ฮาวทูดีไซน์อย่างไม่เป็นธรรม: เมื่อสถาปัตยกรรมไม่เป็นมิตรกับพื้นที่สาธารณะและคนไร้บ้าน (1)

ผู้เขียน: บุณิกา จูจันทร์

คำอธิบายภาพ: เก้าอี้สำหรับนั่งคนเดียว (single occupancy) ในสวนสาธารณะแห่งหนึ่งในกทม.
ขอบคุณภาพจาก: สำนักข่าวประชาชาติธุรกิจ

เคยเจอสวนสาธารณะหรือพื้นที่กลางเมืองที่ถูกขังไว้หลังประตูที่ปิดตายไหม?

เคยนั่งเก้าอี้ตรงป้ายรถเมล์ แล้วรู้สึกว่าทรงมันแปลก ๆ นั่งแล้วไม่สบายตัวไหม? หรือทำไมเก้าอี้นั่งรอรถธรรมดากลับแปลงโฉมเป็นอะไรสักอย่างที่ใช้นั่งก็ไม่ได้ ใช้พิงก็ไม่ดีอีก? เก้าอี้ปรกติหายไปไหนกัน?

เคยออกไปทำธุระข้างนอกแล้วไม่รู้จะไปไหน แต่กวาดตาไปทางไหนก็ไม่เห็นที่ที่เรานั่งได้เลยไหม แม้ว่าเราจะอยู่ในที่สาธารณะก็ตาม? 

เคยหาที่หลบฝนหรือหาที่ยืนหลบแดด แต่กลับเจออะไรไม่รู้ตั้งอยู่ตรงที่ที่เราควรเข้าไปยืนได้พอดีไหม? ทำไมจู่ ๆ มีเหล็กมากั้นไม่ให้เราเข้าไปพิงเสียอย่างงั้น?

เมื่ออยู่ในสวนสาธารณะ หรือพื้นที่ที่เปิดโล่งให้คนสัญจรผ่านไปมา เคยเจอม้านั่งหรือที่พักที่สร้าง ‘ประสบการณ์การนั่งพัก’ ที่…ประหลาดกว่าปรกติไหม? เหมือนที่ตรงนั้นถูกดีไซน์มาให้นั่งได้แค่คนเดียว  และนั่งได้สักพักก็ต้องลุกขึ้นแล้ว เพราะมันไม่ชวนให้รู้สึกสบายตัวเลย

ทำไมช่วงเวลาที่เราใช้ในพื้นที่สาธารณะมันชวนให้อึดอัดจัง? จะนั่ง จะยืน จะพักผ่อนสักนิดก็ไม่เหมาะสักอย่างเลย แป๊บ ๆ ก็จำต้องย้ายตัวเองไปที่อื่นแล้ว เหมือนพื้นที่ตรงนั้นไม่ต้อนรับการปรากฏตัวของเราเลย?

บุคคลที่ไม่สามารถระบุตัวได้เจาะ “เก้าอี้ของศาลาที่พักผู้โดยสารอัจฉริยะรูปแบบใหม่ (Smart Bus Shelter) แบบ Light Function” ให้เป็นรู
ขอบคุณภาพจาก: สำนักการจราจรและขนส่ง – สจส.

บางทีการปิดกั้นก็เผยตัวอย่างชัดเจนด้วยการล็อคประตูไม่ให้คนเข้าไปใช้งานพื้นที่นั้นเสียเลย หรือการตั้งใจออกแบบพื้นที่ไม่ให้มีที่นั่งรอพัก บางครั้งมันก็มาด้วยรูปแบบที่แยบยลแต่มีพิษสงอยู่ดี เช่นการดีไซน์สิ่งต่าง ๆ ให้คอยกำกับพฤติกรรมของผู้ใช้งานอย่างลับ ๆ ไม่ว่าจะเป็น…

  • ที่พักที่ไม่เอื้อให้คนนั่งหรือนอนพักในระยะยาว ซึ่งเราอาจเห็นได้จากเก้าอี้สำหรับนั่งคนเดียว ไม่มีพนักหรือที่วางแขน 
  • ราวสำหรับยืนพิง แทนที่จะเป็นเก้าอี้ปรกติที่สามารถพยุงร่างกายเราได้ 
  • การเอาราวเหล็ก แผงรั้ว หรือสิ่งแหลมคมมาตั้งไว้ ไม่ให้คนพาตัวเองเข้าไปอยู่ในพื้นที่นั้น ๆ 

การออกแบบในลักษณะนี้ถูกหยิกยกมาใช้งานเพื่อรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสถานที่ เพราะนอกจากมันจะป้องกันพฤติกรรมการใช้งานที่ไม่เป็นที่ต้องการแล้ว มันยังกีดกัน ‘บุคคลที่ไม่พึงประสงค์’ (ในสายตาของสังคม) ออกไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ แน่นอนว่าผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงคือคนไร้บ้าน ผู้ใช้ชีวิตอยู่ในที่สาธารณะ และแบกรับตราบาปที่สังคมหยิบยื่นให้

เหล็กเส้นถูกตรึงกับขอบกำแพงของ United States Court of Appeals for the Ninth Circuit ในซานฟรานซิสโก เพื่อป้องกันไม่ให้คนเข้ามานั่ง
ขอบคุณภาพจาก: สำนักข่าว Vice

ณ ปัจจุบัน มายาคติที่ทำร้ายคนไร้บ้านยังคงแพร่ระบาดอยู่ในสังคม และยังไม่มีท่าทีว่ามันจะถูกเยียวยาให้หายไปได้ในเร็ววัน คนไร้บ้านยังคงถูกมองว่าเป็นอาชญากร เป็นคนสติฟั่นเฟือง เป็นคนที่สังคมไม่ควรต้อนรับ เป็นความล้มเหลวที่ควรได้รับการติเตียน เป็นจุดด่างพร้อยที่แปดเปื้อนสังคม ในขณะที่กฎหมายซึ่งวางระเบียบให้กับสังคมยังคงปฏิบัติกับสภาวะไร้บ้านดุจอาชญากรรมชนิดหนึ่ง

สำหรับภาครัฐ วิถีชีวิตในพื้นที่สาธารณะ เช่น การนั่ง หรือการทอดกายนอนลงกลางแจ้งไม่ได้รับการยอมรับอย่างเด็ดขาด เพราะการใช้ชีวิตในลักษณะนั้นสร้างความเสียหายให้กับภาพลักษณ์ของเมือง ภาวะไร้บ้านจึงต้องถูกรับมือด้วย “การจัดระเบียบเมือง” เหมือนที่ผู้ค้าบริการทางเพศและกลุ่มผู้ประกอบการค้าขายแผงลอยประสบ เพราะในสายตาของภาครัฐ กลุ่มคนเหล่านี้คือตัวปัญหา การดำรงอยู่ของคนกลุ่มนี้รังแต่จะสร้างผลกระทบเชิงลบให้กับความสวยงาม ความสะอาดบริสุทธิ์ ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมือง ภาระไร้บ้านจึงถูกปฏิบัติดุจคราบสกปรก ถ้าพบเจอ ก็ต้องทำความสะอาดให้หมดจด จนกระทั่งเราไม่เห็นร่องรอยอะไรอีกต่อไป


หนามคอนกรีตถูกติดตั้งใต้ถนนในเมืองกว่างโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน
ขอบคุณภาพจาก: Imaginechina/REX

เพื่อซ่อนภาพไม่งามตาของคนไร้บ้านให้ไกลจากทัศนวิสัย พื้นที่สาธารณะต่าง ๆ จึงถูกออกแบบมาให้ต่อต้านการปรากฏตัวของคนไร้บ้านนั่นเอง “defensive architecture” จึงถูกรู้จักในชื่อ “hostile architecture” หรือสถาปัตยกรรมที่ไม่เป็นมิตรกับผู้คน โดยเฉพาะคนไร้บ้าน การออกแบบพื้นที่และสิ่งของต่าง ๆ ในลักษณะนี้ถูกวิจารณ์ว่าเป็น “การออกแบบที่ขัดหลักมนุษยธรรม” (design against humanity) เพราะมันถูกสร้างขึ้นมาด้วยจุดประสงค์ที่รุนแรงโดยธรรมชาติ นั่นคือการกีดกัน และจงใจสร้างอันตรายให้กับคนที่เข้ามาใช้พื้นที่นั้น ๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือนวัตกรรม “หนามเหล็กต่อต้านคนไร้บ้าน” (anti-homeless spikes) หนามเหล็กเหล่านี้จะถูกวางไว้บนทุก ๆ ที่ที่มนุษย์สามารถใช้เป็นที่พักผ่อนได้ ไม่ว่าจะเป็นหัวฉีดน้ำดับเพลิง ริมขอบกระจก พื้นที่ว่างหน้าตึก หรือใต้ทางด่วน 

เมื่อเราพูดถึงความรุนแรงและภาวะไร้บ้าน สิ่งที่เข้ามาในหัวเป็นสิ่งแรกอาจจะเป็นการทุบตีคนไร้บ้าน แต่การต่อยตีทำร้ายร่างกายไม่ใช่รูปแบบเดียวของความรุนแรงที่คนไร้บ้านต้องพบเจอ สถาปัตยกรรมและสิ่งประดิษฐ์ที่ไม่เป็นมิตรเหล่านี้ทำหน้าที่ปกป้องพื้นที่และผลประโยชน์ของเจ้าของพื้นที่ ด้วยการหมั่นเตือนคนไร้บ้าน (อย่างก้าวร้าว) ว่า “ที่ตรงนี้ไม่ต้อนรับคุณ ชีวิตของคนไร้บ้านไม่เป็นที่ต้องการ  คนไร้บ้านไม่มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และต้องโดนรับมือแบบเดียวกับที่เราไล่นกพิราบ และสัตว์อื่น ๆ ที่กล้ารุกล้ำพื้นที่นี้” แนวคิดของสถาปัตยกรรมที่ไม่เป็นมิตรสอดคล้องกับอคติและภาพเหมารวมที่สังคมมีให้กับคนไร้บ้านอย่างแนบสนิท ทั้งสองต่างตั้งอยู่บนพื้นฐานของการปฏิเสธความเป็นมนุษย์ของคนไร้บ้าน และการปลดเปลื้องสิทธิในการใช้ชีวิตในเมืองไปจากคนไร้บ้าน 

ด้วยเหตุนี้ เราจึงมีพื้นที่ที่ถูกออกแบบให้ต่อต้านคนไร้บ้าน คู่ไปกับกฎหมายที่ถูกออกแบบให้ต่อต้านคนไร้บ้าน เรามีเจ้าของสถานที่ที่กำหนดว่าใครใช้พื้นที่สาธารณะได้ และสิทธิในการใช้พื้นที่นั้นถูกกวดขันโดยผู้บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดอีกที เรามีทัศนียภาพของเมืองที่ดูงดงาม และสิ่งนั้นแลกมากับการทำให้คนไร้บ้านไม่มีตัวตน โดยไม่สนว่าเขาก็เป็นคนเหมือนกับเรา สภาวะเช่นนี้ห่างไกลจากคำว่า “อหิงสา” หรือการไม่ใช้ความรุนแรงเบียดขับคนอื่นทีเดียว 

“ม้านั่งแคมเดน” (Camden bench) หรืออุปกรณ์ประกอบภูมิทัศน์และถนนที่ Camden London Borough Council ติดตั้งในเขตแคมเดน กรุงลอนดอน ม้านั่งแคมเดนถูกออกแบบมาเพื่อให้คนนั่งในระยะเวลาหนึ่งเท่านั้นเท่านั้น ไม่ใช่สำหรับการทอดตัวนอนหรือการพักผ่อนในอิริยาบทอื่น ๆ เป็นเวลานาน นักออกแบบตั้งใจเลือกใช้รูปทรงโค้งเว้าเพื่อกันไม่ให้คนไร้บ้านใช้งานม้านั่งเกินไปกว่านั้น เพราะสำหรับนักออกแบบ ภาวะไร้บ้านเป็นปัญหาที่สังคมไม่ควรอดทนยอมรับ การออกแบบเฟอร์นิเจอร์จึงไม่จำเป็นต้องรองรับการใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ

ขอบคุณภาพจาก: The Wub/Wikipedia

สถาปัตยกรรมที่ไม่เป็นมิตรคือตัวอย่างสำคัญของกายภาพแห่งความเหลื่อมล้ำ แต่มันไม่ใช่แค่ตัวอย่างเดียว โดยเฉพาะเมื่อเรายังมีเมืองทั้งเมืองเป็นอนุสรณ์ย้ำเตือนว่า การก่อสร้างและการใช้พื้นที่ในเมืองเกิดขึ้นได้เพราะคนชายขอบถูกขับไล่ออกไป ไม่ว่าจะผ่านการออกแบบเมืองที่ไม่เป็นมิตรกับคนที่ไร้อภิสิทธิ์ การปฏิบัติกับคนยากจนที่ใช้ชีวิตในที่สาธารณะดุจอาชญากร การผลักผู้อยู่อาศัยเดิมออกไปเพื่อรองรับคนหน้าใหม่ที่รวยทรัพย์กว่า พร้อมกับการเปลี่ยนโฉมย่านคนรายได้น้อย-ปานกลางให้เป็นอีกจุดแวะพักของคนรวย 

เมื่อเรามองเห็นสถาปัตยกรรมที่ไม่เป็นมิตร เรามองเห็น ‘อาการ’ หนึ่งของโรคร้ายเท่านั้น สถาปัตยกรรมที่ไม่เป็นมิตรอาจทำให้ความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้น แต่มันไม่ใช่ศัตรูเพียงหนึ่งเดียว และมันไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้คนกลายเป็นคนไร้บ้าน เราต้องไม่ลืมว่า คนกลายเป็นคนไร้บ้าน เพราะโครงสร้างสังคมที่เหลื่อมล้ำได้พรากความมั่นคง ศักดิ์ศรีในการเป็นมนุษย์ สิทธิที่จะใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนและมีความสุขไป ทำให้คนต้องประสบกับความทุกข์ทรมาน (ที่ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นแต่แรก) ของการใช้ชีวิต ความจำเป็นต้องอุทิศตนให้กับการเอาตัวรอด และความตายที่อาจมาถึงก่อนวัยอันควร การเอาลวดหนาม คานเหล็ก เก้าอี้รูปทรงประหลาดออกไปอาจจะเป็นการเริ่มต้นที่ดีและจำเป็นอย่างยิ่ง แต่ถ้าเราอยากยุติสภาวะไร้บ้าน เราต้องเปลี่ยนพิมพ์เขียวเมืองที่เอื้อให้ตึกสูงจากการกดคนให้ต่ำลง เป็นพิมพ์เขียวที่ตั้งอยู่บนฐานของความเท่าเทียมสำหรับทุกคน 

 แท่งเหล็กถูกติดตั้งไว้ริมขอบกระจกหน้าร้านแห่งหนึ่งในกรุงลอนดอน
ขอบคุณภาพจาก: Linda Nylind/the Guardian