ้าของที่ที่ไม่เป็นธรรม
- ความมั่นคงทางอาชีพที่ถดถอยลง สืบเนื่องจากเศรษฐกิจที่ไม่มั่นคง ความต้องการใช้เทคโนโลยีประมวลผลอัตโนมัติแทนที่แรงงานคน และการว่าจ้างด้วยสัญญารายปี/เดือน
- สวัสดิการรัฐที่ครอบคลุมประชากรรายได้น้อยไม่ทั่วถึง ทั้งในด้านการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน และการให้บริการทางสังคม เนื่องจากงบประมาณรัฐสำหรับส่วนนี้ถูกตัดลง ทำให้ภาระค่าใช้จ่ายตกอยู่ที่ประชาชนแทน
- ค่าครองชีพที่สูงขึ้น
แน่นอนว่าปลายทางของการสร้างสังคมที่ทุกคนมีบ้านคือการสร้างสังคมที่ปราศจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ แต่สภาวะไร้ที่อยู่อาศัยเองเป็นไม่ใช่ปัญหาเศรษฐกิจ 100% เสียทีเดียว สังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำได้สร้างผลกระทบต่อสภาพจิตใจของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นความหวาดกลัวต่อสภาพยากจน ความโกรธต่อสภาพสังคมที่อยุติธรรม ความรู้สึกเกลียดกลัวตัวเอง เนื่องจากสมาทานแนวคิดที่กดขี่ตัวเองเข้ามา หรือความรู้สึกหวาดกลัวต่ออันตรายถึงชีวิต ซึ่งอาจเกิดโครงสร้างสังคมที่ผลักไสคนให้ไปอยู่ชายขอบ หรือความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมรอบข้าง ทั้งหมดนี้ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อโลกทรรศน์ของบุคคลต่าง ๆ แต่ยังรวมไปถึงสุขภาวะทางกายและใจด้วย
ในฐานะผู้ที่ประสบกับความเหลื่อมล้ำในระดับรุนแรง คนไร้บ้านอาจมีบาดแผลทางใจทั้งก่อนและหลังการใช้ชีวิตอยู่ในโลกภายนอก สภาพแวดล้อมที่รุนแรงและเป็นอันตรายต่อชีวิตเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนหลบหนีออกมาจากที่พักอาศัย ส่วนสภาวะไร้ที่อยู่อาศัยได้ผลักให้คนอยู่ในจุดที่เปราะบาง เสี่ยงต่อความรุนแรงและสถานการณ์ที่ตึงเครียดเช่นกัน ผู้คนจึงไม่เพียงแต่มีสถานะทางเศรษฐกิจ-สังคมที่เปราะบางหรือมีร่างกายที่รุมเร้าด้วยโรค แต่ยังมีจิตใจที่บอบช้ำจากประสบการณ์การไร้ที่อยู่อาศัย
ร่องรอยของความรุนแรงอาจมีมาก่อนภาวะไร้บ้าน
ประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน คุณลักษณะต่าง ๆ เช่น เพศ อายุ เชื้อชาติ/ชาติพันธุ์ เป็นทั้งตัวแปรที่ทำให้ชีวิตของผู้คนแต่ละคนแตกต่างกันไป และเป็นทั้งบ่อเกิดของความรุนแรงชนิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการกดขี่ทางชาติพันธุ์/เชื้อชาติ การกดขี่ทางเพศ หรือการกดขี่ทางชนชั้น ในครอบครัวที่สมาทานคุณค่าของระบบชายเป็นใหญ่ การใช้ความรุนแรงไม่เพียงแต่จะถูกมองว่าเป็นเรื่องปรกติและเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว แต่ยังเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไป และในสังคมที่ยังเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำทางชาติพันธุ์/เชื้อชาติ การกดขี่ในลักษณะนี้ดำรงผ่านสถาบันต่าง ๆ ในสังคม เจ้าหน้าที่ตำรวจอาจสอดแนม ตรวจตรา และใช้อำนาจโดยมิชอบกับชุมชนคนชายขอบ เช่น การดำเนินคดีโดยไม่เป็นธรรม การทารุณกรรม หรือกระทั่งการฆาตกรรม และการตีตราให้คนชายขอบเป็นอาชญากรรมนำไปสู่การจำกัดโอกาสในการใช้ชีวิตในสังคม ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การงานอาชีพ หรือการศึกษา ห่วงโซ่การกระทำเหล่านี้ผลักให้คนติดอยู่ในกับดักของความยากจนและภาวะเครียดระยะยาว
สำหรับผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ก่อนที่จะเป็นคนไร้บ้าน พวกเขาหลายคนอาจประสบกับความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะในฐานะผู้ถูกกระทำโดยตรง หรือในฐานะประจักษ์พยานความรุนแรง ด้วยสถานะเยาวชน กอปรกับอำนาจ กำลังและทรัพยากรในการรับมือและตอบโต้กับความรุนแรงที่น้อยกว่าผู้ใหญ่ พวกเขาอาจต้องเผชิญหน้ากับการทำร้ายร่างกายด้วยมือเปล่าหรือด้วยอาวุธ การทำอันตรายจนถึงแก่ชีวิต การทารุณทางเพศ การตัดขาดจากสังคมภายนอก และการคุกคามในโรงเรียนมาก่อน นอกจากนี้เอง เยาวชนอาจเคยเห็นการทำร้ายร่างกาย การทารุณกรรม หรือการฆาตกรรมภายในครอบครัวหรือในละแวกบ้านมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลาสั้น ๆ หรือเป็นประจำสม่ำเสมอก็ตาม เหตุการณ์เหล่านี้สร้างบาดแผลในใจซึ่งจะติดตัวไปอีกนานได้ และเป็นแรงจูงใจให้คนต้องละทิ้งที่พักอาศัยเพื่อเอาชีวิตรอดอีกด้วย
การหลบหนีครอบครัวที่เกลียดชังตัวเองคืออีกสาเหตุที่ทำให้เยาวชนต้องพลัดพรากจากบ้านเช่นกัน มีรายงานว่าเยาวชน LGBTQ+ เสี่ยงต่อการเป็นคนไร้บ้าน เนื่องจากครอบครัวรู้สึกไม่สบายใจ หรือถึงขั้นเกลียดชังอัตลักษณ์ทางเพศของตน ความเกลียดกลัวดังกล่าวได้ปรากฏตัวอยู่ในรูปแบบต่าง ๆ ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างต่อไปนี้
- การวางระยะห่าง การตัดขาดการสื่อสาร
- การใช้วาจาที่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง เพื่อกดขี่ข่มเหงทางใจ เช่น การไล่ออกจากบ้าน
- การทารุณกรรมร่างกาย รวมไปถึงการพยายามเปลี่ยนอัตลักษณ์ทางเพศของกลุ่ม LGBTQ+
นอกจากนี้เอง เหตุการณ์ที่ร้ายแรง เช่น การสูญเสียผู้เป็นที่รัก ความเจ็บป่วยในระดับวิกฤต ภัยพิบัติ หรือ อุบัติเหตุร้ายแรง ยังช่วยซ้ำเติมจิตใจ โดยผลักให้ผู้ประสบเหตุการณ์นั้นเข้าสู่สภาวะเครียดอย่างยิ่งยวด
เหตุการณ์เหล่านี้ไม่เพียงแต่สร้างบาดแผลบนเรือนร่างของผู้คน แต่ยังฝากความเจ็บปวดเอาไว้ข้างในจิตใจอีกด้วย เมื่อผู้คนออกจากบ้านไป สัมภาระที่พวกเขาเอาติดตัวไปจึงไม่ได้มีแต่เสื้อผ้าหรือทรัพย์สินส่วนบุคคล มันยังรวมไปถึงความรุนแรงที่ฝังอยู่ในความทรงจำและพฤติกรรมการใช้ชีวิตอีกด้วย
เมื่อภาวะไร้ที่อยู่อาศัยซ้ำเติมจิตใจคน
การตกอยู่ภาวะไร้ที่อยู่อาศัยทำให้เกิดความเจ็บป่วยทางจิตใจเช่นกัน สำหรับเยาวชนที่อยู่ในจุดที่เสี่ยงจะสูญเสียที่อยู่อาศัย หรืออาศัยอยู่กับครอบครัวที่ไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัยได้สม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าบำรุงซ่อมแซมส่วนที่ทรุดโทรม และค่าเช่าที่พัก ความไม่มั่นคงในชีวิตได้ทิ้งความหวาดกลัวในใจเอาไว้ ซึ่งอาจพัฒนามาเป็นความเจ็บป่วยทางใจได้
ถึงแม้ว่าเยาวชนจำนวนหนึ่งจะหนีออกจากบ้านเพื่อเอาชีวิตรอดจากสภาพแวดล้อมที่โหดร้าย แต่ชีวิตบนท้องถนน ตามพื้นที่สาธารณะ หรือห้องหับที่เช่าเป็นระยะเปิดทางให้ความรุนแรงเข้ามาสู่ชีวิตของเยาวชนเช่นกัน เยาวชนไร้บ้านมีแนวโน้มที่จะถูกทำร้ายร่างกายหรือกระทำการรุนแรงด้วยอาวุธ ไม่ว่าจะจากพลเรือนด้วยกัน หรือเจ้าหน้าที่รัฐ และการใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะยิ่งเสี่ยงทำให้ถูกปล้นอีกด้วย เมื่อเยาวชนออกมาใช้ชีวิตด้วยตัวเอง เครือข่ายคนที่ให้ความช่วยเหลือดูแลชีวิตประจำวันมีบทบาทสำคัญอย่างมาก แต่นั่นหมายความว่าเยาวชนจำเป็นต้องพึ่งพาคน/กลุ่มคนคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ และมีสถานะทางอำนาจที่ต่ำกว่าโดยปริยาย สถานการณ์ดังกล่าวอาจนำไปสู่การล่วงละเมิดทางเพศ การแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ เนื่องจากสถานการณ์บีบคั้นให้จำเป็นต้องขายบริการทางเพศ
เยาวชนไร้บ้านเองยังเสี่ยงที่จะติดพันอยู่ในระบบยุติธรรมอาญาสำหรับเยาวชน เนื่องจากดำรงชีวิตด้วยการประกอบอาชีพที่ขัดต่อกฎหมาย เช่น การค้ายาเสพติด และการขายบริการทางเพศ ระบบดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะปฏิบัติกับเยาวชนบนหลักการของศีลธรรม ทำให้เยาวชนถูกตีตราว่าเป็นบุคคลไม่พึงประสงค์ ทำให้สังคมเสื่อมเสีย และได้รับการปฏิบัติโดยมิชอบจากเจ้าหน้าที่ในระบบ ระบบ “ฟื้นฟู” เยาวชนเองยังมุ่งเน้นการปลูกฝังคุณธรรม มากกว่าการให้ความช่วยเหลือด้านจิตสังคมหรือด้านการแพทย์ นอกจากนี้ เยาวชนไร้บ้านยังอาจถูกส่งเข้าเรือนจำ ซึ่งเป็นสถานที่ที่สามารถพบเห็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ และเมื่อออกมา เยาวชนยังถูกสังคมปฏิบัติในฐานะภัยอันตรายต่อสังคม พร้อมกับถูกปฏิเสธโอกาสในการใช้ชีวิต
สำหรับเยาวชนที่เคยต้องย้ายบ้านเป็นประจำ หรือเคยโดนขับไล่ออกมาจากที่พักอาศัย ความทรงจำในช่วงเวลาที่ตึงเครียดอาจยังคงติดอยู่ในใจ ไม่ว่าจะเป็นความไม่รู้สึกมั่นคงกับสถานะของตัวเองตลอดเวลา หรืออาการฝันร้ายหรือการหวนระลึกถึงช่วงเวลาที่ตนถูกพรากที่อยู่อาศัยไป สิ่งนี้ส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้ชีวิตต่าง ๆ แม้กระทั่งหลังบรรลุนิติภาวะแล้ว เช่น วิธีการบริหารจัดการเงิน ซึ่งตั้งอยู่บนฐานของความกลัว อันเนื่องมาจากประสบการณ์กับความยากจนในอดีตของตัวเอง
ด้วยประสบการณ์ชีวิตที่เต็มไปด้วยความรุนแรงและความไม่มั่นคงของชีวิต เยาวชนไร้บ้านเผชิญหน้ากับความป่วยไข้ทางใจหลากหลายชนิด เช่น
- อาการซึมเศร้า
- โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD)
- ความคิดหรือการพยายามกระทำอัตวินิบาต
- อาการโกรธเกรี้ยวรุนแรง
- อาการวิตกกังวล
- การตอบโต้ปัญหาด้วยการหลีกเลี่ยงไม่เผชิญหน้ากับความจริง (defensive avoidance)
นอกจากนี้เอง เหตุการณ์รุนแรงยังทำให้เยาวชนไร้บ้านบางคนใช้กลไกรับมือทางจิตใจซึ่งส่งผลเสียต่อร่างกายและจิตใจ เช่น การใช้สารเสพติด พฤติกรรมการกินที่ผิดปรกติ การทำร้ายร่างกายตนเอง พฤติกรรมทางเพศที่ไม่ปลอดภัย เราอาจกล่าวได้ว่าการกระทำทำหน้าที่เป็นเสมือนภาพสะท้อนของสภาวะของจิตใจ ฉะนั้นแล้ว การทำความเข้าใจพฤติกรรมที่ “รุนแรง” “อันตราย” “ผิดปรกติ” ของคนไร้บ้านต้องไปไกลกว่ากรอบศีลธรรมที่เน้นการพิพากษาคน ลดทอนปัญหาเชิงโครงสร้างให้เป็นปัญหาส่วนบุคคล และให้คุณค่ากับ “คนจนที่สมควรได้รับ” (the deserving poor) และใช้กรอบการวิเคราะห์ที่พิจารณาความรุนแรงและความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้าง รวมไปถึงผลกระทบต่าง ๆ ไปพร้อมกับชีวิตของคน การช่วยให้คนออกจากสภาวะนี้จึงไม่ใช่แค่การจัดหาบ้าน หรือช่วยหาหนทางทำมาหากินเพียงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการดูแลความเป็นอยู่ดีทางใจอีกด้วย
อ้างอิง:
- Coates, J., & McKenzie-Mohr, S. (2010). Out of the Frying Pan, Into the Fire: Trauma in the Lives of Homeless Youth Prior to and During Homelessness. Journal of Sociology and Social Welfare, XXXVII(4), 65–96.
- Edidin, J. P., Ganim, Z., Hunter, S. J., & Karnik, N. S. (2011). The Mental and Physical Health of Homeless Youth: A Literature Review. Child Psychiatry & Human Development, 1-23.
- Leary, Alaina. (2018, December 12). This Is What No One Tells You About Being Evicted. Huffpost. https://www.huffpost.com/entry/being-evicted-from-your-home_n_5c1d33c8e4b05c88b6f885a9