สำนักข่าว The Atlantic ได้ปล่อยบทความว่าด้วยวิกฤตไวรัสโคโรน่าและสภาวะไร้บ้าน ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ปัญหาการไร้บ้านแก้ได้ หากรัฐตั้งใจจริงและพยายามมากพอ
เมื่อไวรัสโควิดเริ่มระบาด และหลายๆประเทศต้องปิดพรมแดน ให้คนอยู่กับบ้าน รัฐบาลต่างก็เผชิญกับคำถามเร่งด่วนว่า แล้วมาตรการอยู่กับบ้านจะบังคับใช้กับคนที่ไม่มีบ้านอยู่ได้อย่างไร?
สำหรับประเทศอังกฤษ คำตอบนั้นง่ายดาย “ทำให้ทุกคนได้อยู่ในบ้าน” นี่คือคำสั่งของรัฐบาลเมื่ออังกฤษปิดประเทศเมื่อวันที่ 23 มีนาคม ไม่กี่วันหลังจากนั้น เจ้าหน้าที่รัฐ องค์กรการกุศล และภาคประชาสังคมต่างทำงานร่วมกัน รัฐบาลลงเงินจำนวนหลายล้านปอนด์เพื่อให้คนไร้บ้านที่มีคุ้มหัวนอน
และการลงทุนนั้นก็ประสบผลสำเร็จ คนไร้บ้านหลายพันคนได้เข้าอยู่ในห้องว่างในโรงแรม หอพักนักศึกษา หรือที่อยู่อาศัยชั่วคราวอื่นๆ เป้าหมายของรัฐบาลที่จะแก้ปัญหาที่อยู่ให้คนไร้บ้าน ได้รับการแก้ไขในระยะเวลาแสนสั้น ทั้งๆที่รัฐบาลวางแผนไว้ว่าต้องใช้เวลานานหลายปี
วิกฤตไวรัสโคโรน่า ได้เปิดเผยให้เราเห็นโครงสร้างระบบประกันสุขภาพ เห็นโครงสร้างเศรษฐกิจโลก แต่ก็ได้เปิดเผยให้เห็นเหมือนกันว่าปัญหาที่ดูจะไม่มีทางแก้ได้ สามารถแก้ได้ หากมีความตั้งใจและความพยายามมากพอ ถึงแม้ว่าวิกฤตไวรัสโคโรน่าจะไม่ได้แก้ปัญหาคนไร้บ้านในอังกฤษเสียทีเดียว แต่มันก็ได้พิสูจน์ให้เราเห็นว่า ถ้าปัญหาคนไร้บ้านได้รับงบประมาณสนับสนุนเพียงพอ และรัฐบาลให้ความสำคัญ คนไร้บ้านก็สามารถออกจากท้องถนน มาอยู่ในที่พักได้ ต่อแต่นี้ไป คำถามก็จะไม่ใช่ว่าเราจะแก้ปัญหาคนไร้บ้านได้อย่างไร แต่คือผู้มีอำนาจจะเต็มใจกระจายทรัพยากรและเป้าหมายทางการเมืองมาแก้ปัญหาคนไร้บ้านไหม
อังกฤษไม่ใช่ประเทศเดียวที่หันมาใช้โรงแรมและที่พักอาศัยที่ว่างอยู่มาเป็นที่พักให้คนไร้บ้าน ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส และหลายๆ รัฐในอเมริกาก็ทำแบบเดียวกัน ในอังกฤษ คนไร้บ้านกว่า 15,000 คน ได้เข้าอยู่ในที่พักอาศัยเพื่อให้สามารถเว้นระยะห่างและป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส การทำเช่นนี้ทำให้อังกฤษสามารถป้องกันการแพร่ระบาดขนานใหญ่ท่ามกลางคนไร้บ้าน ดังที่เกิดในประเทศที่มีคนไร้บ้านจำนวนมากอยู่ในที่สาธารณะและรัฐไม่จัดหาที่อยู่ให้พวกเขา นี่รวมถึงการปล่อยให้คนไร้บ้านอยู่ในศูนย์พักพิงที่มักแออัด และไม่สามารถเว้นระยะห่างกันได้
วิกฤตคนไร้บ้านดำรงอยู่มานานแสนนานก่อนวิกฤตโควิด และวิกฤตคนไร้บ้านก็ต้องใช้ทรัพยากรมากกว่าการหาที่อยู่ให้คนไร้บ้านแค่ครั้งเดียวแล้วจบกันไป สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรลืมก็คือ ประเทศตัวอย่างที่แก้ปัญหาคนไร้บ้านได้สำเร็จอย่างฟินแลนด์ ลงทรัพยากรไปมหาศาลในการให้คนไร้บ้านได้มีที่อยู่อาศัยก่อน (housing first) ให้พวกเขาได้รู้สึกว่าชีวิตมั่นคงมากขึ้นจากการมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง จากนั้นจึงให้เจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ช่วยเหลือและดูแลคนไร้บ้านจนกลับมายืนบนลำแข้งของตัวเองได้อย่างเต็มภาคภูมิ
หลังวิกฤตโควิด-19 จบลง วิกฤตต่อมาที่จะท้าทายให้เราแก้ปัญหา คือวิกฤตคนจำนวนมากมายเสี่ยงไร้บ้าน เพราะผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาด แต่เมื่อเกิดวิกฤตไร้บ้าน สิ่งหนึ่งที่เรารู้แล้วก็คือ ปัญหาการไร้บ้านนั้นแก้ได้ ถ้ามีการลงทุนลงแรง ลงทรัพยากร และมีความตั้งใจมากพอ
ที่มา: https://www.theatlantic.com/international/archive/2020/07/what-coronavirus-proved-about-homelessness/614266/