“เอาวะ ขอลองดูอีกสักตั้ง!” ความพยายามครั้งที่ 100 ของคนไร้บ้าน LGBTQ+ ที่ขอมีงานและบ้านอีกครั้ง

.

“พ่อถามเราว่า จะกลับบ้านที่อุบลไหม เราบอกพ่อว่าไม่กลับ ตอนนั้นคิดในใจอย่างเดียวเลยว่า ‘เอาวะ ขอลองดูอีกสักตั้งแล้วกัน’ เราก็เลยอยู่ที่นี่คนเดียวมาตลอด”

หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่ส่งผลให้ชีวิตของหลายคนเปลี่ยนไป สำหรับ ‘เอ’ (นามสมุติ) มันอาจจะเป็นบททดสอบอีกด่านที่ทำให้เธอแข็งแกร่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นบททดสอบที่ทำให้เธอต้องกลายเป็น ‘คนไร้บ้าน’ เช่นเดียวกัน

ผอม สูง ผมยาวสลวย ข้างกายมีกระเป๋าใบเล็กสีสด นี่คือลักษณะของเอที่เราเห็น เธอคือ LGBTQ+ ที่เป็นคนไร้บ้านและอดีตเคยอยู่พื้นที่หัวลำโพง ถามว่าทำไมถึงลงเอยที่นี่ เธอคงบอกว่าเป็นเพราะต้องการหางานและหาเงิน ไม่เช่นนั้นเธอคงไม่จากบ้านที่อุบลราชธานีมาตั้งแต่อายุ 15 

เอใช้ชีวิต ‘กลางคืน’ มาตั้งแต่ที่จำความได้ หลังจากจบม.3 เมื่อปี 2544 เอ พ่อ และแม่ ก็โยกย้ายจากอุบลราชธานี มาเริ่มต้นเส้นทางเดินชีวิตใหม่ที่กรุงเทพฯ สิ่งที่ครอบครัวนี้ต้องการคืองานดีๆ ที่จะพอเลี้ยงชีพและประคับประคองครอบครัวต่อไปได้ ด้วยความที่มาจากภาคอีสานที่ขึ้นชื่อเรื่องด้านวัฒนธรรมอาหาร แม่ของเอทำงานร้านขายส้มตำตอนกลางคืน ส่วนพ่อก็เป็นคนขับแท็กซี่กะดึก และตัวของเอเองก็เริ่มทำอาชีพเป็นเด็กเสิร์ฟในร้านอาหารกลางคืน

“ตอนนั้นเราอายุ 15 ปี ทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟในร้านอาหาร เขาก็ไม่ค่อยสนใจเรื่องอายุเราเท่าไหร่ ตั้งแต่นั้นมาเราก็ยึดงานกลางคืนเป็นอาชีพหลัก เพราะเรารู้สึกชอบทำงานตอนกลางคืนมากกว่า เป็นงานที่สบาย หาเงินได้ด้วยนะ แต่ตอนนี้อะไรหลายอย่างมันเปลี่ยนไป เมื่อก่อนได้ทิปดีมาก ทำงาน 1 คืนได้ ทิป 700 – 800 บาทเลยก็มี”

ตั้งแต่เข้ากรุงเทพฯ เป็นต้นมา งานกะดึกเป็นสิ่งที่เอชื่นชอบ เนื่องจากเธอเป็นคนขี้ร้อน ประสบการณ์จากการเป็นพนักงานร้านกาแฟย่านสาทรที่ต้องตื่นตี 5 เข้างาน 6 โมงเช้า และเก็บร้านตอนบ่าย 2 ทำให้เอรู้สึกว่า เวลาตอนเช้ามันยาวนานเหลือเกิน แถมแสงแดดประเทศไทยที่ไม่เคยใจดีกับใคร เล่นเอาเอรู้สึกเหมือนตัวเองจะละลายให้ได้

งานเสิร์ฟอาหาร ชงเหล้า เป็นงานที่เอพอใจ แถมร้านที่เอเคยทำมาก็ไม่ได้เคร่งเรื่องการแต่งกายเท่าไหร่อีกด้วย เธอเล่าให้ฟังว่า มีร้านกลางคืนหลายร้านที่เคร่งครัดกับการแต่งตัวของพนักงาน เช่น โรงเบียร์ ที่ถึงจะได้เงินเยอะ ได้ประวัติการทำงานดีๆ แต่มันก็ยังไม่เหมาะกับวิถีคนรักสวยรักงาม ชอบแต่งหน้า เขียนคิ้วอย่างเธอ เพราะพนักงานโรงเบียร์ถ้าเป็น LGBTQ+ ก็ต้องตัดผมให้สั้น ต้องแต่งกายให้เหมือนผู้ชาย เอเล่าปนขำว่าเธอฝืนตัวเองไม่ไหว 

.

อ่านออก เขียนได้ และบัตรประชาชนใบเดียวเท่านั้นที่ทำให้เอได้ทำงานในร้านเหล้าแถวพระราม 3 ที่ทำอยู่ทุกวันนี้ แถมที่นี่มีทั้งอาหารให้เธอกินระหว่างทำงานช่วยลดค่าใช้จ่ายไปได้อีก การเป็นเด็กเสิร์ฟสำหรับเอ นอกจากจะได้เงินแล้วยังได้มิตรภาพดีๆ มาอีกด้วย ช่วงที่โควิด-19 ระบาดรอบแรกเมื่อปี 2563 ใครหลายคนอาจจะวิตกกังวลมาก แต่เอไม่รู้สึกกังวลมากเท่าไหร่ เพราะเธอยังพอมีเงินเก็บแถมมีคนสนับสนุนที่เธอมักจะเรียก ‘เจ๊’ ที่คอยซัพพอร์ตเธออยู่ไม่ห่าง

“เราทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟร้านอาหารของเจ๊ก่อนช่วงที่จะมีโควิด-19 อีก เขาเป็นคนที่โทรเรียกให้เราไปทำงานร้านเขาเลยนะ พอมีการแพร่ระบาดระลอกแรกมา เจ๊เขาไม่ทิ้งเราเลย เราโทรไปบอกเขาด้วยซ้ำว่า ตอนนั้นเราต้องการค่าที่พัก พอเจ๊ได้ยินแบบนี้เขาก็โอนเงินให้เลย จนมาโควิดระลอกที่ 2 – 3 เจ๊เขาก็ซัพพอร์ตทั้งร้านและเราไม่ไหวแล้ว”

โควิดรอบ 2 พาเอกลับมาใช้ชีวิตที่หัวลำโพงอีกครั้ง เดิมทีเจ๊จะจ่ายค่าจ้างและช่วยเหลือให้เธอมีอยู่มีกิน พอถึงจุดนี้ตัวเจ๊เองก็เริ่มพยุงร้านและพนักงานต่อไปไม่ไหว ทำให้เอต้องเดินหน้าต่อด้วยตัวเองในทางที่เธอสามารถทำได้ให้เร็วที่สุด โชคดีที่มีเพื่อนนอนอยู่หัวลำโพงด้วยกัน เธอจึงไม่กลัวมากเท่าไหร่ ท่ามกลางคนเป็นร้อย แต่ยังอุ่นใจที่มีเพื่อนอยู่ด้วยสัก 4 – 5 คน

“3 วันแรกนอนไม่หลับเลย เราก็ได้แต่คิดว่า ช่างมันเถอะ เราต้องอยู่ให้ได้ หันไปเจอเพื่อนทำให้เรากล้านอนที่นี่ต่อ ตรงที่เรานอนมีคนอยู่ด้วยประมาณ 30 คน รวมกับที่นอนโซนอื่นๆ ด้วยก็คงเป็นร้อย”

แน่นอนว่าการเป็นคนไร้บ้านมันก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น ไม่มีงานก็หมายความว่าไม่มีเงิน ในช่วงนั้นเอยังคงพยายามหางานอยู่เรื่อยๆ แต่เสื้อผ้าเก่า ทรงผมที่เริ่มรุงรัง และร่างกายที่ไม่ค่อยสะอาด เป็นอุปสรรคใหญ่ที่ทำให้คนไร้บ้านต้องพยายามกว่าคนอื่น ยิ่งถ้าหากผู้ว่าจ้างถามว่า ‘บ้านอยู่ไหน’ ยิ่งเป็นคำถามที่ทำให้เอชะงักไปครู่หนึ่ง เพราะผู้ว่าจ้างน้อยคนจะรับคนไร้บ้านเข้าทำงาน

“เราไม่มีที่อาบน้ำ ไม่มีที่ซักเสื้อผ้า เสื้อผ้าก็ไม่รู้จะไปเก็บที่ไหนเพราะไม่มีห้อง ห้องมันสำคัญมาก เพราะพอเรามีที่อยู่ปุ๊บ เราก็ขยับขยายมีงาน หางานได้เลย แต่ตอนที่ไม่มีห้องเราทำได้แค่งานฉาบฉวย พวกงานที่ 1 เดือนมี 2 – 3 ครั้ง”

“คงเพราะเราดูสกปรกละมั้ง ตอนนอนที่สาธารณะ เจ้าหน้าที่ถึงได้เอาน้ำผสมผงซักฟอกมาสาดเพื่อไล่เรา” เอตัดพ้อให้เราฟัง เธอและคนไร้บ้านอีกหลายคนก็อยากได้โอกาสที่จะหลุดไปจากวังวนนี้เหมือนกัน แต่ต้นทุนของพวกเธอไม่ได้มีเหมือนคนอื่นๆ ทำให้ ‘งานฉาบฉวย’ เป็นสิ่งที่ทุกคนพอทำได้และต้องแย่งกันทำ งานฉาบฉวยที่ว่าคือพวกงานรับต่อคิวซื้อของ เช่น รองเท้า กระเป๋า โมเดลตุ๊กตา ไปจนถึงนั่งรถไฟไปต่างจังหวัดเพื่อรับเช่าพระตามวัดดังหลายที่ บางครั้งถ้างานนั้นไม่สำเร็จพวกเขาก็ไม่ได้เงินเลยสักบาท

จนกระทั่งโอกาสหวนมาหาเออีกครั้งเมื่อมี ‘โครงการที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง’ โครงการสำหรับคนไร้บ้านและคนรายได้น้อยในเมือง ที่เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และภาคีเครือข่ายอื่นๆ โครงการดังกล่าวมีเพื่อให้พวกเขาสามารถมีที่อยู่อาศัยโดยให้เช่าห้องราคาถูก โดยผู้เช่าออกราคาห้องเช่าครึ่งหนึ่งและอีกครึ่งโครงการจะเป็นฝ่ายจ่ายให้ แถมเข้าอยู่ได้เลยไม่จำเป็นต้องจ่ายค่ามัดจำ ประจวบกับสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลายลง สถานประกอบการเริ่มฟื้นขึ้นมา เอไม่รีรอที่จะคว้าโอกาสนี้ไว้

“พี่น้องไร้บ้านก็คือคนธรรมดา เพียงแต่ว่าเมื่อก่อนเขาไม่มีโอกาส พอมีโอกาส เขาก็จะแสดงศักยภาพอื่นๆ ให้เห็นได้เลย แล้วถ้าบอกว่าคนไร้บ้านขี้เกียจนี่ไม่จริงนะ อย่างเราเคยตื่นตั้งแต่ตี 4 จากนั้นอาบน้ำออกไปทำงานกว่าจะได้กลับก็ 6 โมงเย็น หมดแรงเลย”

พอมีโอกาสแล้ว เอก็อยากจะพิสูจน์ศักยภาพตัวเองด้วยเหมือนกัน และเมื่อเธอทำได้ ความมั่นใจและความภูมิใจในตัวเองก็กลับมาอีกครั้ง ทำให้เอมีความฝันและเป้าหมายต่อไปในอนาคต นั่นก็คือการเปิดร้านอาหารตามสั่งตอนกลางคืนตามสไตล์สาวกลางคืนแบบที่เอถนัด

“เรามีความฝันอยากเปิดร้านอาหารตามสั่งตอนกลางคืน เพราะดึกๆ ไปไหนก็เจอแต่ร้านลาบ ร้านก๋วยเตี๋ยว 4 – 5 ทุ่มก็ปิดแล้ว ถ้ามีเงินก็อยากเปิดอยู่นะ แล้วเราจะเปิดดึกถึงเช้าโต้รุ่งไปเลย อาหารตามสั่งนี่เราถนัดเลย”

.

เราถามเอว่า ตอนนี้ความฝันเดินทางไปถึงไหนแล้ว เอตอบว่ายังไม่ได้ไปไหนไกลหรอก ตอนนี้เธอยังอยู่ในช่วงพิสูจน์ตัวเองว่าเธอจะเก็บเงินได้ตามเป้าหมายหรือไม่ แต่อย่างน้อยถ้ามีเป้าหมายมันก็ยังทำให้มีแรงใช้ชีวิตในแต่ละวัน ต้องขอบคุณบ้านและตัวเองที่ทำให้เธอสร้างเป้าหมายของตัวเองขึ้นมาได้ 

ส่วนความกังวลที่จะกลับไปไร้บ้านอีกครั้ง เธอยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่ามันก็มีอยู่ แต่มันไม่ได้ทำให้เอกลัวจนไม่กล้าขยับขยายไปไหน เพราะประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้รู้ว่า ตัวเองก็มีศักยภาพไม่แพ้คนอื่นๆ ถ้ามีวันที่เธอล้มและกลับไปเป็นคนไร้บ้านอีก เอเชื่อว่าเธอจะสามารถกลับมาได้เช่นกัน